เปิดหน้าเผยความลับ “โลงตะกั่ว” ที่พบใต้ซากวิหารนอเทรอดาม, ปารีส

หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้รุนแรงจนมหาวิหารโบราณที่สร้างตั้งแต่ยุคกลางต้องพังทลายลง ในการฟื้นฟูสภาพของโบสถ์เลื่องชื่อแห่งฝรั่งเศสนี้มีการค้นพบใหม่ของโลงศพปริศนา ทำจากโลหะตะกั่ว วันนี้ทีมวิจัยได้เปิดเผยโฉมหน้าของร่างในโลงทั้งสอง… ใช่! เจอ 2 โลง และร่างหนึ่งมีกะโหลกยาวกว่าปกติด้วย

อาสนวิหารน็อทร์-ดามแห่งปารีส หรือที่เราเรียกกันว่า “นอเทรอดาม” นั้นสร้างด้วยรูปแบบศิลปะกอธิค อายุ 850 ปี มีเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหายบ้าง แต่จากไฟไหม้เมื่อเมษายนปีค.ศ.2019 โครงสร้างทั้งหมดทนต่อความร้อนไม่ไหวและได้พังทลายลงท่ามกลางน้ำตาของคนทั้งโลก ในการดำเนินการซ่อมแซมส่วนต่างๆ ทีมนักโบราณคดีต้องขุดตรวจสำรวจพื้นที่ก่อนใช้เป็นฐานรับน้ำหนักนั่งร้านหรือโครงร่างหอคอยเพื่อเตรียมประกอบเครื่องหลังคาต่อไป ขั้นตอนดังกล่าวทำให้เกิดการค้นพบโบราณวัตถุยุคโบราณ ไปจนถึงโลงศพหล่อเป็นรูปทรงมนุษย์ (Anthropoid) ที่ทำขึ้นจากตะกั่ว จำนวน 2 โลง

Archaeologists excavate the floor of Notre Dame Cathedral. Photograph: Julien de Rosa/AFP/Getty Images

โลงตะกั่วทั้งสองพบอยู่บริเวณใจกลางของผังโบสถ์รูปกางเขน มีเศษฉากกางเขน (Rood screen) ยุคคริสต์ศตวรรษ 13 ซึ่งถูกรื้อออกทับถมลงบนพื้นโบสถ์ที่เสียหายในชั้นเก่ากว่าปัจจุบัน จุดดังกล่าวต้องขุดค้นเพื่อตรวจสอบร่องรอยของสิ่งปลูกสร้างเก่าหรือโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่อาจถูกฝังเอาไว้ ก่อนจะใช้เป็นจุดติดตั้งนั่งร้านขนาดใหญ่เพื่อใช้ดำเนินการติดยอดหลังคาทรงกรวยแหลม ฉากกางเขนของโบสถ์ฝรั่งเศสจะถูกรื้อถอนออกไปในช่วงปฏิรูปคาธอลิก (Catholic Reformation) ราวคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 แสดงให้เห็นว่่าโลงทั้งสองต้องมีอายุเก่ากว่ายุคนั้นๆ จึงจะมีซากของฉากปะปนอยู่เหนือโลงได้

ในตอนแรกมีการค้นพบโบราณวัตถุอื่นๆ ในระดับลึกจากพื้นโบสถ์ลงไปแค่ 20 ซม.เท่านั้น ทว่าโลงตะกั่วนี้อยู่ลึกลงไปอีกที่ราว 1 เมตร จากตำแหน่งและวัสดุที่ใช้สร้างโลงสันนิษฐานได้ว่าโครงร่างที่พบต้องเป็นของบุคคลสำคัญในอดีต ตะกั่วถือว่าเป็นวัสดุราคาแพง และตำแหน่งใจกลางของโบสถ์มักเป็นที่ฝังนักบุญหรือผู้บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ด้านศาสนา

Credit: DR UT3

หลังจากเคลื่อนย้ายโลงตะกั่วไปยังห้องแล็บปฏิบัติการในตูลูส (Toulouse) โลงศพที่สามารถระบุตัวตนได้เป็นคนแรกคืออ็องตวน เดอ ลา ปอร์ต (Antoine de la Porte) นักบวชแห่งอาสนวิหารนอเทรอดามที่เสียชีวิตเมื่อวันคริสต์มาสอีฟ 24 ธันวาคม 1710 ขณะอายุ 83 ปี ข้อมูลทั้งหมดได้จากแผ่นป้ายทองเหลืองที่ยังเหลือติดโลงอยู่ แผ่นทองเหลืองดังกล่าวมีร่องรอยของน้ำท่วมจากแม่น้ำแซนน์เมื่อปีค.ศ. 1910 และทำปฏิกิริยากับอากาศจนเกิดสนิมแต่ยังมองเห็นอักขระชัดเจน

