เรามีโอกาสเห็นสัตว์หลากชนิดในศิลปวัตถุกับภาพเขียนและสลักมากมาย แต่เอ๊ะ สิ่งหนึ่งที่เราแทบไม่เห็นเลยคือ “ช้าง” ทั้งที่เป็นสัตว์ที่เรารู้กันดีว่ามีในทวีปแอฟริกา แท้จริงแล้วช้างในวัฒนธรรมอียิปต์โบราณมีบทบาทไม่น้อยหน้าใคร และออกจะเป็นรายได้ให้อาณาจักรมากกว่าแมวซะอีก ถ้าไม่โดนฟาโรห์ล่อซะสูญพันธุ์
หลักฐานเกี่ยวกับช้างเริ่มปรากฏตั้งแต่ยุคก่อนราชวงศ์แล้ว ในสุสานโบราณบางแห่งพบโบราณวัตถุที่ทำจากงาช้างและเขี้ยวฮิปโปหลายชิ้น สัตว์ใหญ่ชนิดนี้เป็นสัญลักษณ์ของพลังอำนาจ ส่วนประกอบของร่างกายช้างถูกนำมาใช้เพื่อแสดงถึงสถานะทางสังคมของมนุษย์โบราณหลายวัฒนธรรม ทั้งที่เป็นเครื่องประดับ หนังถูกนำมาทำรองเท้า งาสลักเป็นส่วนประกอบและประดับเฟอร์นิเจอร์ เรื่อยไปจนถึงของใช้ส่วนตัวอย่างหวี
น่าเสียดายที่ช่วงยุคต้นราชวงศ์ ตั้งแต่ราชวงศ์ที่ 1-4 หรือประมาณ 3000 ปีก่อนคริสตกาล มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านภูมิศาสตร์กับภูมิอากาศ เกิดภาวะแห้งแล้งมากขึ้นในแอฟริกาเหนือ สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปส่งผลต่อการดำรงอยู่ของช้าง แรด และยีราฟ การล่าช้างกลายเป็นอีกปัจจัยที่ผสมกันจนทำให้สัตว์เหล่านี้หายไปจากอียิปต์ เมื่อมีความต้องการงาช้างมากขึ้น อียิปต์โบราณก็จำเป็นต้องติดต่อการค้ากับดินแดนทางตอนในของทวีปแอฟริกามากขึ้น รวมถึงการค้าทางไกลเข้าไปทางคาบสมุทรซีนายกับเอเชียตะวันตกอีกภายหลัง

สมัยราชวงศ์ที่ 6 ฮาร์คุฟ (Harkhuf) เจ้าเมืองอัสวาน (Aswan) ข้าราชการของฟาโรห์เมอเรนเร (Merenre) ได้ออกเดินทางไปต่างแดนเพื่อแสวงหาทรัพยากร โดยระบุว่าเดินทางไปยังดินแดนยาม (Yam) ด้วยคาราวานลาและได้นำเอาไม้มะเกลือ เครื่องหอม น้ำมัน หนังเสือดาว งาช้าง และไม้ขวาง (throwsticks) กลับมายังอียิปต์ ดินแดนยามหรือแยมนี้ยังไม่สามารถระบุได้ชัดว่าอยู่ที่ไหนแน่ แต่จากข้อมูลการเดินทาง 4 ครั้งของฮาร์คุฟบ่งชี้ว่าดินแดนนี้คงอยู่ทางทิศใต้ของอียิปต์บน อาจอยู่ในบริเวณของนูเบีย (Nubia) ปัจจุบันคือพื้นที่ทางใต้ของประเทศอียิปต์กับตอนเหนือของประเทศซูดาน (Sudan)

หลังยุคราชวงศ์ที่ 6 เป็นต้นมา การค้ากับดินแดนยามก็สิ้นสุดลง สินค้านำเข้าอย่างไม้มะเกลือและงาช้างกลายเป็นของที่พบได้ยากในสุสาน บันทึกยุคหลังกล่าวถึงการล่าและจับช้างเป็นกิจกรรมที่พบได้ประจำตลอดลำน้ำไนล์ตั้งแต่ 3000 ปีมาแล้ว แสดงว่าทรัพยากรช้างของอียิปต์อาจกลับมาเพิ่มมากขึ้นหรือเกิดการขยายพันธุ์มาจากทางใต้ก็ยากจะสรุป
ยุคอาณาจักรใหม่กับช้างอียิปต์ที่หายไป

