เมื่อพูดถึงนักรบหรือซามูไรญี่ปุ่น ชื่อของซามูไรหญิงที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ย่อมจะไม่พ้นนามของ “โทโมเอะ” หนึ่งในภริยาของเจ้าแห่งคิโซะ สตรีที่มีทั้งความงดงามแห่งความเก่งกาจชนิดที่พิชิตเหล่าบุรุษนับพันมาแล้วในยุคสงครามปลายสมัยเฮอัน

งานของทสึกิโอกะ โยชิโทชิ [月岡芳年] © The Trustees of the British Museum
อนนะมูฉะ [女武者] คือชื่อเรียกนักรบหญิงในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นตั้งแต่ยังไม่ถือกำเนิดคำว่าซามูไร โดยปรากฏใช้เรียกนักรบสตรีตั้งแต่ยุคสมัยเฮอัน ญี่ปุ่นโบราณปรากฏหลักฐานตำนานของสตรีผู้ฉกาจการรบย้อนไปไกลถึงยุคปกรณัม ช่วงระยะเริ่มต้นเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์มีผู้นำหญิงอย่างจักรพรรดินีจิงกุ [神功皇后] แม้จะไม่สามารถระบุช่วงเวลาครองราชย์ของจักรพรรดินีองค์นี้ได้อย่างแน่ชัด ก็ยังพอนิษฐานว่าครองราชย์อยู่ประมาณราวปีค.ศ. 169 ถึง 269
จักรพรรดินีจิงกุได้รับการยกย่องนับถือทั้งในด้านการปกครองและการรบ และเป็นเวลากว่าพันปีที่บทบาทของอนนะมูฉะยังมีส่วนร่วมกับกองทัพญี่ปุ่นเสมอมานับจากยุคของพระนาง
กล่าวได้ว่าญี่ปุ่นนั้นเริ่มมีบทบาทของนักรบสตรีที่ย้อนไปไกลมาก เพียงแต่ค่อยๆ ถูกลดบทบาทลงสมัยหลัง ผู้หญิงชนชั้นนักรบตั้งแต่ยุคคริสต์ศตวรรษที่ 12-19 จะถูกสอนให้ใช้ดาบและง้าวนางิกาตะเพื่อป้องกันตัวไปจนถึงอาณาเขตบ้านเมืองของตนยามถูกรุกราน ค่านิยมในการตายอย่างมีเกียรติในการต่อสู้ก็ถูกปลูกฝังในอุดมคติของพวกเธอด้วย เหตุดังกล่าวส่งผลให้ผู้หญิงบางคนมีความชำนาญในการต่อสู้ที่โดดเด่น มีความกล้าหาญจนกลายเป็นที่ถูกพูดถึง กรณีของโทโมเอะ โกะเซ็นก็เช่นกัน
ก่อนอื่นคำว่า “โกะเซ็น” [御前] นี้ไม่ใช่นามสกุลหรือชื่อแต่อย่างใด คำดังกล่าวเป็นบรรดาศักดิ์ของสตรีในยุคโบราณของชาวญี่ปุ่นเทียบกับคำว่า “Lady” ของชาวอังกฤษ สามารถแปลเป็นคำภาษาไทยได้ว่า “ท่านหญิง” หรือ “แม่หญิง” ก็ได้ เพียงต้องแสดงให้เห็นถึงสถานะทางสังคมที่สูงกว่าปกติ โดยเป็นคำเรียกด้วยการยกย่องเหนือกว่าสตรีอื่นในสังคม
