แฟนมังงะหรืออนิเมะญี่ปุ่นน่าจะเคยเห็นภาพของการสาปแช่งด้วยการสวมขาตั้งเหล็กปักเทียนที่กำลังลุกไหม้ มือบรรจงตอกหุ่นฟางให้ติดกับต้นไม้ด้วยตะปูท่ามกลางความมืดมิด พิธีกรรมเช่นนี้เป็นความเชื่อที่เก่าแก่และยังคงถือกันจนถึงปัจจุบัน เรียกว่า “การเยือนศาลเจ้ายามฉลู” หากท่านมีความแค้น นี่คืออีกวิธีช่วยชำระ วิธีทำเป็นอย่างไรมาศึกษาดู!
“อุชิ โนะ โคคุ ไมริ” [丑の刻参り] หรือ “อุชิ โนะ โทคิ ไมริ” [丑の時参] แปลตรงตัวว่า “การไปเยือนเวลาฉลู” โดยสัมพันธ์กับการไปเยือนศาลเจ้ายามวิกาล เวลาฉลูตามการนับแบบโบราณหมายถึงช่วงเวลาระหว่างตี 1-3 (01.00-03.00 น.) หากมันเป็นเรื่องสามัญก็คงจะดูแปลกเมื่อคนเราจะไปสักการะเทพกลางดึก แต่นี่คือการไปเยือนเพื่อประกอบพิธีกรรมด้านมืดอย่างการสาปแช่ง ย่อมต้องอาศัยการดูฤกษ์ยามเป็นพิเศษ และเวลาฉลูนี้มีนัยยะทางความเชื่อบางประการที่ส่งผลให้คำขอนั้นศักดิ์สิทธิ์ขึ้น เรื่องความเชื่อดังกล่าวต้องย้อนกลับไปไกลในยุคโบราณ
ว่ากันว่าหลักฐานของการประกอบพิธีสาปแช่งนี้เก่าแก่ไปถึงยุคโคะฟุน ราวคริสต์ศตวรรษที่ 8 ในพื้นที่แถบนารา [奈良] มีการพบตุ๊กตาแกะจากแผ่นไม้ โดยพบตะปูตอกอยู่บริเวณอก นอกจากนี้ยังพบที่จังหวัดชิมาเนะ [島根県] ในลักษณะของตุ๊กตาไม้ตกแต่งทาสีเป็นสตรีชั้นสูง มีรอยตอกด้วยลิ่มไม้ทะลุร่าง สองกรณีนี้อาจตีความได้ว่าเป็นการค้นพบหลักฐานพยานวัตถุยุคแรกๆ ที่มีนัยความเชื่อเกี่ยวกับการสาปแช่ง แต่ยังไม่ปรากฏรูปแบบชัดเจนมากพอจะสรุปได้ว่าเป็นพิธีกรรมในลักษณะเดียวกับยุคหลัง

กว่าพิธีนี้จะเริ่มมีแบบแผนปรากฏก็ตอนที่ลัทธิองเมียวโด [陰陽道] เจริญงอกงามในสังคมญี่ปุ่น คือช่วงสมัยเฮอัน (ค.ศ. 794 – 1192) โดยปรากฏเรื่องราวของฮาชิฮิเมะ หญิงที่แค้นคนรักมากจนยอมทำพิธีสาปแช่งขอพรจากศาลเจ้าคิฟุเนะเพื่อให้ตนกลายเป็นโอนิ [鬼] ตำนานดังกล่าวถูกบันทึกไว้ในตำนานเฮเคะ [平家物語] กับรวมบทกวีโคคิน วะกาชู [古今和歌集] เรียกว่าอาจเป็นหลักฐานเก่าแก่ที่สุดที่ระบุรูปแบบพิธีกรรมเอาไว้ ด้วยความเชื่อที่ว่าเทพแห่งศาลเจ้าคิฟุเนะจะเสด็จลงมาในปีฉลู เดือนฉลู วันฉลุ และแน่นอน… ในยามฉลู ทำให้พิธีกรรมนี้ปฏิบัติกันตามเวลานั้น เมื่อความเชื่อนี้แพร่กระจายไปในภูมิภาคอื่น เวลาฉลูจึงยังเป็นช่วงยามที่ยึดถือกันตามต้นตำหรับจากเกียวโตนั่นเอง