พอเข้าช่วงราชวงศ์ที่ 18 ราชอาณาจักรใหม่ (New Kingdom) ช้างแอฟริกาได้สูญพันธุ์ไปจากอียิปต์อย่างเป็นทางการ เนื่องจากปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมกับการล่าเพื่อเอางากันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน กีฬาล่าสัตว์โดยเฉพาะช้างเป็นสิ่งที่ฟาโรห์และขุนนางนิยม บางวัฒนธรรมยังมองว่าการล้มช้างได้ด้วยมือเดียวคือหนทางพิสูจน์ความเป็นชาย ไม่แปลกที่บุรุษยุคโบราณระดับผู้นำจะพยายามแสดงพลังอำนาจด้วยกีฬาประเภทนี้ บางครั้งก็เล่นเอาเกือบถูกช้างล่าเอาเสียแทน กรณีตัวอย่างคือฟาโรห์ทุตโมสที่ 3 (Thutmose III) ที่เฉียดถูกช้างพุ่งโจมตีขณะล่าสัตว์อยู่ในหุบเขายูเฟรตีส (Euphrates Valley) ทว่าในทริปดังกล่าวลือกันว่าพระองค์ได้ล่าเอาช้างไปกว่า 120 เชือก ระดับนี้ถ้าไม่หมดไปจากโลกก็ไม่รู้จะว่าอย่างไรแล้ว
แม้จะหาช้างในอาณาจักรไม่ได้แล้ว แต่อียิปต์โบราณก็ยังต้องมนต์ของงาช้างไม่หาย เมื่อหาในบ้านไม่ได้ก็เริ่มรุกคืบติดต่อซื้อขายจากดินแดนอื่นๆ คู่ค้าสำคัญของอียิปต์ตอนนั้นรายหนึ่งคือนูเบียที่มีพรมแดนติดกันทางใต้ สินค้าหลักที่ทางนูเบียส่งออกมาคือทองคำ ไม้มะเกลือ ยางไม้ (Gum) หินคาร์นีเลียน (carnelian) แร่ฮีมาไทต์ ( Hematite/Red ochre) หินแอมะซอไนต์ (Amazonite) เครื่องหอม น้ำมัน และบางคราวแต่ไม่บ่อยคือธัญญาหาร สินค้าอื่นๆ ที่อียิปต์นำเข้าอีกคือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ แน่นอนว่าต้องมีงาช้าง แล้วตามมาด้วยหนังเสือดาว ไข่กับขนนกกระจอกเทศ เป็นต้น
ไม่เพียงแต่ยื่นมือเข้าไปแสวงหาจากทางใต้เท่านั้น อียิปต์ยังดำเนินการค้าทางไกลไปด้านตะวันออกจนถึงพื้นที่ของซีเรีย ส่งผลให้ช้างซีเรีย (Elephas maximus asurus) สูญพันธุ์ตามมาติดๆ นอกจากซีเรียแล้ว ยังพบหลักฐานของการนำเข้างาช้างจากอินเดียและเอธิโอเปียด้วย ในสุสานของราชินีฮัตเชปสุต (Hatshepsut) ยังมีภาพของเรือพาณิชย์ที่ล่องทะเลแดงไปยังอาณาจักรพุนต์ (Punt) ที่เที่ยวกลับมีการบรรทุกงาช้างกลับมา
ยุคราชวงศ์ที่ 19 ฟาโรห์รามเสสที่ 2 ขยายอำนาจลงไปทางใต้เข้าสู่นูเบียและได้สร้างโบราณสถานที่แสดงถึงชัยชนะของพระองค์เหนือดินแดนด้วย หนึ่งในนั้นคือวิหารแห่ง Beit el-Wali โดยมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่มีรูปของช้างและวัตถุดิบจากช้างปรากฏอยู่ ระยะนี้การค้าของนูเบียถูกควบคุมโดยตรงในลักษณะของรัฐอาณานิคมใต้อียิปต์ รามเสสที่ 2 ได้ทำการสร้างเมืองใหม่บริเวณอียิปต์ล่างชื่อว่า Pi-Ramesses มีการนำเข้าสัตว์ป่ามีชีวิตจำนวนมากเข้ามาอยู่ในเมือง รวมถึงการนำเข้าช้างกับยีราฟมาเลี้ยง
