ช่องคูหาและกล่องหินที่เห็นเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของพิธีกรรมการฝังศพเมื่อราว 1,500 ปีมาแล้วที่เมืองโบราณชื่อว่า “ดารา” (Dara) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัด Mardin ประเทศตุรกี โดยมีมากกว่าร้อยศพซึ่งนำมาฝังเอาไว้ โดยหลังจากทำการขุดค้นเรียบร้อยจึงพร้อมจัดแสดงให้นักท่องเที่ยวเยี่ยมชมความงดงามอันโดดเด่น
เมืองโบราณ Dara เป็นเมืองสำคัญทางตอนเหนือของดินแดนเมโสโปเตเมีย โดยในการขุดค้นพบโครงกระดูกและชิ้นส่วนกระดูกจำนวนมากในบริเวณสุสานแห่งนี้เมื่อปี 2010 ทางศาสตราจารย์ Hüseyin Metin หัวหน้าทีมขุดค้นเมือง Dara และเป็นคณาจารย์ประจำภาควิชาโบราณคดีของ Kafkas University ให้ความเห็นว่าการค้นพบรูปแบบเฉลียงสุสานและชิ้นส่วนกระดูกจำนวนมากในแหล่งโบราณคดี ทำให้เมืองดารามีความโดดเด่นมากกว่าเมืองอื่นๆ ในแถบอารยธรรมเดียวกัน


จากการศึกษาที่ผ่านมาทำให้ทราบว่าเมืองนี้ถูกก่อตั้งในสมัยอาณาจักรโรมัน รัชสมัยของจักรพรรดิ Anastasius I (491-518 c.) เพื่อใช้เป็นเมืองหน้าด่านทางด้านทิศตะวันออกของอาณาจักรโรมันในการต่อต้านพวกซาซานิด (Sassanid) โดยใช้หินที่ตัดจากเหมืองหินบริเวณทางตะวันตกของเมืองในการก่อสร้างกำแพงขนาดใหญ่ยาว 4 กิโลเมตรล้อมรอบเมือง

ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 6 เมืองนี้เป็นที่รู้จักกันในนาม “อนาสเทซิโอโพลิส” (Anastasiopolis) ที่เป็นเมืองแห่งกำแพงปราการสูงใหญ่และมีแหล่งเก็บน้ำมโหฬาร โดยเฉลียงสุสานเป็นสุสานที่อยู่ติดกับสุสานประจำเมืองที่เรียกว่า “เนโครโพลิส” (Necropolis) ซึ่งอยู่นอกตัวเมือง
การขุดค้นภายในเมืองดารา พบร่องรอยต่างๆ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนรากฐานสถาปัตยกรรมต่างๆ ตั้งแต่โบสถ์, พระราชวัง, ตลาด, บ้านเรือนและบ่อบาดาล, ทางระบายน้ำ ไปจนถึงอ่างเก็บน้ำและสุสานขนาดใหญ่ แสดงถึงการอยู่อาศัยของประชากรจำนวนมาก

จากการวิเคราะห์ทางนิติมานุษยวิทยาแสดงให้เห็นว่าเหล่าบรรดากระดูกเป็นของผู้คนจำนวนกว่า 3,000 คน ส่วนมากมีอายุไม่เกิน 45 ปีขณะที่เสียชีวิต สันนิษฐานว่าโครงกระดูกเหล่านี้เป็นของนักรบที่เข้าร่วมศึกระหว่างโรมันกับชาวเปอร์เซีย ซาซานิดส์ช่วงราวปีคริสต์ศักราช 573

เนื่องด้วยคติความเชื่อเกี่ยวกับการคืนชีพ กระดูกเหล่านี้จึงถูกนำกลับมาจากสนามรบ เพื่อทำการจัดเรียงและทำพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งความเชื่อและพิธีกรรมในรูปแบบเดียวกันยังมีการปฏิบัติกันในวันเสาร์ของโบสถ์กลุ่มความเชื่อแบบไซลิแอค ออธอร์ด็อกซ์ (Syriac Orthodox) หรือกลุ่มคริสต์ศาสนาในพื้นที่เมโสโปเตเมีย โดยทางทีมขุดค้นและอนุรักษ์คาดว่าจะมีการฟื้นฟูและจัดเรียงให้ใกล้เคียงสภาพเดิมภายในเฉลียงสุสาน และยังตระหนักถึงความสำคัญทางด้านมิติความเชื่อและศรัทธาของผู้คนที่ยังหลงเหลือถึงปัจจุบัน

เพื่อรองรับการเข้าชม ทีมงานจัดแสดงจึงต้องทำเปลือกอาคารเป็นกระจกด้านหน้า (glass facade) และทำทางเดินเฉพาะสำหรับเยี่ยมชม และจัดแสงไฟอย่างเหมาะสมเพื่อให้การเข้าชมเป็นไปอย่างสวยงาม เรียบง่าย และรบกวนแหล่งโบราณคดีให้น้อย



โดยปกติแล้วการจัดทำแหล่งโบราณคดีให้เป็นพิพิธภัณฑ์ (Site Museum) อาจต้องเผชิญปัญหากับมุมมองทางด้านมนุษยธรรม โดยเฉพาะแหล่งโบราณคดีประเภทสุสาน แต่ด้วยความเชื่อของคนดั้งเดิมในการมองเรื่องความตายและขนบในการสร้างเฉลียงสุสาน อาจทำให้เราต้องมองอีกมุมว่าเป็นสิ่งยอมรับได้และเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมทางศาสนาในการสวดภาวนาให้กับผู้วายชนม์ดังที่กระทำกันในโบสถ์จนถึงทุกวันนี้
มีโอกาสไปตุรกี ก็แวะเวียนไปชมไซต์นี้ได้ ติดไฟขนาดนี้ไม่น่ากลัวหรอกค่ะ อย่าลืมขอหวยเผื่อด้วย แต่ทางนี้คงไม่ซื้อ กลัวผีหลอก 555
References :
DEMIRÖREN NEWS AGENCY.(AUG 21, 2020).”Unique gallery grave in ancient city of Dara in spotlight“.dailysabah. Available from : https://www.dailysabah.com/arts/unique-gallery-grave-in-ancient-city-of-dara-in-spotlight/news [cited 15/09/2020]
MARDİN – Demirören News Agency.(December 23, 2018).”Gallery grave found in Mardin ‘unique’ in the world“.Hurriyet Daily News. Available from : https://www.hurriyetdailynews.com/gallery-grave-found-in-mardin-unique-in-the-world-139948 [cited 15/09/2020]