Photo : The French Academic Network for Asian Studies
ยามฉลูนั้นคนญี่ปุ่นมองว่าเป็นยามผีออก ช่วงนี้ทั้งภูตผีปีศาจและสิ่งเหนือธรรมชาติจะออกมาหลอกหลอน จึงเหมาะจะประกอบพิธีสาปแช่งเป็นที่สุด เวลาที่เฮี้ยนสุดคงไม่พ้นยามฉลูคาบที่ 3 หรือประมาณช่วง 02.00 – 02.30 น. เพราะเป็นยามใกล้เข้ายามขาล ตามความเชื่อเรื่องทิศในหลักโหราศาสตร์ประตูผีของญี่ปุ่นตั้งอยู่ตรงทิศฉลูขาล คือทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีอะไรขลังเท่ากับการเลือกโมงยามในเวลาที่ประตูผีเปิดให้ผีสางอาละวาดได้อีกเล่า
ยุคมุโรมาจิ (ค.ศ. 1337 – 1573) เกิดการนำโครงเรื่องของฮาชิฮิเมะหลอมรวมกับพิธีกรรมองเมียว กลายเป็นละครโนห์เรื่องคานาวะ [鉄輪] สร้างภาพจำในรูปแบบของการทำอุชิ โนะ โคคุ ไมริที่นิยมทำสืบต่อกันมา การไปเยือนศาลเจ้ายามฉลูยังถูกผลิตซ้ำในงานศิลปะยุคเอโดะตลอดจนถูกหยิบยกมาเล่าใหม่ในสื่อต่างๆ จนเป็นวัฒนธรรมฝังแน่นในสังคมญี่ปุ่น
ความเชื่อชินโตนั้นมองว่าต้นไม้บางต้นเป็นที่สถิตย์ของเทพเจ้า เรียกว่าชินโบคุ [神木] ภายในศาลเจ้าบางแห่งจึงมีต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของตนเอง ต้นไม้เหล่านี้คือจุดสำหรับประกอบพิธีสาปแช่ง บางแห่งยังปรากฏรอยแค้นของความพยาบาทตั้งแต่ยุคอดีต สถานที่มีชื่อในด้านนี้ได้แก่ ศาลเจ้าคิฟุเนะ [貴船神社] เมืองเกียวโต ซึ่งมีตำนานเก่าแก่เกี่ยวกับพิธีกรรมมากที่สุด, ศาลเล็กๆ ใกล้กับวัดคิโยมิสุ [清水寺] เมืองเกียวโต ชื่อว่าศาลจิชู [地主神社] และศาลเจ้าอิคุเระ [育霊神社] เมืองนิอิมิ [新見市] โอกายามะ [岡山県] เป็นต้น

อุปกรณ์สำหรับประกอบพิธีสาปแช่ง
- กิโมโนและโอบิสีขาวล้วน
- วาระนิงเงียว [藁人形] ตุ๊กตาทำจากฟางเป็นรูปคน
- เศษผม เล็บ หรือเลือดของคนที่เราจะสาป หากไม่มีอาจเป็นรูปหรือชื่อแทนก็ได้
- ค้อนและตะปูยาว 5 ซุน [五寸釘]
- ขาตั้งหม้อเหล็กสามขา
- เทียนหรือไต้สำหรับปักบนขาตั้ง
การแต่งกาย
การแต่งกายสำหรับทำพิธีอาจมีข้อแตกต่างกันในแต่ละสมัย เช่นในยุคเฮอันระบุว่าทำการทาหน้าและตัวด้วยสีแดงชาด แต่ภายหลังนิยมทาสีขาวมากกว่า อย่างไรก็ตามให้คำนึงว่าเป็นการทำตัวให้กลมกลืนกับภูตผีปีศาจ ส่วนลักษณะเครื่องแต่งกายที่เห็นกันบ่อยมาจากแบบฉบับของยุคเอโดะ โดยจะประกอบด้วยสิ่งเหล่านี้

