#BRIDGERTONS : ฤดูสังคม? ฤดูไหน? ใครเริ่ม?

1 ในฉากหลักของซีรีส์บริดเจอตันคงไม่พ้น “หน้าฤดูสังคม” หรือ The season ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาแห่งการปาร์ตี้สังสรรค์ เต้นรำ และหาคู่ของไฮโซ แต่เอ๊ะ…แล้วหน้าสังคมนี่มันหน้าไหน? เริ่มฤดูกันตอนไหนนะ?

ในตอนแรกของซีซั่น 1 ดาฟนี บริดเจอตัน ลูกสาวคนที่ 4 ของบ้านบริดเจอตันได้เปิดตัวพร้อมฉายแสงในฤดูเข้าสังคมของลอนดอน และต้องมองหาคู่ครองที่เพียบพร้อมจะดูแลเธอทั้งชีวิต ทั้งดำรงเกียรติยศวงศ์ตระกูลไปพร้อมๆ กับการวางรากฐานชีวิตคู่ที่ดีแก่น้องสาวอีกหลายคน

ส่วนในซีซั่น 2 ก็คงไม่พ้นการที่แอนโธนี่ บริดเจอตันที่ควรจะแต่งงานได้แล้วเริ่มมองๆ หาสาวในอุดมคติด้วยแนวคิดที่จะเลิกใช้หัวล่าง เอ้ย!! หัวใจในการเลือกและใช้การคิดเยอะเข้ามาแทนที่ แน่นอนว่าโอกาสพบปะสาวๆ ไฮโซนั้นก็ต้องอาศัยมองหาจากกิจกรรมงานต่างๆ ช่วงฤดูสังคมเช่นเดียวกัน

Copyright ©Netflix & Shondaland

The Social season
หรือ The Season

จึงเปรียบเสมือนงานนัดบอดให้หนุ่มสาวตระกูลผู้ดี
ได้มีโอกาสพบเจอกับทำความรู้จักกัน
โดยเฉพาะสำหรับสาวๆ ที่มีอายุถึงเกณฑ์แต่งงาน
และผ่านการเข้าเฝ้าพระราชินี
ช่วงฤดูสังคมในช่วงปีแรกของการเปิดตัวจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก
ต้องพยายามสร้างภาพลักษณ์ที่ดี
เพื่อจะได้ต้องตาชายหนุ่มโปรไฟล์เริ่ดเข้าสักคน

เมื่อไหร่ที่เรียกว่าฤดูสังคม?

นิยามของหน้าสังคมสันนิษฐานว่ามีการพัฒนามาจากระยะเวลาที่สมาชิกสภาอันประกอบด้วยเหล่าขุนนางต้องเข้าเมืองมาประชุมกัน ในระหว่างนั้นมีการพาสมาชิกครอบครัวร่วมเดินทางมาลอนดอนด้วย การไหล่บ่าของชนชั้นสูงเหล่านี้ที่แห่กันเข้ามาสิงในบ้านหลังย่อมในลอนดอนจึงกลายมาเป็นช่วงเวลาแห่งการสังสรรค์ กำหนดการเวลาการประชุมอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละสมัย แต่มักจัดขึ้นหลังเทศกาลคริสต์มาสและจบลงที่กลางฤดูร้อนปีถัดไป

จากบันทึกประวัติของ Georgiana, Duchess of Devonshire ได้ระบุว่าเปิดฤดูกาลกันตอนปลายเดือนตุลาคมและสิ้นสุดในฤดูร้อนเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นไปตามกำหนดการประชุมสภาที่ดำเนินในช่วงนั้น

ส่วนในบทความของ The Penny Magazine พิมพ์เมื่อปีค.ศ. 1837 ระบุไทม์ไลน์ที่ใกล้กัน แต่กล่าวว่าเริ่มในฤดูหนาวอย่างเดือนพฤศจิกายนและสิ้นสุดเดือนพฤษภาคม ล้อไปกับระยะช่วงประชุมสภาเหมือนกัน และยังระบุถึงความไม่แน่นอนและการเปลี่ยนแปลงฤดูสังคม อย่างตั้งแต่ปีค.ศ.1806 ช่วงฤดูสังคมจะอยู่ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน – มกราคม แต่หลังจากปีค.ศ.1822 มีการเลื่อนช่วงไปจัดกันในฤดูใบไม้ผลิ-ฤดูร้อนอย่างเดือนกุมภาพันธ์แล้วไปสิ้นสุดที่เดือกกรกฎาคมหรือต้นเดือนสิงหาคมแทน

Copyright ©Netflix & Shondaland

ช่วงหน้าสังคมนี้ไม่ได้เป็นเพียงช่วงเวลาหาคู่ของหนุ่มสาวที่ยังโสด แต่ยังเป็นช่วงเวลาแห่งการสร้างพันธมิตร แลกเปลี่ยนการติดต่อ ไปจนถึงการเจรจาธุรกิจ-ธุรกรรมต่างๆ ด้วย

ช่วงหลังงานประชุมสภาและตอนท้ายๆ ของฤดูสังคมในช่วงเดือนมิถุนายนจนถึงสิงหาคมจะเป็นช่วงที่ขุนนางทยอยเดินทางออกจากลอนดอนเพื่อกลับไปยังภูมิลำเนาที่ดินของตน หรืออาจจะเริ่มท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจในต่างแดน

โฆษณา

การเปิดตัวสู่แวดวงสังคมของหญิงสาวผู้ดี (Debutante)