สำหรับประวัติความเป็นมาของโทโมเอะ โกะเซ็นนั้น ไม่มีข้อมูลเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่ชัดเจน นอกเหนือไปจากการเป็นหนึ่งในภริยาของมินาโมโตะ โนะ โยชินากะ [源 義仲] ผู้มีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าแห่งเขาคิโซะ [木曾] เขาจึงเป็นที่รู้จักอีกในชื่อ “คิโซะ โยชินากะ” [木曾 義仲] ด้วยพลังและความเก่งกาจของโทโมเอะส่งผลให้โยชินากะสามารถเอาชนะสงครามที่มีปรปักษ์เป็นไทระก่อนจะต้องมารับศึกในตระกูลตัวเอง เรื่องของโทโมเอะมีการบรรยายถึงในวรรณกรรมอย่างตำนานเฮเคะ น่าเสียดายที่งานดังกล่าวอ้างอิงถึงประวัติของเธอหลังจากเป็นคนรักของมินาโมโตะ โยชินากะ เรื่อยไปจนถึงการสงครามและสิ้นสุดที่ความตายของสามี ทำให้ที่มาและจุดจบของโทโมเอะ โกะเซ็นยังเป็นเสมือนเงาหมอกที่เลือนรางและเต็มไปด้วยเนื้อความที่ขัดแย้งกัน
สงครามเก็นเปย์ [源平合戦] เกิดขึ้นตั้งแต่ค.ศ.1180 – 1185 มีการบันทึกและรวบรวมไว้ในรูปแบบวรรณกรรมคือตำนานเฮเคะหรือเฮเกะ โมโนกาตาริ [平家物語] และเก็มเปย์ เซย์ซุยกิ [源平盛衰記] คือตำนานความรุ่งเรืองและจุดจบของตระกูลเก็นจิ ทั้งสองเป็นวรรณกรรมมหากาพย์ของญี่ปุ่น มีเนื้อหาเล่าถึงสงครามระหว่างตระกูลใหญ่ที่มีอิทธิพลสสมัยเฮอันคือตระกูลไทระ [平] กับตระกูลมินาโมโตะ [源]
ชื่อเฮเคะ [平家] เป็นอีกรูปแบบการอ่านของสกุลไทระ ส่วนเก็นจิ [源氏] คือมินาโมโตะ งานทั้งสองชิ้นจึงถ่ายทอดผ่านมุมมองที่แตกต่างระหว่างสองขั้วอำนาจดังที่ปรากฏผ่านชื่อเรื่อง เรื่อยไปบรรจบจนถึงยุคเริ่มต้นของระบอบโชกุนคามาคุระในค.ศ. 1192
แม้ว่าสงครามเก็นเปย์จะเป็นการต่อสู้ปะทะกันระหว่างตระกูลไทระกับมินาโมโตะ ในช่วงปลายทางฝั่งของมินาโมโตะเองก็มีความขัดแย้งทางด้านการเมืองจนนำไปสู่การรบพุ่งกันเองระหว่างขั้วอำนาจของมินาโมโตะ โยริโตโมะ [(源 頼朝] กับมินาโมโตะ โยชินากะ ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วว่าโทโมเอะ โกะเซ็นมีบทบาทตั้งแต่การสงครามระหว่างสองตระกูล จนถึงสมรภูมิสุดท้ายคือสมรภูมิอะวาซึ ปีค.ศ.1184 อันเป็นสงครามที่ปิดฉากตำนานเจ้าแห่งเขาคิโซะ โยชินากะ

โทโมเอะ โกะเซ็นคือใคร?
