ปลายเดือนตุลาคมมีเทศกาลหนึ่งที่คนทั่วโลกรอคอยจะร่วมสนุกโดยการแต่งตัวเลียนแบบผีสางนางไม้และปีศาจ หลายคนทำตามกันมาโดยหลงลืมไปแล้วว่า Halloween หรือ All Hollows’ eve เป็นการรับเอาเทศกาลโบราณมาปรับกลืนเป็นเทศกาลในศาสนาคริสต์ งานฉลองที่แต่เดิมเคยชื่อว่า Samhain
ฮาโลวีนมีที่มาจากเทศกาลโบราณของชาวเคลท์ (Celts) วัฒนธรรมโบราณยุคโลหะที่กระจายตัวในทวีปยุโรปไปจนถึงหมู่เกาะอังกฤษ เทศกาลนี้มีชื่อว่า “ซาวอิน” หรือ “ซาห์วิน” (Samhain) ตรงกับช่วงเวลาระหว่างวันศารทวิษุวัต (Autumn equinox) กับวันเหมายัน (Winter solstice) โดยเชื่อว่าเป็นช่วงรอยต่อระหว่างช่วงสว่างกับช่วงมืดของปี และเป็นช่วงที่เส้นแบ่งของโลกมนุษย์กับโลกวิญญาณบางเบาจนทำให้มนุษย์สามารถท่องไปในโลกวิญญาณหรือสิ่งเหนือธรรมชาติสามารถออกมาเดินในโลกมนุษย์ได้เช่นกัน

เทศกาลซาวอินมีประเพณีต่างๆ ที่กลายมาเป็นแบบแผนของวัฒนธรรมชาวคริสต์ภายหลังมากมาย ในไอร์แลนด์คำว่า Samhain ยังเป็นชื่อเรียกปัจจุบันของเดือนพฤศจิกายนด้วย เมื่อชาวเคลท์ถูกปกครองและดูดกลืนวัฒนธรรมเข้ากับโรมัน รูปแบบประเพณีดั้งเดิมจึงหลงเหลืออยู่ตามดินแดนห่างไกลจากโรม โดยเฉพาะในไอร์แลนด์ที่ยังคงหลงเหลือหลักฐานความเชื่อเกี่ยวกับศาสนาโบราณมากมาย โดยมักข้องเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดียุคโลหะต่างๆ อาทิ เนินดินหรือยอดเขาศักดิ์สิทธิ์ สถานที่สำคัญที่สะท้อนถึงความเชื่อดังกล่าวคือเนินเขาของวาร์ด (Hill of Ward) ชื่อเดิมในภาษาไอริชคือ “แครกด้า” (Tlachtga) หรือเนินแห่งตารา (Hill of Tara) ซึ่งยังมีการประกอบพิธีกรรมกันอยู่ในปัจจุบัน

เทศกาลซาวอินเป็น 1 ใน 3 เทศกาลสำคัญของชาวเคลท์ ตามประเพณีแล้วจะต้องมีการก่อกองไฟขนาดใหญ่หรือ Bonfire เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองให้ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้และใช้การเผาเพื่อบูชายัญ ไฟที่ก่อขึ้นนี้จะถือว่าเป็นไฟศักดิ์สิทธิ์ ในแต่ละบ้านในชุมชนจะทำการจุดคบเพลิงแล้วนำกลับไปจุดไฟในเตาหรือกองไฟของบ้านตน ลักษณะของธรรมเนียมเกี่ยวกับไฟทั้งยังข้องเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์และความตายนี้เอง ทำให้เข้าใจได้ว่าเทพที่เกี่ยวข้องกับพิธีดังกล่าวคงเป็นเทพเจ้าแห่งไฟและแสงสว่าง ไปจนถึงเทพแห่งพื้นดินและเทพแห่งความตายด้วย การนำไฟใหม่ไปแทนที่ไฟเก่าเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นใหม่ ไฟศักดิ์สิทธิ์จะไปปัดเป่าเอาสิ่งไม่ดีออกไปจากบ้าน เหตุนี้เทศกาลซาวอินจึงเหมือนปีใหม่ของชาวเคลท์

