“ยาพิษ” มักจะถูกกล่าวว่าเป็นเครื่องมือสังหารของสตรีมายาวนาน อาวุธสังหารที่แทบไม่ต้องใช้แรงก็สัมฤทธิ์ผล นั่นคือเหตุที่ฆาตกรต่อเนื่องคนแรกของอาณาจักรโรมันกลายเป็นมือสังหารคนสนิทของจักรพรรดิ นางคือ “Locusta of Gaul“
“นางหล่อเลี้ยงสายโลหิตด้วยพิษและมันถูกผลาญด้วยพระเพลิง”
– เวอร์จิล
(She nourishes the poison in her veins and is consumed by a secret fire.)
หากซีกโลกตะวันตกจะพูดว่าใครเรียกว่าเป็น “ฆาตกรต่อเนื่อง” (Serial Killer) คนแรกของโลก ชื่อของ “โลกัสต้า” (Locusta) เป็นชื่อแรกๆ ที่คนจะคิดถึง เพราะเธอคือฆาตกรต่อเนื่องหญิงคนแรกที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ มือยาพิษประจำกายของจักรพรรดิเนโรแห่งอาณาจักรโรมัน เรื่องราวของโลกุสต้าถูกบันทึกไว้ในงานของนักประวัติศาสตร์อย่างตากิตุส (Tacitus), จูเวนัล (Juvenal) คัสสิอุส ดิโอ (Cassius Dio) และซุอิโตนีอุส (Suetonius)
เดิมโลกัสต้าเป็นประชาชนในพื้นที่โกล (Gaul) ส่วนหนึ่งของอาณาจักรโรมันที่อยู่ในพื้นที่ของฝรั่งเศสปัจจุบัน เป็นหญิงที่มีความรู้เรื่องยาและสมุนไพรเป็นอย่างดี ข้อมูลบางแห่งกล่าวว่านางประกอบอาชีพรับผสมยา หลักๆ หาเลี้ยงชีพด้วยการปรุงยาพิษให้กับผู้หญิงที่อยากกำจัดสามีไปให้พ้นๆ จนกระทั่งถูกจับและนำตัวส่งไปรับการพิจารณารับโทษในโรม บ้างก็ว่านางเดินทางมาประกอบอาชีพปรุงยาพิษในโรมก่อนจึงถูกจับ และได้รับอภัยโทษจากจักรพรรดินีอะกริปปินา (Agrippina the Younger) เพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง

จักรพรรดินีอะกริปปินาเป็นมเหสีของจักรพรรดิเกลาดิอุส (Claudius) และเป็นมารดาของจักรพรรดิเนโร ในตอนนั้นอะกริปปินาต้องการที่จะลอบสังหารสวามี จึงได้ช่วยโลกัสต้าให้รอดจากโทษประหารเพื่อให้นางปรุงยาพิษตามที่ปรารถนา ตามที่ระบุอยู่ในจดหมายเหตุ (Annals) เขียนโดยตากิตุส (Tacitus) หนึ่งในนักประวัติศาสตร์ยุคโบราณ ตากิตุสได้เขียนถึงการวางยาเกลาดิอุสไว้ดังนี้
“ภายใต้ความหวั่นวิตก เขา (เกลาดิอุส) ก็เกิดล้มป่วยจึงเดินทางไปฟื้นตัวที่ซินุเอสซา (Sinuessa) ซึ่งมีอากาศปลอดโปร่งและน้ำทะเลใสสะอาด คราวนั้นอะกริปปินาที่ใคร่ครวญเกี่ยวกับแผนการร้ายมาอย่างยาวนานก็ตัดสินใจจะฉวยโอกาสนี้และไม่ได้ปราศจากเครื่องมือในการพิจารณาลักษณะของพิษที่จะใช้ แผนดังกล่าวอาจถูกขัดขวางหากกระทำรวดเร็วทันใด แม้นางจะเลือกยาพิษที่ออกฤทธิ์ช้าและตกค้างเป็นเวลานาน ก็เป็นที่น่ากลัวว่าเกลาดิอุสผู้ซึ่งป่วยหนักใกล้ตายอาจรู้ถึงความทรยศและหันเหความรักกลับไปหาบุตรของเขา”