ในตำนานเฮเคะได้ระบุว่าเธอคือหนึ่งในภรรยาของโยชินากะร่วมกับยามะบุกิ และเป็นนักรบหญิงด้วยกันทั้งคู่ พงศาวดารได้บรรยายความงามของเธอเอาไว้ว่าเป็นหญิงที่ผิวพรรณขาวนวล ผมยาวสลวย และมีเสน่ห์ โทโมะเอะนั้นเป็นนักธนูหาตัวจับได้ยาก เปี่ยมด้วยพลัง ทั้งยังชำนาญการสู้รบทั้งบนหลังม้าและเดินเท้าเข้าเผชิญหน้ากระทั่งเทพหรือปีศาจก็ย่อมได้ นางมีความหาญกล้าท้าทายกองกำลังกว่าพันนาย ทำให้โยชินากะไว้วางใจจนมอบตำแหน่งผู้บัญชาการรบให้กับนาง
ส่วนในเก็มเปย์ เซย์ซุยกิให้ข้อมูลที่มากขึ้น โดยมีการเท้าความไปหาพื้นเพของโทโมเอะว่านางเป็นลูกสาวแม่นมของโยชินากะ บิดามาจากตระกูลนากาฮาระ [中原] แห่งคิโซะ ทั้งสองต่างเติบโตมาด้วยกันตั้งแต่เยาว์วัย ก่อนจะุมาเป็นหญิงรับใช้ดูแลโยชินากะ กลายเป็นภรรยาน้อยและนักรบที่เก่งกาจ นางขี่ม้าชื่อชุนฟูซึ่งเป็นม้าพยศฝีเท้าดีที่สุดในแดนชินาโนะ ขณะเกิดสมรภูมิอะวาซึนั้นนางมีอายุ 28 ปี จัดเป็นช่วงเวลาที่สง่างามที่สุดของสตรี
ทั้งสองเอกสารต่างเชิดชูโทโมเอะในด้านการรบเช่นเดียวกัน แต่หากให้ข้อมูลรูปลักษณ์ต่างกันเพียงเล็กน้อย ในตำนานเฮเคะเน้นพูดถึงความงามของหญิงสาวควบคู่ไปกับความสามารถทางการรบ ขณะที่เก็นเปย์ เซย์ซุยกิกล่าวถึงพื้นหลังเพียงเล็กน้อย เน้นหนักไปที่รายละเอียดของการแต่งกาย แล้วจึงเพิ่มข้อมูลเกี่ยวกับการเผชิญหน้าของโทโมเอะกับนักรบอื่นๆ
สำหรับการแต่งกาย นางออกรบโดยสวมชุดเกราะอย่างบุรุษซึ่งมีความประณีต เก็มเปย์ เซย์ซุยกิอ้างอิงจากงานวิจัยของผ.ศ.กณภัทร รื่นภิรมย์ให้รายละเอียดเครื่องแต่งกายของโทโมเอะไว้ว่า
“นักรบคนหนึ่งซึ่งอยู่ในชุดเกราะที่เย็บด้วยด้ายสีตองอ่อน สะพายลูกธนูปลายขนนกเหยี่ยว ถือคันธนูชิเงะโดะซึ่งลงรักพันด้วยใบโท ขี่ม้าลักษณะล่ำสันขนสีขาวปนดำ อานม้าฝังมุกเป็นตราสัญลักษณ์โทโมเอะเล็กๆ…”
– กณภัทร รื่นภิรมย์ (2550)
ยังมีการบรรยายถึงการแต่งกายที่แตกต่างไปจากข้อความข้างต้นจากเก็มเปย์ เซย์ซุยกิอีกส่วนที่มีความขัดแย้งกับเนื้อหาแรก ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการคัดลอกวรรณกรรมหลายทอดจนอาจเกิดข้อผิดพลาดระหว่างการบันทึกได้ ช่วงก่อนที่โทโมเอะจะต่อสู้กับอุชิดะ การแต่งกายของนางถูกพรรณาไว้ว่า