ผลผลิตต่างๆ นั้นจะถูกเก็บเกี่ยวช่วงปลายฤดูใบไม้ร่วง นั่นรวมถึงการเชือดสัตว์เพื่อเตรียมกักตุนตลอดฤดูหนาว ทำให้เกิดธรรมเนียมการบูชายัญบางส่วนให้กับเทพเจ้า เพื่อเป็นการตอบแทนความอุดมสมบูรณ์ที่ได้รับ พิธีกรรมดังกล่าวอาจสืบย้อนไปถึงยุคสังคมเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ (Pastoral stage) โดยปรากฏเป็นพิธีกรรมบูชายัญสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่มีความใกล้เคียงกับพิธีกรรมซาวอิน คือการเชือดสัตว์และนำหนังหรือศีรษะของสัตว์นั้นมาสวมใส่ เช่นในพิธีกรรมที่ปฏิบัติกันในโรมันกอล ช่วงวันที่ 1 ของเดือนมกราคม ซึ่งถือว่าเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองที่สันนิษฐานว่ามีรากฐานมาจากวัฒนธรรมของชาวเคลท์ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากรูปแบบของการฉลอง การก่อกองไฟศักดิ์สิทธิ์เพื่อปัดเป่าโชคร้าย และการรับศีลศักดิ์สิทธิ์ผ่านการบริโภคเนื้อสัตว์ในพิธี ก็อาจกล่าวได้ว่าพิธีกรรมในเทศกาลซาวอินก็คงไม่ผิดแผกไปจากกันเท่าใดนัก และยังเป็นแนวทางเดียวกับเทศกาลยูล (Yule) ซึ่งเป็นงานฉลองกลางฤดูหนาว วันสำคัญอีกวันที่ถูกผนวกเข้ากับประเพณีของชาวคริสต์
ตามตำนานของชาวไอริชซึ่งยังคงรูปแบบความเชื่อโบราณก่อนการมาของคริสต์ศาสนากล่าวว่าในเทศกาลซาวอินนี้ ตามปกรณัมเล่าว่าเป็นช่วงที่เผ่าพันธุ์เทพที่ชื่อว่า “ทัวฮา เด ดานึนน์” (Tuatha Dé Danann) ทำสงครามกับพวกฟอมอเรียน (Fomorian) เผ่าพันธุ์อมนุษย์อีกพวกที่มักมีรูปร่างประหลาดหรือน่ากลัว ชื่อของเผ่านี้ยังไม่สามารถระบุความหมายแน่ชัด แต่มีข้อเสนอเกี่ยวกับความหมายหลักๆ คือพวกที่มาจากใต้พิภพหรือทะเล ทำให้ดูมีความใกล้เคียงกับปีศาจจากมุมมองของวัฒนธรรมอื่น อย่างไรก็ตามตัวตนของฟอมอเรียนอยู่ตรงข้ามกับเผ่าเทพเจ้าของไอริชที่มักเป็นด้านสว่าง ในขณะที่ฟอมอเรียนจะเป็นสิ่งเหนือธรรมชาติที่เป็นด้านมืด
ชาวเคลท์ซึ่งเป็นกลุ่มวัฒนธรรมช่วงยุคโลหะเชื่อว่าในปีหนึ่งๆ จะมีช่วงสว่างของปีกับช่วงที่มืดของปี การก้าวผ่านระหว่าง 2 ช่วงจึงมักเป็นเวลาที่เปราะบางอย่างในกรณีของสิ้นฤดูการเก็บเกี่ยว เป็นเวลาที่พืชอื่นๆ ตายลงและสัตว์ต่างๆ หนีไปจำศีล โลกเสมือนปราศจากชีวิต ชาวเคลท์จึงมองว่าเทศกาลนี้เกี่ยวข้องกับความตาย เป็นวันแห่งการเปลี่ยนผ่าน เหล่านักบวชจึงต้องมีการบวงสรวงเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของโลกมนุษย์ ก่อนที่ประเพณีจะถูกกลืนเข้าเป็นอีกวันสำคัญของคริสต์ศาสนาที่มาภายหลัง
กองไฟในงานซาวอินนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นสัญลักษณ์แทนพระอาทิตย์ เพราะผ่านการประกอบพิธีกรรมโดยนักบวช ทั้งยังก่อขึ้นเพื่อเพิ่มพลังให้ดวงตะวันด้วย แสงไฟนั้นจึงมีผลด้านการชำระล้างสิ่งไม่ดีและช่วยส่งเสริมโชค ไฟเหล่านี้จะถูกจุดต่อกันเพื่อนำไปให้ชาวบ้านเพื่อชำระล้างบ้านเรือนและคุ้มครองให้อยู่รอดปลอดภัยทั้งระหว่างเทศกาลซาวอินและตลอดฤดูหนาว

