ในเดือนธันวาคมใกล้สิ้นปีจะมีเทศกาลหนึ่งที่พวกเราคุ้นว่าเป็นวันเกิดของพระเยซู ศาสดาคนสำคัญของศาสนาคริสต์ ทว่าแท้จริงแล้วเทศกาลดังกล่าวเป็นการกลืนเอารากเหง้าของศาสนาเก่าแก่ของชาวยุโรปโบราณ นำเอาธรรมเนียมต่างๆ ปฏิบัติกันมายาวนานจนลืมไปแล้วว่า…นี่มันคือเทศกาล “ยูล”
“Yule” คือชื่อประเพณีฉลองส่งท้ายปีและต้อนรับปีใหม่ของชาวตะวันตก (เคลท์ : Celt) หนึ่งในเทศกาลที่เก่าแก่ที่สุดในโลก จัดขึ้นในช่วงวันที่กลางคืนยาวที่สุดเรียกว่าเหมายัน (อ่านว่า เห-มา-ยัน) หรือทักษิณายัน (Winter solstice) เป็นช่วงระยะเวลาที่พระอาทิตย์โคจรมาถึงจุดหยุดสุดทางตอนใต้ ส่งผลให้อีกซีกโลกทางตอนเหนือพบกับความหนาวเย็น มีเวลากลางวันที่สั้น ส่วนกลางคืนยาวมากที่สุด
วันเหมายันจะตรงกับระหว่างวันที่ 20-21 ธันวาคม ผันผวนกันไปตามการโคจรของแต่ละปี ช่วงเวลาคาบเกี่ยวตั้งแต่ 20-23 ธันวาคมจึงมีเทศกาลสำคัญอันเป็นวันที่ชาวเกาะอังกฤษฉลองกันตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ก่อนที่คริสตจักรจะมีการนำความเชื่อเกี่ยวกับเกิดของพระเยซูมาผนวกเข้าในวันที่ 25 ธันวาคมจนกลายเป็นเทศกาลของชาวคริสต์ไป
ด้วยความที่เวลานี้ตะวันตกดินเป็นช่วงเวลานานกว่าปกติ ทำให้กลางคืนยาวนานมาก หลายความเชื่อจึงมองว่าเวลาที่อาทิตย์ตกยาวนานคือช่วงของการเปลี่ยนผ่าน เป็นคาบมืดของปีที่สิ่งชั่วร้ายออกมาเร่ร่อนในโลกคนเป็น จึงต้องมีประเพณีก่อกองไฟเพื่อชำระล้างชุมชนเพื่อขับไล่โชคร้ายออกไป การฉลองยูล (Yule) ซึ่งจัดขึ้นช่วงเหมายันจึงเป็นเทศกาลสำคัญเช่นเดียวกับเทศกาลครีษมายัน (Summer solstice) อันเป็นเวลาที่กลางวันยาวกว่ากลางคืนช่วงฤดูใบไม้ผลิ และมีรูปแบบของพิธีกรรมคล้ายคลึงกับเทศกาลซาวอิน (Samhain) ที่จัดไปก่อนในปลายเดือนตุลาคม
ในหลายวัฒนธรรมโบราณทั่วโลกมักให้ความสำคัญกับพระอาทิตย์ ไปจนถึงขนาดมีพิธีบูชาดวงตะวัน ชาวยุโรปเหนือมองพระอาทิตย์เป็นดั่งกงล้อซึ่งหมุนเวียนเปลี่ยนฤดูกาล ทำให้เกิดเทศกาลต่างๆ ซึ่งมักสอดคล้องกับการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ที่เปลี่ยนแปลงจุดเคลื่อนไหวไปตามการโคจรของโลก ทำให้มีการแบ่งวันสำคัญตามความเชื่อได้เป็น 2 วันอายันและ 2 วันวิษุวัต

พิธีกรรมบูชาพระอาทิตย์มีความคล้ายคลึงกันในหมู่ความเชื่อของชาวอินโด-ยูโรเปี้ยน (Indo-European) ในศาสนาของชาวเคลติก (Celt) ในเกาะบริเตนเรียกชื่อเทพีแห่งตะวันว่า “ซูลลิส” (Sulis) เป็นรากคำเดียวกับพระสุริยะในสันสกฤต ส่วนในภาษาบริตานี (Brittany) กลุ่มภาษาเคลท์ซึ่งพูดกันในแคว้นบริตานีอันเป็นบ่อกำเนิดภาษาอังกฤษโบราณจะมีคำเรียกพระอาทิตย์ว่า houl ส่วนเวลช์โบราณออกเสียงว่า heul ทำให้นักภาษาศาสตร์มองว่าคำดังกล่าวนี้อาจเป็นรากศัพท์ของคำว่า Yule ซึ่งเป็นชื่อเทศกาลของชาวเคลติกก่อนการมาของศาสนาคริสต์นั่นเอง