“ตอนโทโมเอะออกจากเมืองหลวง นางสวมเสื้อเกราะทับเสื้อฮิตะตะเระ [直垂] ปักลายนกชิโดริ [千鳥] บนพื้นหลังสีกรมท่าและสีแดงไล่จากอ่อนไปเข้ม ทว่าในตอนสงครามที่วัดเซะอิกิ นางใส่เสื้อฮิตะตะเระทอสีม่วง ตรงตะเข็บแขนเสื้อส่วนที่ต่อกับผ้าพันเอวเย็บด้วยด้ายสีตองอ่อนติดเชือกผูกเป็นรูปดอกเบญจมาศ สวมหมวกนักรบแบบโกะมะอิ [五枚胴] ที่มีปีกยาวต่อลงมา 5 ตอน ถือดาบยาว 3 ชะคุ 5 ซุน (ประมาณ 1 เมตร) สะพายลูกธนูขนนกอินทรี 24 ดอก สะพายคันธนูชิเงะโดลงรักพันด้วยใบโท ขี่ม้าขนสีขาวปนดำมีลายจุดสีเทา อานม้าตกแต่งลายทองแบบคิมปุกุริน [金覆輪] ขณะที่นางขี่ม้านำทัพนักรบ 7 คน นางคงคิดอะไรสักอย่างนางจึงได้ถอดหมวกนักรบออก ทำให้ผมยาวสยายลงมาที่กลางหลัง จากนั้นนางก็สวมมงกุฏเท็งกัน [天冠] ที่หน้าผาก และใส่หมวกชิโรอุชิเดะซึ่งประดับตกแต่งด้วยกระดาษสีเงินอันทำให้หน้าตาและท่าทางของนางดูอ่อนโยนขึ้น”
มีการบรรยายถึงการต่อสู้บนหลังม้า ใช้อาวุธเป็นดาบยาว ธนู ทำให้เราพอจะทราบว่าโทโมเอะนั้นเป็นนักรบบนหลังม้า เรียกว่า “คิเฮย์” [騎兵] ซึ่งมีสถานะสูงกว่าพลเดินเท้า [歩兵] สอดคล้องกับคำกล่าวว่านางเป็นผู้บัญชาการกองทัพที่โยชินากะไว้วางใจคนหนึ่ง
โทโมเอะได้ออกรบกับสามีอย่างโยชินากะจนได้รับชัยหลายครั้ง และยังคงปรากฏตัวในศึกปราชัยของเขาด้วย ความเก่งกาจของนางจึงถูกถ่ายทอดในตอนวาระสุดท้ายของคิโซะอย่างสมรภูมิอะวาซึเช่นกัน

สมรภูมิอะวาซึ [粟津合戰]
อะวาซึ [粟津] ปัจจุบันคือเมืองโอตสึ [大津市] เป็นเมืองเอกของจังหวัดชิงะ อยู่บริเวณทางทิศตะวันตกและทิศใต้ของทะเลสาบบิวะ [琵琶湖] ทะเลสาบน้ำจืดใหญ่ที่สุดของประเทศญี่ปุ่น พื้นที่ดังกล่าวใกล้กับเมืองหลวงเฮอันซึ่งตอนนี้กลายเป็นที่มั่นของทางกลุ่มมินาโมโตะ ทว่าความขัดแย้งระหว่างมินาโมโตะ โยริโตโมะกับมินาโมโตะ โยชินากะ ได้ส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นสมรภูมิสุดท้ายของโยชินากะและโทโมเอะ เรื่องราวของสงครามครั้งนี้ถูกถ่ายทอดทั้งในเฮเคะ โมโนกาตาริและเก็มเปย์ เซย์ซุยกิ
ตำนานเฮเคะเล่าว่าสมรภูมิสุดท้ายของโทโมเอะ กองทัพของโยชินากะค่อยๆ ถูกตีจนแตกพ่ายเหลือนักรบเพียง 5 คน โยชินากะกลัวคำครหาหากจะต้องสิ้นชีพโดยมีหญิงเคียงข้างกายในสนามรบ เขาจึงออกคำสั่งให้โทโมเอะยอมทิ้งสงครามแล้วหนีไป แต่นางต้องการสู้เพื่อสามีเป็นครั้งสุดท้าย จึงได้ขอแสดงฝีมือทิ้งทวนพิสูจน์ว่านางมีความจงรักภักดีต่อโยชินากะ