ในเวลส์ (Wales) มีการละเล่นโดดข้ามกองไฟศักด์สิทธิ์ เชื่อกันว่าการทำแบบนี้จะช่วยปกป้องเขาจาก “นางหมูดำ” (Black sow) สิ่งชั่วร้ายที่กินวิญญาณมนุษย์ มักปรากฏเป็นหมูตัวเมียตัวสั้นสีดำ บางคนว่ามันเดินสองขาอย่างคน แต่บางตำนานหลอนกว่าคือการมาในร่างของสตรีไร้หัว ถึงการโดดข้ามไฟจะช่วยให้รอดพ้นจากนางหมูดำ แต่ถ้ากองไฟศักดิ์สิทธิ์มอดลงแล้วล่ะก็… แม่หมูจะมาตามล่าคนที่ยังอยู่ตรงลานพิธีนั่นเอง นางหมูดำในตำนานนี้อาจหมายถึงพวกฟอมอเรียนก็ได้ หรือหากคิดอีกทางหนึ่ง นั่นคือเทพท้องถิ่นในกอล (พื้นที่ของฝรั่งเศสปัจจุบันและใกล้เคียง) ที่ถือว่าเป็นเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์บางองค์จะมีรูปร่างอย่างหมูป่า เช่นเทพมอคคัส (Moccus) การละเล่นดังกล่าวก็เหมือนแผลงมาจากจุดกำเนิดของเทพสุกรป่าเหล่านั้น ค่อยๆ เปลี่ยนความหมายจนกลายเป็นอย่างปัจจุบัน
ธรรมเนียมโดดข้ามกองไฟนี้ นักวิชาการบางกลุ่มมองว่าอาจเป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบของพิธีบูชายัญมนุษย์ในวัฒนธรรมยุคโลหะ สอดคล้องกับพิธีกรรมของเหล่าดรูอิด นักบวชในศาสนาโบราณของชาวเคลท์ที่ประกอบพิธีกรรมด้วยกองไฟและมีการบูชายัญสิ่งมีชีวิตเพื่อบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ บางครั้งก็มีการบูชายัญมนุษย์ด้วย การฆ่าเพื่อถวายต่อเทพเจ้ายังปรากฏในไอร์แลนด์อีกแห่ง โดยผู้ถูกเลือกจะถูกมองว่าเป็นภาพสะท้อนของความอุดมสมบูรณ์ที่เทพมอบให้และจะต้องส่งคืนบางส่วนกลับไป หรือเปรียบผู้ถูกเลือกว่าเป็นจิตวิญญาณของพืชผลที่ต้องตายลงในช่วงนี้เพื่อรอการเกิดใหม่ในฤดูใบไม้ผลิ ธรรมเนียมนี้สอดคล้องกับการที่ชาวยุโรปโบราณมองว่าช่วงนี้เป็นช่วงเวลาของความตาย วิญญาณของสิ่งต่างๆ ในโลกต่างวนเวียนหนาแน่นรายล้อมเหล่ามนุษย์ รวมถึงผู้วายชนม์ซึ่งถูกบูชายัญในวันดังกล่าวด้วย
อีกความเชื่อที่มาจากทางตอนเหนือของเวลส์ ที่มีธรรมเนียมจุดกองไฟไว้ในใกล้บ้าน เมื่อไฟมอดลงแล้วสมาชิกในบ้่านจะหาหินสีขาวมาทำเครื่องหมายของใครของมัน แล้วจึงโยนลงไปในกองเถ้า เช้าวันต่อมาหากหินของใครมีเครื่องหมายหายไป แสดงว่าเจ้าของหินนั้นแหละจะมีชีวิตรอดไม่ถึงฮาโลวีนปีหน้า
ในการจุดไฟศักดิ์สิทธิ์ยังมีความเชื่อพื้นบ้านเกี่ยวกับข้อห้ามบางประการ มักจะเกี่ยวกับวัตถุในกองไฟและภัยจากภัยหลังไฟมอด อย่างในการก่อกองไฟจะมีการใช้หินก่อเป็นทรงกลม หินนี้ถ้ามีใครหยิบออกไปจากกองไฟก่อนเวลาในเช้าวันถัดไป คนคนนั้นจะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้เกิน 1 ปีนับจากวันนั้น เช่นเดียวกับ 2 เรื่องราวแรก การยังอยู่รอบกองไฟที่เคยมีพลังชำระล้างแต่มอดดับไปแล้ว ก็เหมือนเปลี่ยนจากการได้โชคเป็นความอัปมงคลในที่สุด

