รู้จักกับ “ไคดัน (Kaidan)” ตำนานผีญี่ปุ่น

คอหนังผีน่าจะคุ้นเคยกับเรื่องราวบางอย่างเกี่ยวกับความเฮี้ยนของผีแบบชาวอาทิตย์อุทัยกันไปแล้ว คราวนี้ ArchaeoGO เลยพามารู้จักกับหนึ่งในรูปแบบของชุมนุมเรื่องผีผี ฉบับคนญี่ปุ่นหรือไคดัน (怪談/Kaidan/Kwaidan) รวมเรื่องผีเก่าแก่ของคนญี่ปุ่นค่ะ

คำว่า “ไคดัน” [怪談] เกิดจากการผสมคำสองคำ คำแรกหมายถึงเรื่องลี้ลับ ส่วนคำหลังหมายถึงเรื่องเล่า แปลสรุปง่ายๆ คือเรื่องเล่าเกี่ยวกับสิ่งลี้ลับ โดยประชุมเรื่องผีนี้มีการรวบรวมครั้งแรกในสมัยเอโดะ เป็นการรวมตำนานเรื่องเล่าเก่าแก่ต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่ามีบรรยากาศขมุกขมัว อบอวลไปด้วยความเร้นลับเก่าแก่ชวนขนหัวลุกเบาๆ

ความแพร่หลายของประชุมเรื่องผี ส่วนหนึ่งเกิดจากความนิยมและความแพร่หลายของงานวรรณกรรมแขนงต่างๆ สมัยเอโดะ ซึ่งจัดเป็นยุคเทียบเคียงกับเรอเนสซองของฝรั่งหรือยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ มีความเจริญทางด้านศิลปะกับวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก มีความนิยมในการผลิตงานสิ่งพิมพ์ ทำให้มีการรื้องานเรื่องเล่าจัดรวมเป็นรูปเล่มตีพิมพ์ขึ้นมาด้วย อีกทั้งความนิยมจากการละเล่นเล่าเรื่องผีของเด็กๆ หรือคนทั่วไป ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยแพร่ขยายความนิยมในการทำซ้ำงานวรรณกรรมผีผีแบบนี้ด้วย

ต่อมาคำนี้กลายเป็นคำทั่วๆ ไปที่คนทั่วโลกเข้าใจเรียกวรรณกรรมแนวผีญี่ปุ่น ซึ่งไม่ได้เฉพาะเจาะจงหมายถึงวรรณกรรมในสมัยเอโดะ แต่รวมถึงวรรณกรรมสมัยหลังด้วย ซึ่งจุดเด่นของการเขียนวรรณกรรมไคดัน คือการสร้างบรรยากาศย้อนยุคดูเก่าแก่มีมนต์ขลัง

หลักการเล่าเรื่อง หรือการดำเนินพล็อตโดยทั่วไป นอกจากจะเป็นการเล่าเรื่องราวย้อนยุคแล้ว ยังมักผูกติดอยู่กับเรื่องของกฎแห่งกรรม การทำบาป และการนำไปสู่การไถ่บาป หรือชดใช้กรรม รวมถึงเรื่องราวของความรัก และความแค้น โดยมักจะกล่าวถึงตัวเอกที่มีความรัก หรือมีความแค้นต่อสิ่งที่ยึดติดต่างๆ เช่น การถูกช่วงชิงของรัก หรือการหักหลังทรยศกัน เช่น เรื่องฟูริโซเดะ ซึ่งเกี่ยวกับกิโมโนผีสิงที่จะตามล้างแค้นโดยการฆ่าทุกคนที่สวมใส่มัน เป็นต้น

ผลงานสไตล์ไคดันที่ทำให้คนตะวันตกรู้จักความหลอนแบบญี่ปุ่น คืองานเขียน “ไคดัน และเรื่องเล่าตำนานอื่นๆ” โดยแล็ฟคาดิโอ เฮิร์น (Lafcadio Hearn)  ชายเชื้อชาติไอริชที่เข้ามาใช้ชีวิตในญี่ปุ่น เขาได้ทำการรวบรวมเรื่องเล่าผีผี และตำนานพื้นบ้านเกี่ยวกับสิ่งลี้ลับของคนญี่ปุ่น และนำมาเขียนเป็นหนังสือเล่มนี้ขึ้น โดยผลงานไคดันของเฮิร์น มีการแปลเป็นฉบับภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์ผีเสื้อ และใช้ชื่อว่า “เรื่องผีผี” นอกจากเล่มนี้แล้วก็ยังมีงานเขียนแนวเดียวกัน แปลชื่อไทยได้ว่า “ผีญี่ปุ่น” เข้าชุดกันอีกเล่ม

เรื่องผีผี โดย แล็ฟคาอิโอ เฮิร์น


แปลโดย ปาริฉัตร เสมอแข / ผุสดี นาวาวิจิต
สำนักพิมพ์ผีเสื้อ

ผีญี่ปุ่น โดย แล็ฟคาอิโอ เฮิร์น


แปลโดย ปาริฉัตร เสมอแข
สำนักพิมพ์ผีเสื้อ

หากใครอยากอ่านไคดัน หรือเรื่องผีผีฉบับญี่ปุ่น จะลองไปหามาอ่านสักเล่ม หรือทั้งสองเล่ม ก็คงจะสร้างความหลอนแบบขลังๆ ได้ไม่น้อยทีเดียว


Featured Image : Utagawa Kuniyoshi’s “A Huge Skeleton Attacking Oya Taro Mitsukuni” (1844-47) FUKUOKA CITY | MUSEUM via The Japan Times

Advertisement

ใส่ความเห็น

Please log in using one of these methods to post your comment:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.