กล่าวถึงนูเบียหรืออาณาจักรคุช (Kush) มักพบศิลปกรรมที่เกี่ยวกับช้างเยอะกว่าอียิปต์ ด้วยเพราะวัฒนธรรมของพวกเขายกย่องช้างว่ามีความเสมือนเทพ วิหารสิงโตในเมืองเมอโรวี (Meroë) หรือแหล่งโบราณคดีมูซาวารัต () เมืองหลวงของอาณาจักรคุช มีภาพเขียนที่เกี่ยวกับช้างอยู่จำนวนมาก ชื่อเดิมของโบราณสถานคือ Aborepi เป็นภาษาเมโรอิติก (Meroitic) แปลว่า “สถานแห่งช้าง” แสดงถึงความสำคัญของสัตว์ชนิดนี้ที่มีต่อชาวคุช

นักโบราณคดีตีความบทบาทของช้างในความเชื่อของชาวนูเบียไว้ 2 ประการ หนึ่งคือมีสถานะเป็นเทพเจ้า หรือสองเป็นพาหนะของเทพเจ้า เพราะวิหารสิงโตแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อบูชาเทพอะเปเดมัก (Apedemak) ผู้ที่มีศีรษะเป็นสิงโต ยังมีข้อสันนิษฐานชวนตื่นเต้นว่ามูซาวารัตอาจเป็นแหล่งโบราณคดีที่สะท้อนถึงการติดต่อกันระหว่างอาณาจักรในแอฟริกากับเอเชีย ทำให้เกิดการรับเอาประติมานในการสร้างรูปเคารพจากอินเดียมาปรับใช้กับการสร้างภาพของเหล่าเทพ เพราะรูปของเทพอะเปเดมักที่พบจากที่นี่มีรูปแบบพิเศษ มีการสร้างเป็นสิงโต 3 เศียร กับ 4 กร มีภาพบุคคลสวมมงกุฏอียิปต์บนและล่างบนหลังช้าง ทั้งสองกรณีดูใกล้เคียงกับคติของวัฒนธรรมอินเดียกับเอเชียตะวันออก แต่ทฤษฎีนี้ก็ยังมีข้อโต้แย้งอยู่มากมายจนอยากจะเอนเอียงไปทางใดได้
จากบันทึกของพลินีผู้อาวุโส (Pliny the Elder) นักธรรมชาติวิทยาและนักประพันธ์ชาวโรมัน ช่วงคริสต์ศักราชที่ 23/24 – 79 กล่าวว่าชาวคุชนั้นมีทรัพยากรช้างมากพอที่จะไม่ต้องลงใต้ไปแสวงหา บริเวณรอบเมืองเมอโรวีช่วงประมาณค.ศ. 60 เองก็เต็มไปด้วยแรดและช้าง อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่าสินค้าสำคัญของดินแดนทางตอนใต้ของอียิปต์คงหนีไปพ้นช้างกับงาช้างจากอาณาจักรคุชนั่นเอง
เมืองแห่งการค้าอีกแห่งของอียิปต์ที่ไม่ไกลจากนูเบียนั้นคือเมืองเอเลแฟนทีน (Elephantine) ชื่อของเอเลแฟนทีน เป็นคำกรีกที่แปลคำภาษาอียิปต์โบราณ “อาบู” แปลว่าช้าง ใช้เรียกเกาะในลำน้ำไนล์ที่อัสวาน ที่มาอาจเกี่ยวข้องกับการที่พบหินรูปทรงช้างบนเกาะ หรือไม่ก็เป็นเพราะการเป็นสถานีการค้างาช้างและของป่าแอฟริกา เพราะในยุคนี้แม้งาช้างอินเดียจะเป็นสินค้าที่มีมากขึ้นในตลาดแต่งาช้างแอฟริกาก็ยังเป็นที่ต้องการอยู่ไม่เสื่อมคลาย
Ptolemaic ยุคแห่งช้างศึก (War Elephant)
