เทพีผู้ให้เสียงหัวเราะด้วย “จิ๋ม”

#เรื่องจิ๋มของโบราณคดี วันนี้ขอนำเสนอเรื่องของ Baubo เทพแห่งเสียงหัวเราะและความสนุกสนานในตำนานกรีก ผู้มีรูปลักษณ์พิศดารเหลือเกินในสายตาของคนยุคปัจจุบัน เพราะเธอมาเพื่อ “อ้าขาโชว์จิ๋ม” ให้เราดู

เป็นเทพีองค์หนึ่งซึ่งมีคนพูดถึงน้อยชนิดที่เอ่ยชื่อไปว่า “เบาโบ” (Baubo) ก็คงยังต้องขมวดคิ้วว่าเทพอะไรชื่อตลกจัง ก็สมกับพลังวิเศษของเธอดี เพราะเธอเป็นเทพีแห่งเสียงหัวเราะกับเรื่องขบขันในตำนานของกรีก-โรมัน และอาจเป็นที่อียิปต์ด้วย ภาพลักษณ์ของเธอที่ปรากฏในงานศิลปะเป็นอะไรที่น่าจดจำเหลือเกิน เพราะมักจะเป็นรูปปั้นสตรีกำลังโชว์อวัยวะเพศหญิง บางทีก็เป็นท่อนล่างที่ตรงท้องน้อยมีหน้าคนอยู่

รูปปั้นดินเผาเทพีเบาโบยุคโรมันอียิปต์ ราว 1st century B.C. – 1st century A.D.
(Image : Christoph Bacher Archäologie Ancient Art)

ทำไมเทพ Baubo ถึงต้องปรากฏตัวในงานศิลปะแบบนี้ แล้วไปข้องเกี่ยวกับการเป็นเทพแห่งเสียงหัวเราะสนุกนานได้อย่างไร คงเป็นเพราะการที่เธอเป็นเทพที่ช่วยให้เทพดีมิเทอร์ (Demeter)เทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์คลายความเศร้า

Baubo เป็นเทพสตรีของกรีกโบราณ ตำนานของเธอมาจากเพลงสวดโฮเมอร์ (Homeric Hymn) ซึ่งสันนิษฐานว่าเขียนขึ้นช่วง 700 ปีก่อนคริสตกาล เป็นชุดเพลงสวด (Hymn) ที่ไม่ได้มีการระบุว่าเป็นงานของโฮเมอร์ ทว่ามีลักษณะของความเป็นกลอนมหากาพย์อย่างเดียวกัน

Terracotta figurine pendant
เครื่องรางดินเผารูปสตรีที่คาดว่าเป็นเบาโบ ,เอเธนส์ , อายุราว 2nd-1st ก่อนคริสตกาล
(Image : Patricia Hatcher on Flickr)

ในบทเพลงสวดสรรเสริญดีมิเทอร์ (Homeric Hymn to Demeter) กล่าวถึงความโศกเศร้าของเทพีดีมิเทอร์หลังจากที่ที่เพอร์เซโฟเน่ (Persephone) ถูกลักพาตัวลงไปในยมโลกด้วยฝีมือของเฮดีส (Hades) ดีมิเทอร์เสียใจอย่างมากที่ต้องเสียลูก เธอได้กลายร่างเป็นหญิงชราแล้วหลบไปอาศัยบ้านผู้มั่งคั่งในเมืองอิลูซิด (Eleusis)

ดีมิเทอร์ซึ่งเป็นเทพแห่งการเก็บเกี่ยว ความอุดมสมบูรณ์ และกสิกรรมเมื่อเกิดอาการเศร้าก็ส่งผลทำให้พืชผลและฤดูกาลบนโลกมนุษย์เกิดไม่งอกงามและเต็มไปด้วยความยากลำบาก ไม่มีใครทำให้ดิมิเทอร์ดีขึ้นได้ ดังคำบรรยายต่อไปว่า

“นางนั่งเงียบสงบจมอยู่ในความเศร้าบนตั่ง ไม่ตอบสนองผ่านทางวาจาหรือการเคลื่อนไหว ไม่แย้มยิ้ม ไม่ลิ้มรสอาหารหรือเครื่องดื่มใดๆ เธอทรุดกายอย่างเปล่าดายด้วยหมายคำนึงถึงบุตรสาว”

จนกระทั่ง “อียัมวี” (Iambe) ได้เข้ามาหยอกล้อเล่นตลกกับดิมีเทอร์พระแม่เธอถึงยิ้มกับหัวเราะได้ในที่สุด เธอเริ่มรับเครื่องดื่มและอาหารหลังจากที่ตรอมใจมานาน ส่วนสิ่งแรกที่ดีมิเทอร์ดื่มเป็นครั้งแรกหลังกลับมาจากหลุมของความโศกคือ “คิคคีออน” (Kykeôn) เครื่องดื่มโบราณชนิดหนึ่งของกรีก

ถึงแม้จะมีตัวละคร มีบริบท แต่ในเนื้อหาของเพลงสวดไม่ได้กล่าวว่ามุกหรือการเล่นตลกแบบใดที่ทำให้ดีมิเทอร์กลับมามีความสุขได้ นักวิชาการสันนิษฐานว่าคำอิยัมวีเองอาจจะถูกนำมาใช้เป็นรากคำของกวีกรีกประเภทหนึ่งที่มีเนื้อหาหยาบโลนสัปดนเรียกว่า “อิอัมบุส” (Iambus) ไม่ก็เป็นชื่อของนางเองที่ยืมมาจากกวี