นางจึงเลือกยาพิษหายากที่ส่งผลทำให้คลุ้มคลั่งเสียสติและออกฤทธิ์ถึงตายช้า และคนที่จะมาช่วยนางได้ก็ย่อมไม่พ้นโลกัสต้า สตรีผู้ต้องหาคดีสังหารด้วยยาพิษพร้อมประวัติของการใช้มันมาอย่างโชกโชน โลกัสต้าปรุงยาพิษขึ้นตามคำสั่งของอะกริปปินา และถูกนำไปจัดการโดยขันทีฮาโลตัส (Halotus) ผู้มีหน้าที่ยกและชิมอาหารให้กับเกลาดิอุส บางแห่งกล่าวว่าสิ่งที่นางใช้คือเห็ดระโงกหิน (Amanita phalloides) ผสมในอาหารในปริมาณไม่มากพอจะฆ่าให้ตายทีเดียว ปกติหากเกลาดิอุสรับประทานอะไรไปแล้วรู้สึกเป็นพิษก็จะมีการใช้ขนนกกวาดลำคอเพื่อให้อาเจียนเอาพิษออกมา ทว่าสิ่งที่ควรจะช่วยชีวิตเกลาดิอุสกลับกลายเป็นอาวุธสังหาร เพราะขนนกนั้นชุบด้วยยาพิษ

การสังหารด้วยยาพิษอาจเกิดขึ้นหลายครั้งในหน้าประวัติศาสตร์ของโรมัน อาชญากรรมดังกล่าวจึงสั่งสมเป็นประสบการณ์ให้คนในสังคมเกิดความตระหนักในเรื่องความปลอดภัยของอาหาร การฆาตกรรมด้วยพิษจึงไม่ใช่ว่าจะทำได้โดยง่าย ยิ่งกับชนชั้นสูงที่มีการคุ้มครองแน่นหนา มีข้าทาสคอยชิมอาหารและเครื่องดื่มก่อนเสมอ ทำให้เทคนิคที่จะใช้จำเป็นต้องออกแบบมาอย่างดี เป็นศิลปะแห่งการสังหารโดยแท้ และโลกัสต้ามีความเชี่ยวชาญเรื่องนี้อย่างหาตัวจับยาก
แม้เกลาดิอุสจะตายจากไปในปีค.ศ.54 ฝันของอะกริปปินาไม่ได้จบลงแค่นั้น เมื่อนางตั้งใจให้ลูกชายคือเนโร (Nero) เป็นจักรพรรดิองค์ต่อไป ติดตรงที่ว่ายังมีบุตรของมเหสีองค์ก่อนอย่างบริตันนิคุส (Britannicus) ขัดขวางอยู่ แผนครั้งนี้นางไม่ได้ดำเนินการด้วยตนเอง แต่เป็นฝีมือของเนโรที่ว่าจ้างโลกัสต้าด้วยตนเอง เรื่องส่วนนี้ถูกเขียนไว้ในงานของซุอิโตนีอุส (Suetonius) ความว่า…
“เพื่อการนี้เขาจ้างนางโลกัสต้าผู้มีประสบการณ์ในอาชญากรรมทำนองเดียวกัน แต่ยาพิษที่นางมอบให้ออกฤทธิ์อย่างช้าและทำให้เกิดอาการถ่ายท้องเท่านั้น เขาจึงให้คนพาตัวนางมาเพื่อจะทุบตีด้วยน้ำมือตน กล่าวหาว่านางใช้ยาแก้พิษแทนยาพิษ นางจึงอ้างว่าตั้งใจใช้ยาขนานอ่อนเพื่อไม่ให้ออกอาการเป็นที่สงสัย
เขาวางแผนว่ายาพิษจะต้องถูกนำไปในห้องอาหารและมอบให้บริตันนิคุสในขณะที่เขาร่วมโต๊ะรับประทานอยู่ด้วย เจ้าชายยังไม่ทันได้ลิ้มรสก็ล้มลงกับพื้น เวลานั้นเนโรแสร้งโกหกต่อแขกคนอื่นว่าเป็นเพียงเรื่องของอาการเจ็บไข้ได้ป่วย เขารีบเร่งฝังเหยื่อในวันถัดไปท่ามกลางพายุฝนโหมกระหน่ำ เขาอภัยโทษแก่โลกัสต้าและตบรางวัลให้นางด้วยทรัพย์สินมากมาย มอบบริวารให้นางเพื่อจะได้เรียนรู้กิจการของนาง”
สันนิษฐานว่าโลกัสต้าคงจะใช้สารหนูในปริมาณที่ต่ำเกินไปเพราะกลัวจะดูตายผิดสังเกต กลับเป็นว่าการพยายามหนแรกกับบริตันนิคุสล้มเหลว นางจึงต้องแก้มือ เนโรออกคำสั่งให้นางต้องทดลองขนาดยาในเหยื่อทดลองรายอื่นๆ ก่อน หากพิษอ่อนหรือทำงานช้าเกินไป ก็จะต้องปรับขนาดจนกว่าจะได้สัมฤทธิ์ผลตามใจในที่สุด

เนโรได้เป็นจักรพรรดิสมใจ และได้สมญานามว่าเป็นจักรพรรดิอายุน้อยแต่เหี้ยมโหดไม่แพ้ใคร เขาถูกกล่าวอ้างในเอกสารทางประวัติศาสตร์ในสมัยต่อๆ มาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เพลิงไหม้ใหญ่กรุงโรม หลังจากทำงานสำเร็จเป็นที่พอใจและได้รับสมบัติมากมายแล้ว เนโรยังอนุญาตให้โลกัสต้าสามารถทดลองยาพิษแบบต่างๆ กับทาส สัตว์ และอาชญากรซึ่งจะถูกส่งมาให้ถึงมือของโลกัสต้าเพื่อจะได้พบเจอกับโทษประหารอันแสนทรมาน