Copyright ©Netflix & Shondaland

ตามธรรมเนียมแล้ว บุตรสาวตระกูลขุนนางเมื่อถึงวัยออกเรือนหรือถือว่าบรรลุนิติภาวะแล้วในช่วงอายุ 16 ปี พวกเธอต้องเข้าเฝ้าในราชสำนัก และจะถือว่าเป็นการเปิดฤดูกาลใหม่ของแวดวงสังคม การ “เดบิวตอง” (Debutante) จึงถือเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างชื่อเสียงในหมู่ผู้ดีด้วยการสร้างความประทับใจแก่ราชนิกุล และช่วยเพิ่มราคาในตลาดหาคู่ของเธอด้วย

ในซีซั่นแรกเปิดตอนแรกด้วยฉากเดบิวตองของดาฟนี นางเอกของซีซั่นที่สร้างความประทับใจให้กับพระราชินีชาร์ล็อตจนต้องตรัสว่าเธอคือ “เพชรน้ำหนึ่งของฤดูนี้” ในขณะที่เอโลอีสน้องสาวคนรองได้รับการผ่อนปรนจากมารดาให้ขยายเวลาเตรียมตัวออกสังคมของเธอไปอีกหน่อย การตัดสินใจในการเข้าสังคมของสาวๆ เหล่านี้มักอยู่ในมือของผู้ปกครองเป็นหลัก หากได้รับการยินยอมพวกเธอก็จะถูกมารดาพรีเซ้นท์ตัวต่อราชสำนักและเริ่มตระเวนออกงานสังคมในฐานะ “ผู้ใหญ่” ได้ นั่นทำให้การเดบิวตองของพวกเธอเหมือนเป็นพิธีการบรรลุนิติภาวะอย่างหนึ่ง

ทว่าในงานวรรณกรรมร่วมสมัยยุครีเจนซี่อย่าง Pride & Prejudice ของ Jane Austens กลับแสดงข้อยกเว้นประหลาดๆ ของครอบครัวเบนเน็ต บ้านของอลิซาเบธ นางเอกของเรื่อง ครอบครัวเบนเน็ตเลือกให้ลูกสาวที่ยังไม่ถึง 16 ปีให้ร่วมงานเลี้ยง ซึ่งไม่ใช่ปกติวิสัยของคนทั่วไป ถ้าหากเหตุดังกล่าวเขียนขึ้นด้วยบริบทตามขนบทางสังคม เราอาจมองได้อีกว่าบางครั้งก็เกิดกรณียกเว้นเช่นนี้ได้

Copyright ©Netflix & Shondaland

การเปิดตัวแบบนี้ใครๆ ก็คงรู้สึกเหมือนกันว่ามันคือการถูกพาตัวเข้าสู่ตลาดหาคู่ดีๆ นี่เอง และเป็นตลาดที่ทุกคนจะต้องพยายามเสาะหาคู่ครองสมน้ำสมเนื้อ ราวกับว่ามันคือเกมกีฬาอย่างหนึ่งที่หนุ่มสาวผู้ดีเหล่านี้จะแข่งขันกันนอกเหนือไปจากการลงเล่นกีฬาในสนามจริงๆ และจะต้องชนะให้ได้

การเปิดตัวของสาวๆ มักลงท้ายด้วยค่าใช้จ่ายแพงแสนแพง เพราะพวกเธอจะถูกประโคมด้วยแฟชั่นหรูหราเท่าที่ครอบครัวจะพอจับจ่ายได้ ซึ่งมีราคาตั้งแต่ผ้าไหม ซาติน งานปักต่างๆ ไปจนถึงชุดเครื่องเพชรละลานตาอันเป็นสมบัติของตระกูลที่ใช้ในโอกาสพิเศษ ในขณะที่การออกตัวของท่านชายยังไม่อาจทัดเทียมได้ นอกจากค่าใช้จ่ายที่ลงกับเครื่องแต่งกายแล้ว หากตั้งใจให้หญิงสาวออกเรือนสักที ครอบครัวฝ่ายหญิงต้องมีการเตรียมสินสมรส (Dowries) สำหรับติดตัวไปในการสมรส ซึ่งจำนวนของสินเดิมหรือสินสมรสของสตรีก็เป็นอีกปัจจัยที่สุภาพบุรุษใช้พิจารณาสู่ขอ

แต่หากไม่มีมารดาคอยช่วยสนับสนุนและนำเสนอตัวลูกสาวแก่ราชสำนัก หน้าที่ในการพาไปเปิดตัวเหล่านี้อาจตกไปในมือของญาติผู้ใหญ่คนอื่นๆ แทน หรืออาจจะเป็นการขอให้คนที่มีฐานะดีช่วยผลักดันแทนก็ได้ ดังจะเห็นได้จากกรณีของมารีน่าที่ต้องอาศัยเลดี้เฟทเธอริงตันช่วยพาออกงานสังคม

ความคาดหวังหลังการเปิดตัวอย่างแรกคงหนีไปพ้นการขายออกตามที่กล่าวมา แถมพ่วงไปด้วยว่าสาวเจ้าควรได้สามีก่อนที่น้องๆ คนอื่นจะเปิดตัวบ้าง เพราะนอกจากจะดูเป็นสาวเถือกลัวจะขึ้นคานแล้ว น้องสาวก็อาจถูกมองอย่างด้อยค่า นำพาซึ่งชื่อเสียงวงศ์ตระกูลต้องพลอยริบหรี่ตามไปด้วย

เฮ้อ…เกิดเป็นสาวผู้ดีนี่มันลำบากเรื่องผัวจริ๊งงงจริงงงง!”


โฆษณา

อ่านเรื่องราวอื่นๆ เกี่ยวกับ Bridgerton และยุครีเจนซี่…

References:

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.