ช่วงยุคเฮเลนิกมีความนิยมในการใช้ช้างศึกด้วยเพราะเสมือนเป็นเป็นรถถังที่กวาดเอาแนวรบได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้กันแพร่หลายราว 200-300 ปีก่อนคริสตกาล ชาวตะวันตกมีโอกาสรู้จักช้างศึกครั้งแรกๆ ในช่วงที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) แห่งอาณาจักรมาซิโดเนีย (Macedonia) ขยายอำนาจไปทางเอเชียตะวันตก มีโอกาสปะทะกับกองทัพช้างศึกของอินเดีย หนึ่งในนั้นคือทัพของพระเจ้าโปรุส (Porus) แห่งปัญจาบ
อเล็กซานเดอร์ค่อนข้างประทับใจเทคนิคการรบของพระเจ้าโปรุสในสมรภูมิไฮดาสเปส (Battle of Hydaspes) 326 ปีก่อนคริสตกาล กล่าวกันว่าจำนวนช้างศึกของกษัตริย์โปรุสมีมากถึง 200 กอง จนเมื่อตีได้แคว้นดังกล่าวแล้วยังให้สิทธิปกครองตนเองฐานะเมืองขึ้น สงครามครั้งนี้ทำให้โลกตะวันตกมีโอกาสรู้จักช้างเอเชีย ทั้งยังรับเอาแนวการฝึกและใช้ช้างศึกของอินเดียมาใช้สร้างกองทัพในหมู่รัฐกรีก-โรมันด้วย ต่อมาเทคนิคในการฝึกกับสร้างกองทัพช้างจึงแพร่กระจายในโลกตะวันตกไปยังอาณาจักรเปอร์เซียและแอฟริกาเหนือตามลำดับ
สายพันธุ์ของช้างที่ปรากฏในโลกโบราณมีอยู่ 2 สายพันธุหลัก คือ ช้างเอเชีย (Elephas maximus) กับช้างป่าแอฟริกา (Loxodonta cyclotis) ชนิดหลังพบได้น้อยและอยู่ในสถานะเสี่ยงสูญพันธุ์ โดยเหลืออยู่แค่ในแกมเบีย (Republic of The Gambia) ทางตะวันตกของทวีปแอฟริกา ช้างป่าแอฟริกามีขนาดเล็กกว่าช้างพุ่มไม้แอฟริกา (Loxodonta africana) ที่จะพบในภาคกลางและใต้ของทวีป และมีขนาดสูงใหญ่ เป็นเหตุให้บันทึกประวัติศาสตร์ในยุคร่วมสมัยพูดว่าช้างอินเดียนั้นสูงใหญ่กว่าช้างแอฟริกา ซึ่งหากเรามองภาพเปรียบเทียบแบบปัจจุบันก็จะทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนได้

ช้างศึกมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์อียิปต์มากขึ้นในการสงครามยุคราชวงศ์ปโตเลมี (Ptolemaic kingdom) ราชวงศ์เชื้อสายกรีกที่เข้ามาครองอียิปต์หลังยุคพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ จุดที่ความนิยมในการสร้างกองทัพช้างเกิดขึ้นในวัฒนธรรมยุคเฮเลนิกอาจเป็นผลพวงมาจากความขัดแย้งระหว่างเจ้านครต่างๆ ภายหลังการสิ้นพระชนม์อย่างกะทันหันของอเล็กซานเดอร์ เกิดการทำสงครามเพื่อแย่งชิงพระศพกับตำแหน่งผู้สืบทอดอาณาจักร ช้างมิได้เพียงถูกใช้ในการรบแต่ยังเป็นเครื่องประหารของศัตรูทางการเมืองของปโตเลมี ผู้สถาปนาอาณาจักรปโตเลมีในอียิปต์ด้วย
