นอกจากชนเผ่าทิเบตแล้ว มองโกลเป็นอีกกลุ่มที่เลี้ยงจามรีเพื่อการใช้งานและเพื่อบริโภคผลิตภัณฑ์จากนมของจามรี หลักฐานจากมัมมี่ที่พบหลังจากชั้นดินเยือกแข็งเกิดการละลายสามารถทำให้สืบค้นเกี่ยวกับอาหารการกินของชาวมองโกลโบราณ และเป็นครั้งแรกที่พบหลักฐานทางโบราณคดีของการบริโภคน้ำนมจามรีโดยตรงจากสุสานที่มีอายุราวคริสต์ศตวรรษที่ 13

การเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศโลกซึ่งอบอุ่นขึ้นส่งผลถึงชั้นดินเยือกแข็งถาวร (Permafrost) ในพื้นที่หนาวเย็นเกิดการสลายตัว ทำให้มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์มากมายที่โผล่กันขึ้นมาจากผืนน้ำแข็งที่ละลายออก ในที่ราบสูงมองโกเลียปรากฏแหล่งโบราณคดีประเภทสุสานหลายแห่ง หลักฐานทั้งโบราณวัตถุกับอินทรียวัตถุยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์อันเนื่องด้วยสภาพอากาศที่หนาวจัดช่วยรักษาสภาพเอาไว้ เกิดเป็นมัมมี่ด้วยกระบวนการทางธรรมชาติ
บริบทในปัจจุบันทำให้เราเห็นว่าการเลี้ยงจามรีในชนเผ่าพื้นที่สูงใช้เป็นทั้งพาหนะ เครื่องทุ่นแรงของเกษตรกร ขนยังนำมาทำเส้นใยผ้า เนื้อและน้ำนมนำมาบริโภค โดยเฉพาะน้ำนมยังสามารถแปรรูปทำชีสและเนยได้เป็นอย่างดีเพราะมีไขมันสูง ส่วนมูลตากแห้งของจามรีใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนทรัพยากรไม้ที่มีอย่างจำกัด
จามรีสามารถทนความหนาวเย็นได้ถึง -40 c° สามารถบริโภคหิมะและน้ำแข็งแทนน้ำ มีความสามารถในการคุ้ยหาพืชอาหารภายใต้ชั้นหิมะได้เป็นอย่างดี กล่าวได้ว่าจามรีนั้นเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีคุณประโยชน์สูง เหมาะสำหรับพื้นที่สภาพอากาศเลวร้ายและทรัพยากรมีจำกัด
ชนเผ่าเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่สูงจึงนิยมทำปศุสัตว์จามรีไปพร้อมกับสัตว์ชนิดอื่นๆ ทิเบตเป็นพื้นที่ที่มีหลักฐานของการเลี้ยงจามรีย้อนไปไกลถึง 3000 ปีก่อนคริสตกาล ก่อนที่จะกระจายตัวไปยังมองโกเลีย เส้นทางหลักคือจากทางตะวันออกของที่ราบสูงทิเบตข้ามเทือกเขาปามีร์ (Pamir) ไปทางตะวันตกกับอีกทางขึ้นเหนือผ่านเทือกเขาอัลไต (Altai) และขานไก (Khangai Mountains) ของมองโกเลีย

ตามข้อมูลเดิมที่มีทำให้ทราบว่ามองโกลมีการบริโภคน้ำนมจามรีมานานกว่า 5,000 ปี แต่ไม่เคยตรวจพบร่องรอยจากหลักฐานทางโบราณคดีอย่างชัดเจนมาก่อน เคยมีการพบชิ้นส่วนกะโหลกของจามรี ทว่าก็ยังเป็นนิเวศวัตถุที่ไม่อาจตีความได้ว่าจามรีที่พบนั้นชาวมองโกลนำมาใช้ประโยชน์อย่างไร สอดคล้องกับการบริโภคด้วยหรือไม่ การค้นพบสุสานชนชั้นสูงในภูเขาศักดิ์สิทธิ์ซึ่งยังมีร่างมัมมี่ 11 ร่าง ถูกฝังพร้อมข้าวของเครื่องใช้หรูหราทั้งหนังสัตว์ ผ้าไหม และทองคำ แช่แข็งด้วยความเย็นมากว่า 800 ปีมาแล้วเป็นหลักฐานชั้นดีที่ยังสามารถนำตัวอย่างมาตรวจพิสูจน์หาธาตุอาหารที่มนุษย์ในอดีตบริโภคอย่างเป็นประจำขณะมีชีวิตได้
ตัวอย่างที่นำมาศึกษาได้มาจากหลุมศพชนชั้นสูงบริเวณภูเขาในพื้นที่จังหวัดฮุฟสกุล (Khovsgol) ตอนเหนือของประเทศติดพรมแดนรัสเซีย สุสานแห่งนี้ถูกเรียกว่า “เขตต้องห้าม” หรือ “โคริค” (Khorig) เป็นหนึ่งในบรรดาสุสานหลายแห่งที่ประสบปัญหาของการลักลอบขุดทำลาย
สุสานโบราณในมองโกเลียบางแห่งเดิมถูกฝังภายในชั้นดินเยือกแข็งตลอดทั้งปี เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้น ชั้นดินเยือกแข็งจึงเกิดการสลายตัว หลุมศพจึงโผล่ออกมาล่อตานักล่าสมบัติจนทำให้สุสานหลายแห่งถูกปล้นขุดเพื่อนำสิ่งของไปขาย โบราณวัตถุที่เหลืออยู่จึงเป็นสินค้าไม่ได้ราคาในตลาดค้าวัตถุโบราณ ส่วนซากศพก็ถูกทิ้งให้กระจัดกระจายเสียหาย สองปัจจัยดังกล่าวล้วนยิ่งเร่งการเสื่อมสภาพของแหล่งโบราณคดีให้รวดเร็วและมากขึ้น นักโบราณคดีจึงต้องทำงานแข่งกับเวลา โดยนับแต่ช่วงปี 2017-2019 มีการกู้สุสานกว่า 70 แห่ง และยังคงต้องดำเนินการกันอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว

