สำหรับคนที่ดูซีรี่ส์เรื่อง “เดอะ แซนด์แมน” แต่ยังไม่คุ้นกับเรื่องความเชื่อของชาวยุโรปอาจจะยังงงๆ ว่าเทพแห่งฝันทำไมต้องมีถุงทรายไว้โปรยปรายให้ผู้คนหลับใหล ในตอนนี้เราจะพาดำดิ่งจากโลกแฟนตาซีเข้าไปในตำนานท้องถิ่นของ The Sandman

แซนด์แมน (Sandman) เป็นตำนานพื้นบ้านของแถบสแกนดิเนเวีย เรื่องของเอล์ฟประจำบ้านผู้ที่มีหน้าที่ส่งเด็กๆ ให้นอนหลับฝันดีด้วยการเป่าทรายในมือใส่เปลือกตาของเด็กที่ไม่ยอมเข้านอน ทรายวิเศษของแซนด์แมนจะมีผลทำให้คนที่ถูกเป่าเข้าสู่ภาวะหลับใหล และสามารถนอนหลับฝันดีตลอดทั้งคืน แล้วถ้าหากเด็กคนนั้นตื่นขึ้นมาโดยมีขี้ตาล่ะก็…นั่นคือหลักฐานว่าเมื่อคืนแซนด์แมนได้มาหาเขา
เรื่องของแซนด์แมนที่ถูกบันทึกในเอกสารเริ่มปรากฏในพจนานุกรมภาษาเยอรมันช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 เพื่อเป็นการอธิบายสำนวนเยอรมันที่ว่า “der Sandmann kommt” (เดียร์ ซันมันน์ คอพท์) แปลเป็นไทยได้ว่า “แซนด์แมนมาแล้ว” เป็นประโยคที่ใช้หยอกเด็กๆ ตอนเข้านอนแต่ยังลืมตาแป๋วอยู่ไม่ยอมหลับ แต่ในพจนานุกรมไม่ได้ให้รายละเอียดว่าแซนด์แมนเป็นอะไร หรือทำอย่างไรถึงทำให้เด็กหลับได้
งานเขียนแรกที่กล่าวถึงกิจกรรมที่แซนด์แมนทำเป็นเรื่องสั้นตีพิมพ์ปีค.ศ. 1818 โดยนักเขียนเยอรมันชื่อว่า E.T.A Hoffman แต่ “Der Sandmann” (เดียร์ ซันมันน์) ของฮอฟฟ์แมนให้ภาพของเอล์ฟที่ดูน่ากลัวมากขึ้น เนื้อเรื่องเล่าโดยพี่เลี้ยงเด็กขี้หงุดหงิดเล่าเรื่องสิ่งประหลาดที่จะมาโปรยทรายใส่ตาของเด็กน้อยที่ไม่ยอมนอน ทำให้ลูกตานั้นหลุดออกจากเบ้าทำให้แซนด์แมนสามารถเก็บลูกตาพวกนั้นใส่กระสอบแล้วพากลับไปที่บ้านของเขาที่ด้านมืดของดวงจันทร์ เพื่อเลี้ยงลูกๆ ด้วยตาของเด็กมนุษย์
ฟังดูค่อนข้างน่าขนลุกกว่าเรื่องของเอล์ฟประจำบ้านเยอะเลย คงเพราะนักเขียนจงใจเอาตำนานพื้นๆ มาดัดแปลงให้ดูน่ากลัวขึ้น เพราะเรื่องราวต่อจากนี้ค่อนข้างจะคล้ายกับนิยายสยองขวัญทั่วๆ ไปที่ผูกปมบนเรื่องเล่า ก่อนที่ตัวละครจะค้นหาหนทางหลบหนีไปจากสัตว์ประหลาดน่ากลัว หากเล่าไปมากกว่านี้ก็จะดูสปอยล์คนที่อยากลองอ่าน ดังนั้นขอจบเรื่องงานของฮอฟฟ์แมนไว้แค่นี้
ตำนานของแซนด์แมนถูกนักประพันธ์นิทานชาวดัตช์อย่างฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน (Hans Christian Andersen) รวมเอาไว้ในหนังสือนิทาน ชื่อเรื่อง Ole Lukøje (โอเล่ ลุคออยเย่) กล่าวถึงตัวละครโอเล่ ลุคออยเย่ที่ตัวตนจริงคือเทพแห่งความฝัน โอเล่ ลุคออยเย่จะมีความสามารถพิเศษในการทำให้เด็กหลับด้วยการเทผงวิเศษลงบนเปลือกตาของเด็กให้หนักพอที่จะไม่ลืมตาขึ้นมาพบเห็นเขา