ธรรมเนียมของการแจกจ่ายขนมนั้นคงมาจากประเพณีของการทำขนมที่เรียกว่า “โซลเค้ก” (Soul-cakes) ที่แต่ละบ้านจะอบขนมนี้ไว้นำมาแจกจ่ายให้คนที่มาเยือนบ้าน โดยเฉพาะผู้ยากไร้ จากขนมอบก็กลายมาเป็นสารพัดแบบ ตามแต่ที่เจ้าของบ้านจะเลือกสรร
เมื่อศาสนาคริสต์กลายมาเป็นศาสนาหลักของชาวสหราชอาณาจักร เทศกาลซาวอินจึงกลายมาเป็นคืนของวัน All Saints day (วันสมโภชนักบุญทั้งหมด) ที่ตรงกับวันที่ 1 พฤศจิกายน เรียกคืนวันดังกล่าวว่า All Hallows eve ซึ่งคงหมายถึงคืนศักดิ์สิทธิ์ วัตถุประสงค์ในการกลืนเทศกาลแห่งวิญญาณหรือความตายของศาสนานอกรีตกลับไม่เป็นผลสำเร็จถ้วนดีนัก สุดท้ายชาวคริสต์ก็จำเป็นต้องเพิ่มเทศกาลแห่งความตายเป็นวันที่ 2 พฤศจิกายน ต่อจากคืนสมโภชนักบุญ เรียกว่า All Souls’ day (วันแห่งวิญญาณ) ก่อนที่วัน All Hallows eve จะค่อยๆ กร่อนจนกลายเป็นคำว่า Halloween (ฮาโลวีน) และถูกพาข้ามน้ำข้ามทะเลมาเผยแพร่ในดินแดนอื่นจนกลายเป็นเทศกาลที่คนทั่วโลกรู้จักกันในที่สุด

References :
- Evans,K.(October 30, 2014).Tlachtga: The Birthplace of Hallowe’en?.DigVentures.Retrieved 31 October 2022, from https://digventures.com/2014/10/tlachtga-the-birthplace-of-halloween/amp/
- Haggerty, B.(n.d.).Samhain – The Irish New Year.Irish Culture and Customs.Retrieved 31 October 2022, from https://www.irishcultureandcustoms.com/ACalend/Samhain.html
- Halloween Legends – The Cutty Black Sow.(September 9, 2019).From Tiny Pennies.Retrieved 31 October 2022, from https://fromtinypennies.com/2019/09/09/halloween-legends-the-cutty-black-sow/
- History.com Editors.(April 6, 2018).Samhain.HISTORY.Retrieved 31 October 2022, from https://www.history.com/topics/holidays/samhain
- Macbain, A.(1885).Celtic Mythology and Religion.Inverness: A&W Mackenzie.
- McCafferty,H.(October 4, 2016).There is something special about Ireland’s Ancient East at Halloween.Independent.Retrieved 31 October 2022, from https://www.independent.ie/editorial/StoryPlus/storyplus-there-is-something-special-about-irelands-ancient-east-at-halloween/
- McCann, N.(October 30, 2014).Hill of Ward: Did Halloween begin on ‘magical’ ancient site?.BBC.Retrieved 31 October 2022, from https://www.bbc.com/news/uk-northern-ireland-29785031
- Macculloch, J. (2020). The Religion of the Ancient Celts. Global Grey.
- Smith,H.(September 28, 2020).Samhain.World History.Retrieved 31 October 2022, from https://www.worldhistory.org/Samhain/
- Mullally,E.(December 2016).Samhain Revival.Archaeology Magazine.Retrieved 31 October 2022, from https://www.archaeology.org/issues/232-1611/features/4940-ireland-halloween-roots

One thought on “Samhain | เทศกาลปีใหม่ของชาวยุโรปโบราณ”