ตอนนั้นเองที่อนดะ ฮาชิโร่ โมโรชิเงะ [御田八郎師重] แม่ทัพจากดินแดนมุซาชิ [武蔵国] พร้อมทหารอีก 30 นายได้บุกเข้ามา โทโมเอะจึงรีบเข้าไปกระชากตัวโมโรชิเงะ กดคอเขาแนบกับอานม้าชุนฟูของนางเพื่อตรึงไม่ให้หนี และเด็ดศีรษะในที่สุด เมื่อเสร็จสิ้นนางจึงถอดชุดเกราะและควบม้าออกจากสนามรบโดยบ่ายหน้าไปทางดินแดนอาสุมะ [東] ทางด้านตะวันออกของฮอนชูหรือพื้นที่ที่เรียกว่าภูมิภาคคันโต [関東] ในสมัยหลัง

Jordan Schnitzer Museum of Art, University of Oregon., Public domain, via Wikimedia Commons
ข้อความในตำนานเฮเคะเล่าเพียงว่านางสังหารโมโรชิเงะ ขณะเก็มเปย์ เซย์ซุยกิบรรยายการต่อสู้ของโทโมเอะอีก 2 ครั้ง คราวแรกคือการเผชิญหน้ากับฮาตาเกะยามะ ชิเงทาดะ [畠山 重忠] ซึ่งเดิมอยู่ฝ่ายไทระแต่ย้ายฝั่งมาเข้ากับมินาโมโตะ โยริโตโมะ เขาตั้งใจจะจับเป็นโทโมเอะเพื่อนำไปมอบให้โยริโตโมะ จึงได้ขี่ม้าวนไปรอบๆ เพื่อตีกรอบ ได้จังหวะแล้วจึงควบไปประชิดตัวแล้วคว้าแขนเสื้อเกราะด้านซ้าย นางรู้ได้ทันทีว่าอาจไม่สามารถสู้ความแข็งแกร่งของชิเงทาดะได้ จึงฟาดแส้ใส่ม้าให้วิ่งหนีออกจนทำให้แขนเสื้อเกราะของนางขาดออกจากกัน ทิ้งระยะห่างรอดพ้นได้อยู่ 2 ทัน (22 เมตร) ส่งผลให้นางรอดจากการจับกุม

แต่นางก็ต้องมาเผชิญหน้ากับอุชิดะ ซาบุโร่ อิเอโยชิ [内田三郎家吉] แม่ทัพฝ่ายเก็นจิอีกคน คราวแรกอิเอโยชิหารือกับนักรบคนอื่นๆ ตั้งใจใช้กำลัง 100 นายเข้าโอบล้อมนางเอาไว้ รอให้อิเอโยชิเข้าจับกุมได้โดยง่าย แต่อิเอโยชิกลัวคำครหาจากผู้อื่นจึงตัดสินใจบุกเข้าไปต่อสู้ด้วยตนเอง เข้าเทียบม้าเคียงกันจนอานม้าแทบชนกัน อุชิดะ อิเอโยชิใช้มือซ้ายอ้อมไปด้านหลังแล้วดึงม้วนบิดผมของโทโมเอะ 3 รอบ แล้วจึงเอาดาบสั้นที่เหน็บเอวมาจ่อคอนาง
ด้วยความชำนาญโทโมเอะโต้กลับด้วยการกำหมัดกระแทกอย่างแรงไปที่ข้อศอกของอุชิดะจนทำให้ดาบหลุดออกจากมือทันที นางยื่นแขนซ้ายออกมาคว้าด้านหน้าหมวก ล้วงมือเข้าไปดึงศีรษะคู่ต่อสู้ให้หงายขึ้น และดึงดาบสั้นที่มีความยาว 7.5 ซุน (ประมาณ 23 เซนติเมตร) ออกมาใช้ปาดคออุชิดะตายคาที่ ยังได้ตัดศีรษะของเขาไปแสดงต่อหน้าโยชินากะ

©The Metropolitan Museum of Art
หลังจากนั้นเรื่องราวในเก็มเปย์ เซย์ซุยกิก็จบลงเช่นเดียวกับเฮเคะ โมโนกาตาริ นั่นคือการที่โยชินากะออกคำสั่งให้โทโมเอะยอมละทิ้งสนามรบและหนีไปยังดินแดนแถบคันโต

Public domain, via Wikimedia Commons
บั้นปลายชีวิตโทโมเอะหลังสิ้นเจ้าแห่งคิโซะ