คุณสมบัติของโอเล่ ลุคออยเย่เป็นอย่างเดียวกับตำนานแซนด์แมนของสแกนดิเนเวีย แต่มีการบรรยายถึงลักษณะของแซนด์แมนว่าเป็นชายในเสื้อคลุมยาวที่ยากจะบอกสีได้แน่ชัด อาจเป็นสีเขียวแล้วก็เปลี่ยนเป็นสีแดง หันอีกทีจากแดงเป็นน้ำเงิน กล่าวได้ว่ามันเปลี่ยนสีไปในการขยับตัวในแต่ละครั้ง แซนด์แมนเดินอย่างเงียบจนไม่มีเสียงด้วยสวมถุงเท้า ทำให้ยากที่จะมีคนสังเกตเห็นการมาเยือนของเขา เขาหนีบร่มเอาไว้ใต้วงแขนสองข้าง มีไว้เพื่อคลี่ออกให้เด็กๆ เพื่ออำนวยฝัน ร่มคันนึงคลี่ออกมาจะมีรูปภาพสำหรับให้เด็กดี พวกเขาจะหลับโดยพบเรื่องราวความฝันสวยงามตลอดคืน ส่วนอีกคันไม่มีรูปใดๆ เลย ไว้ใช้กับเด็กดื้อ เมื่อคลี่ใส่แล้วเด็กคนนั้นจะหลับสนิททั้งคืนโดยปราศจากความฝัน
แซนด์แมนของแอนเดอเซนยังมีลักษณะเด่นอีกอย่างคือเป็นเจ้าแห่งเรื่องราว เขามีนิทานมากมายที่อยากเล่าให้เด็กๆ ฟัง แต่ปัญหาคือเขาชอบให้เด็กเงียบ การทำให้พวกเด็กๆ หลับเสียก่อนเป็นผลดีที่ทำให้เจ้าแห่งฝันนำเรื่องราวออกมาเล่าให้ฟังผ่านความฝัน ในหนังสือของแอนเดอร์เซนยังเล่าเรื่องต่อไปอีก 7 วัน เมื่อเทพแห่งความฝันมาหาเด็กชื่อยาลมาร์ (Hjalmar) ทุกๆ คืนพร้อมเล่านิทานให้เขาฟังตลอดทั้งอาทิตย์ และในเรื่องราวของยาลมาร์นี่เองที่แซนด์แมนเปิดเผยในคืนสุดท้ายว่าเขามีพี่น้องเป็น “ความตาย” ชื่อเดียวกันกับตัวเขา เป็นโอเล่ ออยเย่อีกคนที่จะมามอบนิทราครั้งสุดท้ายเพียงหนเดียวของชีวิตมนุษย์
มาถึงตรงนี้ทุกคนคงพอเห็นภาพแล้วว่า Niel Gaiman ได้นำเอาวัตถุดิบตำนานต่างๆ เกี่ยวกับการนอนและการฝันมาดัดแปลงสร้างตัวละครอย่าง “ดรีม” ในการ์ตูนที่ถูกสร้างเป็นซีรีส์ได้อย่างไร แต่นี่ไม่ใช่เพียงตัวละครเดียวที่เขาเลือกนำมาใช้ นีล เกแมนยังผนวกเอาตำนานเทพกรีก-โรมันเข้ามาใช้ร่วมด้วย ส่งผลให้เกิดมิติและความกว้างของตัวละครมากขึ้น รวมถึงยกระดับให้แซนด์แมนดูเป็นเทพเจ้ามากกว่าก่อน
หากสนใจอ่านเรื่องราวของ “มอร์เฟียส” เทพแห่งฝันที่ถูกนำมาใช้ในเรื่อง สามารถคลิกอ่านบทความของทางเราด้านล่างได้เลย
Morpheus เทพแห่งความฝันต้นแบบ The Sandman
หลายคนคงได้ผ่านตากับซีรีส์ที่สร้างขึ้นจากคอมิคเรื่อง Th…
References:
- Andersen, H. C. (November 8, 2008). Fairy tales of Hans Christian Andersen – Project gutenberg. Project Gutenberg. Retrieved December 4, 2022, from https://www.gutenberg.org/files/27200/27200-h/27200-h.htm
- Shield, J. (n.d.).Who is the Sandman. How stuff work. https://history.howstuffworks.com/history-vs-myth/who-is-sandman.htm
- Walsh, W. S. (1915). Heroes and heroines of fiction: Classical, mediaeval, legendary. Lippincott.
