ภูตผีที่สิงสู่สะพานเก่า เฝ้ารอคอยดับไฟแค้น นางคือฮาชิฮิเมะ ผู้ริเริ่มพิธีกรรมสาปแช่งยามฉลู สตรีที่ยอมเปลี่ยนตัวเองเป็นปีศาจเพื่อสาปแช่งให้อดีตคนรักต้องพบกับความฉิบหาย นางเป็นเพียงแค่ผู้หญิงที่มีความเกลียดชังเป็นสรณะ หรือแท้จริงแล้วนางเป็นผู้พิทักษ์แห่งสะพานที่ถูกลืมกันแน่?
ฮาชิฮิเมะ (橋姫) แปลตรงตัวคือองค์หญิงแห่งสะพาน เป็นโยไคที่มีแรงแค้นและริษยาเป็นตัวขับเคลื่อนการกระทำ มีที่สิงสถิตย์อยู่ในสะพานยาวๆ เก่าๆ มักปรากฏตัวเป็นหญิงสวมชุดและทาหน้าสีขาว บนศีรษะสวมขาตั้งหม้อโลหะสามขาปักเทียนหรือคบไฟ ลักษณะตามแบบชุดของหมอผีที่ประกอบพิธีสาปแช่ง อย่างไรก็ตามฮาชิฮิเมะอาจเผยตัวในรูปลักษณ์อื่นขึ้นอยู่กับโอกาสด้วย แต่มักจะอยู่ในสภาพนี้เป็นหลัก ชัดเจนที่สุดคือพบได้เฉพาะที่สะพานเท่านั้น

หลักฐานเก่าแก่ที่สุดอันปรากฏเรื่องราวของฮาชิฮิเมะคือรวมบทกวีชื่อ โคคิน วะกาชู [古今和歌集] หรือรวมบทกวีโบราณอายุราวค.ศ. 905 โดยกล่าวถึงฮาชิฮิเมะแห่งอุจิ มีความแปลได้ว่า
“เหนือทุ่งผืนหญ้า
ปลดผ้าคลุมกาย
ค่ำนี้, มิคลาย–
คงยังรอข้า
ฮาชิฮิเมะแห่งอุจิ”
บทกวีดังกล่าวจัดอยู่ในยุคเฮอันซึ่งเป็นยุคเรืองรองทางด้านศิลปวัฒนธรรมของญี่ปุ่น นอกจากกลอนดังกล่าวแล้ว ชื่อของฮาชิฮิเมะยังเป็นชื่อตอนหนึ่งจากวรรณกรรมนิยายเรื่องแรกของชาวอาทิตย์อุทัยอย่าง “ตำนานเกนจิ” [源氏物語] สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 11
ชื่อของฮาชิฮิเมะกับตำนานของนางถูกนำมาใช้เป็นสัญญะในเชิงเปรียบเทียบตอนที่มุราซากิ ชิคิบุ [紫式部] ผู้ประพันธ์เล่าถึงท่านหญิงโรคุโจ ตัวละครที่มีความริษยาพยาบาทจนกลายเป็นสิ่งเหนือธรรมชาติคือเกิดเป็นอิคิเรียว [生霊] วิญญาณคนเป็นที่ออกไปเล่นงานสตรีที่นางถือว่าเป็นศัตรูหัวใจ และจากจุดนี้เองที่ฮาชิฮิเมะมักจะถูกศิลปินนำมาใช้ในการเปรียบเปรยยามกล่าวถึงแรงอาฆาตของหญิงสาวอีกหลายครั้งตลอดระยะเวลาของประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น
แต่ตำนานที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดเกี่ยวกับฮาชิฮิเมะมาจากเรื่องเล่าตอนหนึ่งในตำนานเฮเคะ เกี่ยวกับตำนานของดาบคือทสึรุงิ โนะ มากิ [平家剣巻] ซึ่งภายหลังถูกดัดแปลงไปเป็นบทละครโนห์เรื่อง “คานาวะ” [鉄輪]
ท้องเรื่องกล่าวถึงหญิงนางหนึ่งซึ่งมาขอพรเทพเจ้าในศาลเจ้าคิฟุเนะ [貴船神社] เมืองเกียวโต นางเข้ามาทำพิธีสาปแช่งในเวลายามฉลู (ประมาณ 1.00 – 3.00 น.) ติดต่อกันหลายคืนเพื่อขอให้ได้กลายเป็นปีศาจเพื่อที่จะได้แก้แค้นสามีเก่าโดยยอมแลกกระทั่งชีวิตหากมันจะทำให้เขาพบแต่ความวอดวาย หลังจากพยายามอยู่ 7 คืน คำร้องขอก็ได้รับการตอบรับ เทพเจ้าได้บอกนางว่า…
“หากนางทำพิธีสาปแช่งและลงไปแช่ในแม่น้ำอุจิ [宇治川]1 เป็นเวลา 21 คืน นางก็จะกลายเป็นสิ่งที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติ”