จุดจบของโทโมเอะก็มีข้อมูลที่ขัดแย้งกันดังเช่นจุดเริ่มต้น สงครามเก็นเปย์ถูกถ่ายทอดผ่านมุขปาฐะ ผ่านการคัดลอกและชำระเขียนขึ้นหลายครั้ง ส่งผลให้อาจมีรายละเอียดที่ไม่ตรงกันในแต่ละฉบับ บ้างก็เล่าว่านางไม่ได้ทิ้งสมรภูมิ แต่ยืนยันที่จะรบเคียงข้างคนรักจนตัวตาย สำหรับวรรณกรรมชิ้นสำคัญอย่างตำนานเฮเคะและเก็มเปย์ เซย์ซุยกิเล่าตรงกันในจุดที่ว่าโทโมเอะจำใจต้องทิ้งมินาโมโตะ โยชินากะตามคำสั่งของเขาเอง และมุ่งหน้าไปทางตะวันออกสู่พื้นที่คันโตในปัจจุบัน
ถึงอย่างนั้นเก็มเปย์ เซย์ซุยกิให้ข้อมูลต่างกันโดยเพิ่มเรื่องราวหลังจากการหลบหนี โดยเล่าถึงคำสั่งเสียของโยชินากะที่ได้ขอให้โทโมเอะไปตามหาภรรยาและลูกที่ต้องผลัดพรากจากกันก่อนหน้านี้ และใช้ชีวิตที่เหลืออยู่สวดมนต์ภาวนาอุทิศให้กับเขาที่สิ้นชีวิตไปแล้ว หลังสงครามอะวาซึจบลง นางได้ถอดชุดเกราะแล้วเปลี่ยนมาสวมชุดโคโซเดะ เดินทางกลับไปยังชินาโนะ [信濃] คือคิโซะบ้านเกิด เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของโยชินากะให้แก่ภรรยาและเหล่าขุนนางได้รับทราบเรื่องวาระสุดท้ายของเจ้าแห่งคิโซะ
หลังจากที่สงครามสิ้นสุดลง เกิดระบอบการปกครองใหม่โดยมีศูนย์กลางที่คามาคุระ เริ่มต้นยุคที่นักประวัติศาสตร์เรียกว่าสมัยคามาคุระ [鎌倉時代] ภายใต้การปกครองของตระกูลมินาโมโตะ โดยมีโยริโตโมะเป็นโชกุน [将軍] คนแรก เขาได้ออกคำสั่งให้โทโมเอะเดินทางมารับคำตัดสินในชะตากรรมที่คามาคุระ
หลังจากนางมาถึงคามาคุระ วาดะ โยชิโมริ [和田 義盛] ประทับใจในความงามและความเด็ดเดี่ยวของนาง จึงได้ขออนุญาตให้นางได้มาเป็นภรรยาของเขา เพื่อจะได้มีลูกหลานที่แข็งแรงกลายเป็นผู้ดูแลรักษาแผ่นดินต่อไป วาดะ โยชิโมริได้อ้างถึงความภักดีที่มีต่อมินาโมโตะ จนโยริโตโมะยอมให้นางเป็นภรรยาของเขาและรอดพ้นโทษประหารชีวิต
โทโมเอะมีบุตรให้กับวาดะ โยชิโมริคืออาซาฮินะ โยชิฮิเดะ [朝比奈 義秀] เมื่อทั้งสามีและลูกชายได้เสียชีวิตลง นางจึงได้ตัดสินใจออกบวชเพื่อจะได้ภาวนาให้กับดวงวิญญาณของทุกคนที่ได้สิ้นลงไปก่อนหน้า ก่อนที่นางจะสิ้นใจในยามเมื่ออายุ 91 ปี น่าเสียดายที่ไม่เหลือร่องรอยว่านางได้ถูกฝังไว้ ณ ที่แห่งใด
โทโมเอะ โกะเซ็นได้กลายเป็นไอคอนที่นิยมของศิลปินยุคหลัง มีการเล่าขานต่อในการแสดงประุเภทต่างๆ ทั้งการท่องโศลก ละครโนห์ และคาบูกิ ตำนานของเธอส่งผลให้เกิดภาพพิมพ์แกะไม้หลายชิ้น หลายแบบ และหลายศิลปิน เนื่องจากไม่หลงเหลือภาพวาดหรืองานศิลปกรรมอื่นๆ ร่วมสมัยที่บ่งชี้ถึงรูปลักษณ์ของเธอ ภาพเหล่านั้นจึงถูกสร้างขึ้นด้วยจินตนาการของคนสมัยเอโดะโดยอ้างอิงจากคำบรรยายในตำนานเฮเคะเป็นหลัก ส่วนมากมักเป็นภาพขณะเธออยู่ในชุดเกราะบนหลังม้า กระทำการต่อสู้กับชายฉกรรจ์อย่างดุดัน สำหรับภาพพิมพ์ของโทโมเอะมีหลายชิ้นที่อยู่ในการครอบครองของบริติช มิวเซียม รวมถึงพิพิธภัณฑ์อื่นๆ และในแกลลอรีภาพพิมพ์แกะไม้ที่มีชื่อเสียง