หลักฐานจากการขุดค้นหลุมฝังศพกับที่อยู่อาศัยแสดงให้เห็นว่าตั้งแต่ยุคสำริดตอนปลาย สัตว์เลี้ยงหลักที่เห็นในมองโกเลียปัจจุบันได้แพร่หลายในหมู่ประชากรมนุษย์แล้ว และถือเป็นจุดเริ่มต้นการบริโภคผลิตภัณฑ์จากนม รวมกับข้อมูลใหม่ที่ได้จากมัมมี่ที่ฮุฟสกุลทำให้ยิ่งชัดเจนว่าชนเผ่ามองโกลบริโภคนมเป็นประจำมาอย่างยาวนาน
ในการศึกษาพฤติกรรมบริโภคครั้งนี้ นักวิจัยได้นำเอาคราบหินปูน (Dental calculus) จากฟันของมัมมี่มาศึกษาด้วยกระบวนการพาลิโอโปรทิโอมิค (Paleoproteomic) คือการวิจัยโปรตีนโบราณ พบว่าในจำนวนตัวอย่างจากมัมมี่ 11 ร่าง พบว่ามีร่องรอยของโปรตีนที่บริโภคเข้าไปเป็นประจำ โดยโปรตีนที่พบมาจากเลือดและน้ำนมของสัตว์เคี้ยวเอื้องหลากชนิดรวมถึงม้ากับจามรี

การค้นพบสำคัญในหลุมฝังศพยังมีโบราณวัตถุหรูหราที่แสดงถึงฐานะของชนชั้นนำ เช่นร่างของสตรีชั้นสูงที่ถูกฝังโดยสวมเครื่องประดับศีรษะเรียกว่าบ็อกต็อก (Bogtog) มีเสื้อคลุมผ้าไหมยาวประดับลายมังกร 5 เล็บ มัมมี่สตรีดังกล่าวเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ถูกนำเอาคราบหินปูนไปศึกษา ซึ่งพบว่ามีการบริโภคน้ำนมจามรีในระหว่างที่มีชีวิตเป็นประจำต่อเนื่อง กล่าวได้ว่าความนิยมในการดื่มนมจามรีเป็นรสนิยมที่ปฏิบัติกันในหมู่ผู้นำชาวมองโกลมานานแล้ว

นอกจากการค้นพบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์และกำหนดช่วงเวลาของการดื่มนมจามรีในชาวมองโกลโบราณ สุสานแห่งนี้ยังมีการพบชิ้นส่วนรูปเคารพอย่างพระพุทธรูปทำจากทองคำ แสดงถึงอิทธิพลของศาสนาพุทธที่แพร่ไปจนถึงเหนือสุดของดินแดนติดกับประเทศรัสเซียอีกด้วย

Featured Image (ภาพปก) : ISTOCK, OOKPIKS via Lab Manager
References :
- Hale, T. (2023, April 7). Frozen “mummies” of the Mongol Empire are rising from melted permafrost. IFLScience. Retrieved April 14, 2023, from https://www.iflscience.com/frozen-mummies-of-the-mongol-empire-are-rising-from-melted-permafrost-68341
- Pandey, S. (2023, April 7). Mongol Empire’s frozen mummies reveal surprising drink of choice – yak milk! Ancient Origins. Retrieved April 14, 2023, from https://www.ancient-origins.net/news-history-archaeology/yak-milk-0018216
- Sherburne, M. (2023, March 31). Yak milk consumption among Mongol Empire Elites. University of Michigan. Retrieved April 14, 2023, from https://news.umich.edu/yak-milk-consumption-among-mongol-empire-elites/
- Ventresca Miller, A. R. (2019, August 18). 800 year old dairy and silks recovered from Mongolian permafrost. Max Planck Institute of Geoanthropology. Retrieved April 14, 2023, from https://www.shh.mpg.de/1439414/mongolia-vessels-and-silks-ventresca-miller
- Ventresca Miller, A. R., Wilkin, S., Bayarsaikhan, J., Ramsøe, A., Clark, J., Byambadorj, B., Vanderwarf, S., Vanwezer, N., Haruda, A., Fernandes, R., Miller, B., & Boivin, N. (2023). Permafrost Preservation reveals proteomic evidence for yak milk consumption in the 13th century. Communications Biology, 6(1). https://doi.org/10.1038/s42003-023-04723-3
- Wright, J. Prehistoric Mongolian Archaeology in the Early 21st Century: Developments in the Steppe and Beyond. J Archaeol Res 29, 431–479 (2021). https://doi.org/10.1007/s10814-020-09152-y