หลายคนคงเริ่มสงสัยแล้วว่าอียัมวีเกี่ยวอะไรกับเบาโบ เรื่องนี้นักปรัชญาเอมเพโดคลีส (Empedocles : 490–430 BC ) เป็นผู้เสนอว่าเทพทั้งสองคือองค์เดียวกัน อียัมวีคืออีกชื่อของเทพีเบาโบ ผู้เป็นเทพบริวารของดีมิเทอร์ นางอาจเป็นลูกของแพน (Pan) กับนางเอคโค่ (Echo) การเล่าตำนานของดีมิเทอร์กับเบาโบเองก็มีข้อแตกต่างกันไปตามนักประพันธ์ แก่นโครงเรื่องยังคงโฟกัสไปที่การคลายความเศร้าของดีมิเทอร์ที่มีแต่เบาโบทำสำเร็จ

Amulet of Baubo
Amulet of Baubo Egypt and Ancient Near East Galleries
Michael C. Carlos Museum, Atlanta, Georgia, USA. (Gary Todd via Flickr)

บางตำนวนมีการระบุว่าวิธีการที่เบาโบทำสำเร็จคือการ
“เลิกชายอาภรณ์ขึ้นและเผยส่วนที่น่าอับอายออกมา”

ไม่มีใครรู้แน่ว่าดีมิเทอร์เห็นอะไรใต้กระโปรงนั้น มีตำนานออกมามากมายตั้งแต่ Baubo โชว์ระบำใต้สะดือ ไปจนถึงว่าตรงที่ควรมีแค่หน้าท้องกลับมีใบหน้าอยู่ตรงนั้น นับแต่นั้นเมื่อมีการสร้างรูปของเทพี Baubo จึงนิยมสร้างเป็นรูปปั้นสตรีที่โชว์อวดเครื่องเพศกันตามขนบธรรมเนียมปรากฏในตำนานแบบนี้นั่นเอง

ไม่ว่าใต้ร่มผ้านั้นจะมีอะไรซ่อนอยู่กันแน่ แต่ก็ต้องขอบคุณเทพี Baubo ที่ทำให้โลกมนุษย์ไม่ต้องแร้นแค้นกันจนตาย อย่างน้อยก็ยังเหลือฤดูเก็บเกี่ยวและช่วงเวลาซึ่งพืชผลไม่เจริญมนุษย์ก็ยังพออยู่กันได้ด้วยเสียงหัวเราะนั่นเอง

Baubo votives
Votive offerings from the sanctuary of Demeter in Priene. (Image : Evelyn Aschenbrenner on Flickr)

ปะติมากรรมรูปเคารพของเทพีเบาโบมักปรากฏอยู่ในลักษณะคล้ายคลึง แต่จำแนกได้เป็น 5 รูปแบบ คือ

  •  รูปสตรีอวบซึ่งกำลังแยกขาออกแสดงให้เห็นอวัยวะเพศส่วนปากช่องคลอด
  • รูปปั้นสตรีเปลื่อยเปล่าแยกขาออกโดยถือฮาร์พ (Harp) ประกอบอยู่ในพื้นที่ฉากหลัง
  • รูปปั้นร่างสตรีไม่มีศีรษะ โดยมีเพียงตั้งแต่ครึ่งตัวล่างลงไปและปรากฏรูปใบหน้าบริเวณท้องน้อย ส่วนคางกลายเป็นอวัยวะเพศหญิงบริเวณปากช่องคลอด
  • รูปสตรีกำลังนั่งอยู่โดยมีรูปอวัยเพศหญิงส่วนปากช่องคลอดขยายใหญ่ออกเต็มพื้นที่หว่างขา (ใหญ่จังงงง)
  • รูปปั้นสตรีนั่งยองโดยมีมือทั้งสองคว้าจับลงไปบริเวณอวัยวะเพศ

ตำนานเลื่องชื่อของดีมิเทอร์กับเบาโบผูกผันเป็นส่วนหนึ่งของ รหัสยลัทธิแห่งอิลูซิด (Eleusinian Mysteries) หรือเรียกอย่างง่ายว่า “หลักคำสอนที่ลึกลับ” ลัทธิความเชื่อดังกล่าวกำเนิดและมีพิธีกรรมปฏิบัติกันในเมืองอิลูซิดตั้งแต่ราว 1,450 ปีก่อนคริสตกาล โดยปฏิบัติกันมายาวนานจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 5 จึงถูกกวาดล้างจนสิ้น

Figurine of a vulva-woman known as Baubo, terracotta, Priene, Asia Minor, 4th century AD.

หากจะมองถึงพัฒนาการของแนวคิดเรื่องเพศในฐานะลัทธิความเชื่อในการบูชาความอุดมสมบูรณ์ อาจจัดได้ว่าเรื่องของทั้ง Baubo และ Demeter มีการพัฒนามาจากรากของแนวคิดมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ยุคหินใหม่ที่มีร่องรอยการบูชาเครื่องเพศมาก่อนแล้ว และวิวัฒนาการมาในยุคประวัติศาสตร์ด้วยยังถือแนวคิดอันคล้ายคลึงกันอยู่นั่นเอง

References :

ใส่ความเห็น

Please log in using one of these methods to post your comment:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.