จนถึงทุกวันนี้เรื่องราวของโทโมเอะก็ยังคงมีชีวิตผ่านวรรณกรรมและสื่อสังคมสมัยใหม่มากมาย ตั้งแต่มังงะ นิยาย ไปจนถึงภาพยนตร์/ซีรีส์ และยังคงฉายภาพมนต์เสน่ห์ของนักรบหญิงผู้มีความงดงามและเด็ดเดี่ยวอย่างยากจะลืมเลือน
Featured Image : Gojū kogō no tsubone gojūni tomoegozen Abstract/medium: 1 print : woodcut, color ; 35.9 x 24.2 cm.https://www.loc.gov/pictures/item/2009615056/

References :
- Bernard,C.(June 12, 2014).TOMOE GOZEN: BADASS WOMEN IN JAPANESE HISTORY.Tofugu.https://www.tofugu.com/japan/tomoe-gozen/
- Bohnke,C.(December 17, 2022).Onna-Bugeisha, the Female Samurai Warriors of Feudal Japan.JSTOR Daily.https://daily.jstor.org/onna-bugeisha-female-samurai-warriors-feudal-japan/
- Brown, S. T. (1998). From Woman Warrior to Peripatetic Entertainer: The Multiple Histories of Tomoe. Harvard Journal of Asiatic Studies, 58(1), 183–199. https://doi.org/10.2307/2652649
- Daniel,P.S.(July 12, 2022).Fierce and female, these 7 warriors fought their way into history.National Geographic.https://www.nationalgeographic.com/history/history-magazine/article/fierce-and-female-these-7-warriors-fought-their-way-into-history
- Szczepanski,K.(January 22, 2020).A Long History of Japanese Women Warriors.ThoughtCo.https://www.thoughtco.com/images-of-samurai-women-195469
- Wu, M.(April 29, 2015).Tomoe Gozen – A fearsome Japanese Female Warrior of the 12th Century.Ancient Origins.https://www.ancient-origins.net/history-famous-people/tomoe-gozen-fearsome-japanese-female-warrior-12th-century-002974
- Tyler,R.(2012).The Tale of the Heike.New York: Penguin Group.
- กณภัทร รื่นภิรมย์. (2550) ภาพลักษณ์ของตัวละครหญิง “โทะโมะเอะ โกะเส็น” ในนิยายสงครามและบทละครญี่ปุ่น /. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,:ม.ป.ท.
