King Tut : ตุตันคามุน…ภาพเหมือนที่เราไม่รู้จัก

เชื่อว่าทุกคนจดจำหน้ากากทองคำนี้ได้ นับแต่วันที่โฮเวิร์ด คาร์เตอร์ค้นพบสุสาน KV62 ตั้งแต่ปีค.ศ.1922 หน้ากากนี้แทบจะกลายเป็นดังภาพแทนเมื่อเราพูดถึงอียิปต์ เพราะความอลังการและสมบูรณ์ของโลงศพและเครื่องอุทิศอันเรืองรอง เราจึงรู้สึกถึงความ “ยิ่งใหญ่” และ “สมบูรณ์แบบ” ไปจนถึงอุดมคติถึงฟาโรห์หนุ่มอย่าง “เพ้อฝัน”

แต่ความจริงแล้วชีวิตของตุตันคามุน เจ้าของหน้ากากทองคำนี้เป็นอย่างไร ในความเข้าใจของคนโดยทั่วอาจไม่คุ้นชิน เราอาจทราบว่าสวรรคตตั้งแต่ยังหนุ่ม แต่มัมมี่ของพระองค์บอกเล่าเรื่องราวอีกด้านซึ่งชวนให้รู้สึกดาร์คเหมือนมาจากจักรวาล DC Comics กันเลยทีเดียว

King Tut หรือ Tutankhamun เป็นกษัตริย์หนุ่มที่ครองราชย์ตั้งแต่อายุราว 9-10 ปี และสิ้นลงในวัยเพียง 19 ปีโดยปราศจากทายาท ช่วงระยะเวลาระหว่างรอยต่อตั้งแต่รัชสมัยของบิดาคืออัคเคนาเตน ฟาโรห์ผู้ปฏิรูปวัฒนธรรมอียิปต์โบราณในระยะสั้นจนถึงช่วงสมัยรัชกาลของตุตันคามุน สถานะการเมืองภายในของอียิปต์ค่อนข้างเปราะบาง การติดต่อกับภายนอกก็ไม่ดีนัก ทำให้ต้องมีการปะทะกับต่างประเทศเป็นระยะ และสุดท้ายบัลลังก์ที่ว่างเปล่าไร้รัชทายาทก็ถูกช่วงชิงไปโดยขุนนางที่มีอิทธิพลในเวลานั้น

สิ่งที่เปราะบางมิใช่แค่เพียงภาพรวมของประเทศ แต่เรื่องภายในร่างกายของตุตันคามุนเองนั้นก็เรียกว่าเปราะบางยิ่งกว่าอะไรนักโบราณคดีพยายามหาว่าเหตุใดฟาโรห์หนุ่มพระองค์นี้ถึงได้มีอายุขัยสั้นนัก ข้อสันนิษฐานมีอยู่มากมาย ตั้งแต่โรคมาลาเรีย การถูกปลงพระชนม์ และอื่นๆ อีกมากมาย มัมมี่ของพระองค์จึงผ่านการศึกษาด้วยนวัตกรรมที่หลากหลายเท่าที่แต่ละสมัยจะมีได้ จนถึงปัจจุบัน…วิทยาศาสตร์ช่วยบอกถึงสาเหตุการตายซึ่งมีเรื่องชวนสะเทือนใจ

หากอาศัยการศึกษาด้วย CT Scan ภาพสแกนของมัมมี่แสดงให้เห็นถึงร่องรอยแตกร้าวต่างๆ บนกระดูกหลายจุด ตั้งแต่บริเวณกะโหลกศีรษะที่มีรอยทะลุ บริเวณนี้แต่เดิมเชื่อกันว่าเป็นสาเหตุการตายเพราะมีการ X-ray มัมมี่เมื่อปีค.ศ. 1968 ทำให้สรุปกันเช่นนั้น ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันเผยให้เห็นส่วนที่หนักหนากว่าคือบริเวณช่วงหน้าอก ภาพสแกนทำให้เราเห็นว่ากระดูกซี่โครงนั้นหักแตกหรือหายไปหลายชิ้น ร่องรอยแตกหักขนาดนี้ถ้าเป็นยุคปัจจุบันก็เหมือนถูกรถพุ่งชนอัดอย่างแรงก็ว่าได้