Public domain, via Wikimedia Commons
หญิงดังกล่าวทำตามตั้งใจ นางสวมเสื้อคลุมสีขาว ทาใบหน้าและลำตัวด้วยสีแดง เกล้าผมมวยเป็นกรวยเขา 5 เขา ใช้ขาตั้งหม้อโลหะพลิกปลายด้านขาขึ้นฟ้า ประดับแต่ละขาของขาตั้งด้วยเทียน ปากคาบเทียนอีก 2 เล่ม เทียนทุกเล่มต้องจุดไฟให้โชติช่วง แล้วจึงเดินลงไปทำพิธีแช่ในแม่น้ำอุจิ เมื่อพกพาความเกลียดชังหยั่งลึกในใจมาทิ้งตัวลงสายธารได้ 21 คืน ในที่สุดนางก็กลายเป็น “คิโจ” [鬼女] ยักษ์สตรีในตำนานของญี่ปุ่น และมีสมญานามว่าฮาชิฮิเมะแห่งอุจิ
ในคืนเดียวกันนั้นเอง สามีเก่าของนางก็ตื่นขึ้นจากฝันร้ายและรับรู้ได้ถึงลางไม่ดี ภัยกำลังจะมาถึงตัว จึงได้ไปขอความช่วยเหลือจากนักเวทย์องเมียวจิคนดังอย่าง “อาเบะ โนะ เซย์เมย์” [安倍 晴明] คนมีวิชาสามารถตอบได้ทันทีว่าภรรยาเก่าของเขากำลังจะหาทางทำลายชีวิตคู่ของพวกเขา
อาเบะ โนะ เซย์เมย์รับปากว่าจะช่วยหาทางแก้ให้ ด้วยการทำพิธีเสกหุ่นตุ๊กตากระดาษที่เรียกว่าคาตาชิโระ [形代] เป็นร่างจำแลงของคู่สามีภรรยาเพื่อลวงหลอกฮาชิฮิเมะไปจากเป้าหมายตัวจริง แผนการได้ผลเมื่อฮาชิฮิเมะรีบมาโจมตีตุ๊กตากระดาษเหล่านั้นยามกลางดึก ด้วยพลังของเซย์เมย์ ความอาฆาตมาดร้ายของนางจึงถูกสะท้อนกลับเข้าตัว ส่งผลให้นางต้องยอมล่าถอยไปพร้อมประโยคคลาสสิกว่าสักวันนางจะต้องกลับมาแก้ตัวใหม่

©British Museum, Public domain, via Wikimedia Commons
ตำนานของฮาชิฮิเมะแห่งอุจิถูกรวบรวมไว้ในหนังสือของโทริยามะ เซคิเอ็ง ในภาพชุดคนจะกุ กาซึ โซคุ เฮี๊ยกกิ [今昔画図続百鬼] หรือภาพชุดขบวนร้อยอสูรจากอดีตและปัจจุบัน โดยระบุถึงเอาไว้ว่า
“ฮาชิฮิเมะอาศัยอยู่ใต้สะพานอุจิในภูมิภาคยามาชิโระ2 [山城国] และนี่คือภาพของฮาชิฮิเมะ”
-โทริยามะ เซคิเอ็ง [鳥山石燕]