แผ่นจารึกบนโลงศพหนึ่งซึ่งระบุชื่อของเจ้าของคือ Antoine de la Porte (Arkeonews, 2022)

นักบวชท่่านนี้เป็นผู้สนับสนุนรายสำคัญในการพัฒนาคณะร้องเพลงประสานเสียงตามพระบรมราชโองการของพระเจ้่าหลุยส์ที่ 13 น่าเสียดายที่สภาพร่างของเขาไม่ดีเท่ากับโครงในโลงตะกั่วที่เก่ากว่าอีกโลงที่ไม่มีป้ายหรือคำจารึกหลงเหลืออยู่ จากการสันนิษฐานเบื้องต้นโลงศพที่สองนี้อาจเก่าถึงช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 ตัวโลงหล่อเป็นทรงเข้ารูปกับร่างผู้ตาย มีความเสียหายเป็นโพรงตรงส่วนศีรษะทำให้มีช่องที่อากาศลอดเข้าไปทำลายสภาพโครงร่าง

ภาพการเปิดโลงศพที่ Toulouse forensic medicine laboratory. Credit: DR UT3

Eric Crubézy (เอรีค คูเบซี่) ศาสตราจารย์จากภาควิชามานุษยวิทยาชีวภาพ (Biological anthropology) University of Toulouse III ผู้ดำเนินการเปิดโลงได้ศึกษาโครงกระดูกพอระบุได้ว่าเป็นชายมีอายุประมาณ ระหว่าง 20-40 ปี น่าจะอยู่ในชนชั้นมั่งคั่ง จากกระดูกอุ้งเชิงกรานสะท้อนว่าเป็นนักขี่ม้าที่ชำนาญ ผ่านการขี่ม้าตั้งแต่ยังเด็ก ทำให้นักวิจัยตั้งชื่อเล่นให้ว่า Le Cavalier หรือแปลว่า “อัศวิน” แต่อัศวินคนนี้โชคร้ายต้องป่วยด้วยโรคเรื้อรัง นักวิทยาศาสตร์พบร่องรอยของอาการเจ็บป่วยต่อเนื่องที่เกิดขึ้นกับกระดูก ส่วนหนึ่งทำให้เขาเสียฟันไปเกือบทั้งหมด ที่น่าสนใจคือกะโหลกศีรษะของเขาถูกดัดให้ยาวขึ้น (Elongated skull) ซึ่งต้องทำขึ้นตั้งแต่ในระยะ 3 เดือนแรกหลังเกิดเพื่อเปลี่ยนทรงของกะโหลก อาจเป็นการใช้ผ้าพันให้แน่นหรือตรึงขนาบด้วยแผ่นไม้

Credit: DR UT3

อัศวินไร้นามถูกฝังลงโดยมีมาลัยดอกไม้ เศษของผ้ากับส่วนประกอบอินทรีย์จากพืชซึ่งพบอยู่ในโลงบ่งบอกว่าร่างของเขามีการดองศพ เป็นพิธีปลงศพที่พบไม่บ่อยนักในยุคกลางคริสตอฟ เบสเนียร์ (Christophe Besnier) หัวหน้าทีมขุดค้นจากองค์กรโบราณคดีแห่งชาติฝรั่งเศสกล่าวว่าหากอัศวินหนุ่มตายในช่วงประมาณปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 จนถึงต้น 17 รายชื่อของเขาน่าจะมีการเก็บรวบรวมไว้ในสารบบที่ทางองค์กรฯ มีอยู่ แต่หากเสียชีวิตก่อนหน้านั้นคงยากที่จะบอกได้ว่าเขาเป็นใคร

ส่วนอองตวน เดอ ลา พอร์ตนั้นมีสุขภาพที่แข็งแรงกว่า ฟันของนักบวชได้รับการดูแลอย่างดี อาจเนื่องมาจากเดอ ลา พอร์ตเป็นนักบวชผู้มีอันจะกิน เขาร่ำรวยและทรงอิทธิพลในยุคของตน ทั้งยังเป็นผู้อุปถัมภ์งานศิลปะหลายชิ้นที่ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟว์ร (Louvre) รวมถึงภาพ The Mass of Canon Antoine de la Porte (พิธีมิสซาของอองตวน เดอ ลา พอร์ต) ของ Jean Jouvenet ด้วย


The Mass of Canon Antoine de la Porte ของ Jean Jouvenet © 2012 RMN-Grand Palais (musée du Louvre) / Michel Urtado

References :

ใส่ความเห็น

Please log in using one of these methods to post your comment:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.