- กิโมโนและโอบิสีขาวล้วน มีสายคาดเอวยาวผูกปลายด้านหนึ่งไว้กับเอว อีกด้านปล่อยทิ้งไว้ให้ยาวโบกสะบัดยามวิ่งไปในยามราตรีเพื่อไปยังจุดทำพิธี
- หากผู้ทำพิธีเป็นหญิง ให้ปล่อยผมยาวสยายรุงรังเพื่อให้คล้ายกับภูตผีกระเซอะกระเซิง
- นำขาตั้งหม้อเหล็กสามขามาสวมให้ปลายขาพลิกขึ้นด้านบน ที่ขาแต่ละข้างปักเทียนหรือไต้ จุดไฟให้โชติช่วงตลอดทุกเล่ม
- กระจกถือเป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์อย่างหนึ่งในศาสนาชินโต ให้นำกระจกทรงกลมเล็กนำมาแขวนห้อยคอให้อยู่ตรงระดับอก
- เหน็บมีดสั้นไว้ที่ผ้าคาดเอว มีดจะมีประโยชน์ไว้ใช้ปิดปากคนที่มาเห็นเราระหว่างทำพิธี
- สวมรองเท้าเกี๊ยะเกตะ [下駄] ที่มีพื้นขาหรือฮะ (歯) ซี่เดียวโดยไม่ต้องสวมถุงเท้า ฮะนี้ไม่มีกำหนดตายตัวว่าต้องสูงแค่ไหน แต่คนสวมต้องคำนึงว่าจะต้องสวมเพื่อใช้วิ่ง หมายความว่าถ้าสูงมากก็ย่อมเดินยากเป็นธรรมดา หากไม่ไหวจริงๆ ก็เลือกใช้เท้าเปล่าได้
- ต้องมีหวีไม้เล็กๆ ที่เรียกว่าคุชิ [櫛] สำหรับใช้คาบในปาก ระหว่างเดินหรือวิ่งมาจนถึงระหว่างทำพิธีต้องกัดหวีเอาไว้ให้มั่น หวีนี้เป็นกุศโลบายช่วยรักษาความเงียบและสมาธิ บางตำราก็ว่าใช้มีดโกนแทนก็มี
การประกอบพิธีกรรม
- แต่งกายให้เรียบร้อยและเดินทางมายังจุดทำพิธีให้เงียบที่สุด วิ่งโดยที่ปลายผ้าคาดเอวลอยไม่สัมผัสพื้น เพราะหากผ้าแตะพื้นก่อนถึงต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ออาจส่งผลต่อความขลังของพิธี
- ตอกตะปูทะลุหุ่นฟางให้ยึดเข้ากับต้นไม้ เพื่อผลที่ดีควรมีเศษผม เล็บ หรือใช้เป็นรูปของคนที่เราสาปแช่งติดไปกับหุ่นด้วย
- ไม่มีคาถาหรือบทสวดอะไรที่ต้องยึดถือ เน้นไปที่ความแค้นล้วนๆ แล้วสาปแช่งอีกฝ่ายไปในขณะที่ตอกตะปูลงไป ต้องการให้คนที่โดนสาปเป็นอย่างไรก็ตั้งจิตเอาอย่างนั้น
- ระหว่างพิธีห้ามมีผู้พบเห็นโดยเด็ดขาด คำสาปจะไม่ได้ผลและอาจย้อนเข้าหาตัว แต่ถ้าฆ่าคนที่มาเห็นได้จะถือว่าไม่เป็นผล มีดสั้นมีไว้เพื่อการนี้
- พิธีสาปแช่งต้องกระทำติดต่อกัน 7 คืน ห้ามขาด หากทำครบ 7 ครั้งภายใต้เงื่อนไขจะถือว่าพิธีกรรมสำเร็จ คนที่โดนสาปจะประสบเคราะห์กรรมภายใน 7 วัน


References :
- Davisson,Z.(January 3, 2013).Ushi no Koku Mairi – Shrine Visit at the Hour of the Ox.百物語怪談会 Hyakumonogatari Kaidankai.https://hyakumonogatari.com/2013/01/03/ushi-no-koku-mairi-shrine-visit-at-the-hour-of-the-ox/
- Hildburgh, W. L. (1915). 65. Notes on Some Japanese Magical Methods for Injuring Persons. Man, 15, 116–121. https://doi.org/10.2307/2787870
- MON.(September 18, 2020).เรื่องราวลี้ลับและสยองขวัญ ตอนที่ 36: พิธีสาปแบบญี่ปุ่น การไปเยือนศาลเจ้ายามฉลู อุชิโนะโคคุไมริ.Fun!Japan.https://www.fun-japan.jp/th/articles/11655
- Murguia,S.J.(March 2013). The Cursing Kit of Ushi no Koku Mairi. Critical and Historical Studies on the Preternatural 1 March 2013; 2 (1): 73–91. doi: https://doi.org/10.5325/preternature.2.1.0073
- Murguia, Salvador, Cyber Execration: A Case Study of Ushi No Koku Mairi and Its Re-Enchantment Through Online Cursing (December 1, 2011). ESSACHESS -Journal for Communication Studies, Vol. 4, No. (2)8, pp. 175-189, 2011, Available at SSRN: https://ssrn.com/abstract=2163099
- “Scapegoat Doll” May Have Blended Shinto, Buddhist Rites.(March 29, 2018).Archaeology Magazine.https://www.archaeology.org/news/6478-180329-japan-wooden-hitogata
- Ushi no Koku Mairi: Dark Ritual for Vengeance.(October 31, 2021).Light in the Clouds.https://lightinthecloudsblog.com/tag/ushi-no-toki-mairi/

One thought on “พิธีสาปแช่งแบบญี่ปุ่น | การไปเยือนศาลเจ้ายามฉลู”