แม้ว่าจะดูเป็นโยไคแห่งความพยาบาท แต่ในชุมชนใกล้เคียงกับสะพานมักจะให้ความเคารพนับถือนาง บางแห่งมีการสร้างศาลเจ้าไว้สักการะอย่างศาลเจ้าฮาชิฮิเมะแห่งอุจิ อยู่บริเวณสะพานอุจิ จากข้อมูลของศาลเจ้าระบุว่าเก่าแก่ตั้งแต่ราวค.ศ.646 ซึ่งยากที่จะุสรุปได้อย่างแน่ชัด
ฮาชิฮิเมะถูกบูชาในลักษณะใกล้เคียงเทพเจ้าแห่งการพลัดพรากและการตัดสัมพันธ์ ทำให้คนที่จะมาไหว้และขอพรจะนิยมขอเรื่องการเลิกรา การหย่าร้าง ไปจนถึงการตัดบ่วงของลางร้ายหรือการตัดกรรมเลวที่ติดค้างนั่นเอง ดังนั้นถือเป็นเรื่องไม่สมควรหากคู่รักหรือบ่าวสาวที่จะเดินทางผ่านศาลเจ้าของฮาชิฮิเมะ หากมีความจำเป็นต้องสัญจรผ่านอย่างเลี่ยงไม่ได้ ก็จะต้องเปลี่ยนจากการเดินทางบนบกเป็นการนั่งเรือลอดใต้สะพานซึ่งนางสิงสู่อยู่แทนเพื่อไม่ให้เกิดลางไม่ดีเกี่ยวกับชีวิตคู่
เราอาจจะกล่าวว่าการบูชาฮาชิฮิเมะใกล้เคียงกับการนับถือเทพในกลุ่มซุยจิน [水神] คือเทพแห่งสายน้ำ เนื่องมาจากศาลเจ้าคิฟุเนะเองก็ถือว่าเป็นที่สถิตย์ของเทพเจ้าแห่งสายน้ำที่เก่าแก่อย่างทาคาโอะคามิ [高靇] แต่นักคติชนบางกลุ่มให้ความเห็นว่าฮาชิฮิเมะอาจสัมพันธ์กับโดโซจิน [道祖神] เทพแห่งถนนหนทาง เพราะสะพานเองก็เป็นเส้นทางคมนาคมหนึ่งซึ่งนำพาทั้งสิ่งดีและไม่ดีมายังชุมชนได้ เทพกลุ่มโดโซจินจึงถูกบูชาในฐานะผู้คุ้มครองถนน ทั้งปัดเป่าและป้องกันสิ่งไม่ดีไม่ให้ผ่านทางไปได้
สมัยโบราณหากมีการสงคราม ฮาชิฮิเมะก็จะถูกสักการะโดยชาวบ้านรอบๆ สะพาน เพื่อให้นางช่วยปกป้องสะพานไม่ให้พวกข้าศึกศัตรูบุกข้ามมายังหมู่บ้านหรือเมืองนั้นได้ สอดคล้องกับบทบาทและหน้าที่ของโดโซจินเช่นเดียวกัน ผิดเพียงแต่ว่าภาพของโดโซจินมักจะเป็นรูปสลักคู่หญิงชายหรืออวัยวะเพศชายและหญิง ลักษณะเหมือนหินตาหินยายมากกว่า ทำให้เกิดความเชื่อเสริมอีกว่าเหตุที่ฮาชิฮิเมะออกจะมีความเฮี้ยนและอาฆาตเพราะนางถูกตั้งศาลบูชาเพียงลำพังโดยปราศจากคู่

แม้ว่าฮาชิฮิเมะแห่งอุจิจะมีชื่อเสียงมากที่สุด แต่อีกหลายพื้นที่ของญี่ปุ่นก็มีตำนานฮาชิฮิเมะของตัวเอง อย่างสะพานนาการะบาชิ [長柄橋] ในเมืองโอซาก้าซึ่งเป็นสะพานข้ามแม่น้ำโยโด และสะพานเซตะ โนะ คาระบาชิ [瀬田の唐橋] ที่พาดข้ามแม่น้ำเซตะ จังหวัดชิงะ [滋賀県] ทั้งสองแห่งล้วนเคยเป็นสะพานโบราณที่พาดผ่านลำน้ำสายเดียวกัน
1 คือแม่น้ำโยโด [淀川] บางครั้งถูกเรียกว่าแม่น้ำเซตะ[(瀬田川] และแม่น้ำอุจิ [宇治川] ขึ้นอยู่กับภูมิภาคที่แม่น้ำไหลผ่าน แม่น้ำแห่งนี้มีจุดกำเนิดที่ทะเลสาบบิวะในจังหวัดชิงะ เป็นแม่น้ำสายหลักที่ไหลผ่านภูมิภาคโอซาก้าในเกาะฮอนชู
2山城国 คือพื้นที่ทางตอนใต้ของเกียวโตปัจจุบัน
Featured Image : Hashihime 橋姫 (No. 45 Lady at the Bridge) (No. 45 Lady at the Bridge) © The Trustees of the British Museum

References :
- Davisson,Z.(May 1, 2013).Hashihime – The Bridge Princess.百物語怪談会 Hyakumonogatari Kaidankai.Retrieved 22 March 2023, from https://hyakumonogatari.com/2013/05/01/hashihime-the-bridge-princess/
- Davisson,Z.(April 22, 2013).The Tale of the Hashihime of Uji.百物語怪談会 Hyakumonogatari Kaidankai.Retrieved 22 March 2023, from https://hyakumonogatari.com/2013/04/22/the-tale-of-the-hashihime-of-uji/
- Meyer, M. (2015).The Hour of Meeting Evil Spirits: An Encyclopedia of Mononoke and Magic (Yokai).
- Reider, N. T. (2010). Women Spurned, Revenge of Oni Women: Gender and Space. In Japanese Demon Lore: Oni from Ancient Times to the Present (pp. 53–60). University Press of Colorado. https://doi.org/10.2307/j.ctt4cgpqc.9
- Yumiyama,T.(n.d.).”Kuraokami, Takaokami, Kuramitsuha” in Encyclopedia of Shinto. Digital Museum of Kokugakuin University.Retrieved 22 March 2023, from https://d-museum.kokugakuin.ac.jp/eos/detail/id=9367

One thought on “#โยไคอะไรเนี่ย EP11 HASHIHIME [橋姫]”