ชาวเคลท์ริเริ่มธรรมเนียมการจุดกองไฟในช่วงยูล ด้วยเชื่อว่าพระอาทิตย์จะหยุดนิ่งปราศจากการเคลื่อนที่ราว 12 วันในช่วงกลางฤดูหนาว การจุดกองไฟในช่วงเวลาดังกล่าวคือการเอาชนะความมืด ขับไล่สิ่งชั่วร้าย และอำนวยความโชคดีในปีต่อมา ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในยุโรปตะวันตกมีประเพณีที่คล้ายคลึงกัน เช่นตามธรรมเนียมของชาวนอร์สจะจุดกองไฟ ล้อมวงนั่งบอกเล่าเรื่องต่างๆ ระหว่างที่ดื่มเอล (Ale)
ในไอร์แลนด์และแคว้นบริตานีช่วงปลายตุลาคมจะมี เทศกาลซาวอิน หรือฮาโลวีนในความเข้าใจของคนยุคปัจจุบัน ในเทศกาลนี้จะมีการจุดกองไฟในเตาให้ลุกโชนตลอดทั้งคืนเพื่อนำทางและให้ความอบอุ่นแก่ผู้วายชนม์ที่จะเดินทางกลับมารับประทานอาหารที่คนเป็นเตรียมเอาไว้ ทำนองคล้ายกับการเลี้ยงผีบรรพบุรุษแบบชาวซีกโลกตะวันออก
นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนฟืนไฟในบ้านที่กระทำขึ้นช่วงเทศกาลซาวอิน โดยการเปลี่ยนวัสดุเก่าในเตาและแทนที่ด้วยท่อนฟืนใหม่จากกองไฟศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้าน เป็นไปได้ว่าประเพณีการจุดไฟดังกล่าวอาจเป็นต้นแบบของการจุดไฟใส่ท่อนซุงในเทศกาลยูล (Yule log) ที่จะมีการนำเอาฟืนที่แบ่งจากกองไฟศักดิ์สิทธิ์ไปจุดตามเตาของบ้านต่างๆ เช่นกัน การเปลี่ยนไฟใหม่เป็นการชำระล้างเอาวิญญาณชั่วร้ายและสิ่งไม่ดีให้หนีไปจากอาคารบ้านพัก ธรรมเนียมนี้ยังถูกปฏิบัติสืบทอดมาในเทศกาลคริสต์มาสจนถึงปัจจุบัน

นักบวชดรูอิท (Druids) ของชาวเคลท์จะตัดเถามิสเซิลโท (Mistletoe) ที่เติบโตบนต้นโอ๊คมาประกอบพิธีกรรม ต้นโอ๊คเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของชาวเคลท์ ส่วนผลของต้นมิสเซิลโทคือสัญลักษณ์ของชีวิตที่ดำเนินไปท่ามกลางความมืดมิดของเดือนหนาว

ดังนั้นเมื่อถึงวันที่ 25 ธันวาคมที่พระอาทิตย์โคจรขึ้นบนขอบฟ้าทางทิศเหนืออีกครั้ง จึงเป็นสัญญาณให้มีการฉลองการกำเนิดใหม่ของดวงตะวันอันไม่อาจถูกพิชิต วันดังกล่าวยังเคยเป็นประเพณีเฉลิมฉลองให้กับเทพมิธรา (Mithra) หรือซอล (Sol) เทพพระอาทิตย์อันมีรากฐานมาจากเปอร์เซีย แต่ได้รับความนิยมในโรมันจนมีเทศกาลสำคัญดังกล่าว
ส่วนวันที่ 24 ธันวาคมที่คริสตชนเรียกคริสต์มาส อีฟ (Christmas eve) นั้น แต่เดิมเคยมีเทศกาลที่เรียกว่า Modranicht แปลว่า “Mothers’ Night” คืนของมารดร เป็นคืนที่เฉลิมฉลองให้กับเทพมารดร Matres หรือเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ตามความเชื่อของชาวเคลท์ และเกิดการกลืนเข้าเป็นคืนอีฟก่อนวันถือกำเนิดของพระเยซู เป็นคืนแห่งความศักดิ์สิทธิ์อีกหนึ่งวันที่จัดขึ้นเพื่อฉลองรอการประสูติ หากสังเกตดูจะพบความเชื่อมโยงว่า Modranicht ก็ดี Christmas eve ก็ดี ล้วนผูกพันกับความเป็นแม่ที่ให้กำเนิดไม่แตกต่างกัน