ยาพิษหลายชนิดกลายเป็นภัยเงียบในการสังหารศัตรูของเนโร ไม่มีบันทึกจำนวนที่แน่นอนเกี่ยวกับทาสและเหยื่อที่ถูกสังเวยแก่ยาพิษของโลกัสต้า แต่หากพิจารณาด้วยจำนวนคร่าวๆ และความสม่ำเสมอ เราอาจกล่าวได้ว่าโลกัสต้าเป็น “ฆาตกรต่อเนื่องหญิงคนแรกของโลกที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์”
ค.ศ.68 ไกอุส จูลิอุส วินเด็กซ์ (Gaius Julius Vindex) หนึ่งในวุฒิสภาโรมัน (Roman Senate) ทำการกบฏโค่นอำนาจจักรพรรดิเนโร ทว่าเป้าหมายใหญ่ในการจัดการกับเนโรนั้นล้มเหลว จักรพรรดิจอมโหดได้หลบหนีออกจากโรม และจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายในที่สุด ทุกความมั่งคั่งของโลกัสต้าก็มลายหายไปอย่างฉับพลัน
จักรพรรดิกัลบา (Galba) ผู้ถูกเลือกให้ขึ้นปกครองโรมันต่อไปได้สั่งให้จับกุมโลกัสต้า ด้วยข้อหาที่คงไม่ต้องบรรยายว่ามากมายอย่างไร พร้อมทั้งตามจับกุมคนสนิทที่เคยอยู่รอบกายของเนโรมาพร้อมๆ กัน คัสซิอุส ดิโอบรรยายถึงการจับกุมครั้งนี้อย่างเผ็ดร้อนว่า
“เฮลิอุส (Helius), นาร์ซิสซัส (Narcissus), เปโตรเบียส (Patrobius), โลกัสต้า (Locusta), นังแม่มดและพวกกากเดนที่เคยมีหน้ามีตาในยุคของเนโร เขาให้ล่ามด้วยโซ่ลากประจานไปรอบเมืองแล้วจึงประหาร”
โลกัสต้าถูกลากทึ้งไปตามถนนในโรมก่อนจะถูกประหารชีวิต สิ้นสุดตำนานจอมยาแห่งโลกโบราณ มือสังหารเงียบของจักรพรรดิเนโรด้วยประการนี้
Featured Image : Locusta Testing Poison on a Slave by Joseph-Noël Sylvestre (c.1870 – c.1880)

References :
- Höbenreich, E., & Rizzelli, G. (2019). Poisoning in ancient rome. Toxicology in Antiquity (Second Edition), 289–300. https://doi.org/10.1016/b978-0-12-815339-0.00019-6
- Milligan,M.(2021, August 22).LOCUSTA – The Notorious Roman Poisoner.HeritageDaily.Retrieved April 30, 2023, from https://www.heritagedaily.com/2021/08/locusta-the-notorious-roman-poisoner/139958
- Roller,S.(2021, September 28).8 Facts About Locusta, Ancient Rome’s Official Poisoner.History Hit.Retrieved April 30, 2023, from https://www.historyhit.com/facts-about-locusta-assassin-to-the-emperors-of-ancient-rome/
- Vučković,A.(2020, March 28).Locusta of Gaul – Nero’s Notorious Poison Maker.Ancient Origins. Retrieved April 30, 2023, from https://www.ancient-origins.net/history-famous-people/locusta-gaul-0013483
- Wright,J.(2021, November 2).Locusta of Gaul: Rome’s Imperial Poisoner and Possibly the World’s First Serial Killer.CrimeReads.Retrieved April 30, 2023, from https://crimereads.com/locusta-of-gaul-romes-imperial-poisoner-and-possibly-the-worlds-first-serial-killer/