อีกจุดที่น่าสนใจคือบริเวณเท้าของตุตันคามุนที่มีกระดูกเท้าข้างซ้ายที่มีลักษณะของส่วนโค้งของกระดูกฝ่าเท้าในแนวยาว (Medial longitudinal arch) ที่สูงกว่าเท้าปกติทั่วไป กระดูกนิ้วเอียงงอเข้าด้านใน แสดงอาการคล้ายคลึงโรคทางพันธุกรรมที่เรียกว่าโรคเท้าปุก ข้อสันนิษฐานนี้เริ่มมีน้ำหนักด้วยการศึกษารหัสพันธุกรรมหรือ DNA เมื่อปีค.ศ.2010 ซึ่งตีพิมพ์ผ่าน Journal of the American Medical Association เมื่อทางการอียิปต์เปิดไฟเขียวให้นักพันธุกรรมมีโอกาสได้ศึกษามัมมี่เพื่อหาแผนที่ความเชื่อมโยงทางเครือญาติ เพื่อจะพบว่าฟาโรห์หนุ่มมีความผิดปกติทางพันธุกรรมอันเป็นผลจากการสมรสภายในเครือญาติใกล้ชิด

ภาพเท้าทั้งสองข้างของมัมมี่ตุตันคามุน credit : https://www.bendbulletin.com/localstate/frail-king-tut-died-from-malaria-broken-leg-new-test-results-show/article_cecc603a-581d-51ab-8de3-ac70e734d710.html

นอกจากการตรวจสอบรหัสพันธุกรรมแล้ว ยังมีการศึกษาเซลล์เพื่อรับรองสมมติฐานการตายจากโรคระบาดอื่นๆ ในยุคโบราณ อาทิ มาลาเรีย โดยเมื่อทำการตรวจสอบก็พบร่องรอยของการติดเชื้อมาลาเรียของตุตันคามุนมาก่อน และหากนั่นยังไม่เลวร้ายพอสำหรับชีวิตของชายหนุ่มคนหนึ่ง การศึกษารอยบาดเจ็บที่พบบนกระดูกเท้าก็แสดงให้เห็นว่าฟาโรห์ของเรานั้นน่าจะมีอาการติดเชื้อจากบาดแผลส่งผลให้เกิดการตายของเนื้อเยื่อ เพราะจากบริเวณนั้นนักวิทยาศาสตร์ไม่เห็นร่องรอยการประสานกันของกระดูกหรือการเยียวยาต้นเองของเนื้อเยื่ออย่างคนปกติ การบาดเจ็บเช่นนี้ทำให้พระองค์ต้องอาศัยไม้เท้าในการพยุงตัว สอดคล้องกับโบราณวัตถุที่พบภายในสุสานของพระองค์เองซึ่งบางชิ้นมีร่องรอยของการใช้งาน

ภายใต้หน้ากากสีทองสวยงามนั้น ตุตันคามุนเป็นฟาโรห์หนุ่มผู้ทุกข์ทรมานด้วยทั้งปัญหาทางกายอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้ทรงมีพระชนมายุสั้น ส่วนเรื่องทางใจนั้นเราอาจไม่สามารถมองเห็นได้ แต่ในช่วงเวลาอันแสนโกลาหลนั้น เราคงจินตนาการได้ไม่ยากว่าต้องอยู่อย่างลำบากเพียงไรในฐานะของเจ้าผู้ปกครองแผ่นดิน

 


References:

Hawass Z, Gad YZ, Ismail S, et al. Ancestry and Pathology in King Tutankhamun’s Family. JAMA. 2010;303(7):638–647. doi:10.1001/jama.2010.121
Hussein K, Matin E, Nerlich AG (2013).Paleopathology of the juvenile Pharaoh Tutankhamun-90th anniversary of discovery.Virchows Arch
Ker Than.(17 February 2010). “King Tut Mysteries Solved: Was Disabled, Malarial, and Inbred”. National Geographic. Available from: https://www.nationalgeographic.com/news/2010/2/100216-king-tut-malaria-bones-inbred-tutankhamun/ [Cited 25/08/2020]
Stefan Lovgren.(1 December,2006).“King Tut Died From Broken Leg, Not Murder, Scientists Conclude”.National Geographic.Available from: https://www.nationalgeographic.com/news/2006/12/king-tut-died-from-broken-leg–not-murder–scientists-conclude/ [Cited 25/08/2020]

ใส่ความเห็น

Please log in using one of these methods to post your comment:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.