หลักฐานเก่าแก่ที่สุดที่มีการบันทึกถึงการฉลองวันคริสต์มาสในฐานะวันกำเนิดพระเยซูนั้น ย้อนไปไกลถึงช่วงวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ.336 ในกรุงโรม ในปฏิทินจูเลียน (Julian calendar) วันนี้จะตรงกับวันเหมายันแทนที่จะเป็นวันที่ 21 และด้วยพวกเทศกาลเหล่านี้มักฉลองให้กับพระอาทิตย์ การจะผูกตำนานของคริสต์ศาสนาให้เกิดใหม่ในวัฒนธรรมของชนดั้งเดิมจึงจำเป็นต้องอาศัยการตีความเปรียบเปรยฐานะของพระเยซูให้เป็นผู้รุ่งโรจน์เช่นเดียวกับตะวัน อีกทั้งหากมองว่าพระอาทิตย์นั้นมีเวลาที่ดับลงและเกิดใหม่เป็นประจำทุกปีทำให้การผนวกประเพณีเก่าให้เข้ากับบุคคลสำคัญที่กล่าวกันว่าเป็นผู้ที่ตายแล้วฟื้นคืนชีพจึงไม่ผิดหูผิดตาชาวบ้านเสียเท่าไร
นับจากนั้นเทศกาลคริสต์มาสจึงถือกำเนิดตามความหมายแบบที่ชาวโรมันคาธอลิกเข้าใจและปฏิบัติกันสืบเนื่องยาวนานกว่าพันปี แต่ในขณะที่ศาสนจักรนิกายอื่นๆ เช่น ออร์ธอด็อกซ์อาจจะถือวันเกิดของพระเยซูแตกต่างไป โดยไปตกที่ช่วงเข้าฤดูร้อนซึ่งจะมีความสอดคล้องกับข้อความในพระคัมภีร์เป็นหลัก
ชาวโรมันจะมีเทศกาลเฉลิมฉลองการเกิดใหม่ของปี โดยจะทำการฉลองให้เทพพระเสาร์ (Saturn) เป็นเทศกาลที่ชื่อว่า “เซเทิร์นนาเลีย” (Saturnalia) กินระยะเวลา 7 วัน โดยเริ่มจากวันที่ 17 ธันวาคม คนโรมันมีความเชื่อว่าในระยะเวลานี้กฎของธรรมชาติจะพลิกกลับไปจากปกติ ผู้ชายจึงแต่งกายด้วยเสื้อผ้าของสตรี เจ้านายแต่งกายด้วยเสื้อผ้าของทาส นอกจากนี้ยังมีการประดับอาคารบ้านเรือนด้วยพืชพันธุ์เขียวขจี จุดเทียน มีพิธีแห่แหน และมีธรรมเนียมการมอบของขวัญซึ่งกันและกัน

Featured Image : Assassin’s Creed Valhalla
References :
- “Christmas and its Cycle .” New Catholic Encyclopedia. Retrieved 13 December 2022, from Encyclopedia.com: https://www.encyclopedia.com/religion/encyclopedias-almanacs-transcripts-and-maps/christmas-and-its-cycle
- Duffield,C. What is Yule? Origins of winter festival explained, and how it influenced Christmas celebrations (December 25, 2020).Retrieved 13 December 2022, from https://inews.co.uk/light-relief/offbeat/yule-what-winter-festival-origins-explained-christmas-celebrations-806267
- Macbain, A. (2012). Celtic mythology and religion. Glastonbury: Lost Library.
- Macculloch, J. A.(2020).The Religion of the Ancient Celts.London: Global Grey.
- “Winter Solstice” (June 7, 2006). BBC. Retrieved 13 December 2022, from https://www.bbc.co.uk/religion/religions/paganism/holydays/wintersolstice.shtml
- Mark, J. J. (January 28,2018). Wheel of the Year. World History Encyclopedia. Retrieved 13 December 2022, from https://www.worldhistory.org/Wheel_of_the_Year/
- คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง.คริสต์มาส – คริสต์สมภพ? (4 มกราคม พ.ศ.2561).มติชนสุดสัปดาห์.Retrieved 13 December 2022, from https://www.matichonweekly.com/column/article_73812