สงครามแย่งพระศพนี้เองที่ทำให้เทคนิคของการฝึกช้างแบบช้างเอเชียเข้ามาในแถบแอฟริกาเหนือ เมื่อเพอร์ดิคคัส (Perdiccas) ผู้แทนพระองค์ปกครองทัพมาซิโดเนียผู้มองว่าตนเป็นผู้ชอบธรรมในการปกครองต่อจากอเล็กซานเดอร์ได้นำกองทัพบุกมาตีอียิปต์เพื่อนำพระศพอเล็กซานเดอร์ที่ถูกกลุ่มปโตเลมีนำมาฝังใหม่ในเมืองเมมฟิส น่าเสียดายที่เพอร์ดิคคัสแพ้ ช้างศึกราว 50-60 เชือกจึงตกเป็นของปโตเลมีไป

เหรียญทองด้านหนึ่งเป็นภาพของอเล็กซานเดอร์มหาราชกับช้างศึก
(Credit : World History Encyclopedia)
ทั้งปโตเลมีอียิปต์กับอาณาจักรคุชต่างใช้ควาญช้างที่เป็นชาวอินเดีย ยังพบหลักฐานอีกว่าการแต่งกายของควาญช้างที่ปรากฏในงานศิลปะสวมชุดอย่างเอเชียใต้ มีชื่ออย่างอินเดียแทนที่จะเป็นภาษาในแอฟริกา เทคนิคการฝึกช้างแอฟริกาก็ใช้อย่างเดียวกับเทคนิคของชาวอินเดียคือสร้างเพนียดและต้อนช้างป่าเข้ามา
ทว่าการพยายามค้าขายช้างกับงาช้างไปในบริเวณรอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ของปโตเลมีก็ต้องมีอันชะงักการติดต่อค้าขายกับทางเอเชียและตะวันออกกลาง เนื่องมาจากความขัดแย่งระหว่างราชวงศ์ปโตเลมีกับจักรวรรดิซิลูซิด (Seleucid Empire) เพื่อแย่งชิงดินแดนตรงซีเรีย เกิดเป็นสงครามที่กินเวลายาวนานมากพอจะส่งผลต่อการค้า
อียิปต์ในยุคดังกล่าวจึงขาดการติดต่อกับเอเชียนำมาซึ่งความเสียเปรียบทางด้านภูมิศาสตร์และกีดกันทรัพยากรช้างเอเชียรวมถึงควาญช้าง แต่ยังคงมีความต้องการสินค้าอย่างงาช้างเช่นเดียวกับยุคก่อนๆ และยังนิยมสินค้าฟุ่มเฟือยจากทางตะวันออกด้วย ความต้องการเสาะหาทรัพยากรมาตอบสนองจึงเป็นตัวส่งเสริมให้เกิดการติดต่อค้าขายตามชายฝั่งแอฟริกาในทะเลแดงมากขึ้นทดแทนการเสียเส้นทางการค้าไปยังอินเดีย เกิดการขยายตัวของการค้างาช้างก่อนจะทำให้การค้าต่างชาติเริ่มกลับมาอีกครั้ง
อาณาจักรปโตเลมีจึงหันมาใช้ทรัพยากรช้างจากดินแดนคุชและพุนช์ (Punt)ที่อยู่ทางใต้ลึกลงไปในแผ่นดินแอฟริกาซึ่งมีประชากรช้างแอฟริกาเป็นหลัก โดยใช้ช้างจากดินแดนดังกล่าวทั้งในการค้าและการรบ ดินแดนปัจจุบันของพื้นที่เหล่านั้นคือประเทศเอริเทรีย (Eritrea), ซูดาน (Sudan) และเอธิโอเปีย (Ethiopia) ช้างที่ถูกจับและฝึกแล้วจะถูกลำเลียงมาทางเรือเลาะชายฝั่งทะเลแดง เพื่อมาขึ้นฝั่งในอียิปต์ยังท่าเรือเบเรนิกซ์ (Berenice) ก่อนจะพาล่องไปตามแม่น้ำไนล์สู่อียิปต์ล่างต่อไป
การใช้ช้างแอฟริกาในการรบกับช้างเอเชียอย่างเป็นทางการคือในสมรภูมิราเฟีย (Battle of Raphia) หรือสมรภูมิกาซา (Battle of Gaza) เมื่อ 22 มิถุนายน ราว 217 ปีก่อนคริสตกาล เป็นการต่อสู้เพื่อแย่งชิงพื้นที่ซีเรียระหว่างฟาโรห์ปโตเลมีที่ 4 แห่งอาณาจักรปโตเลมีกับพระเจ้าแอนทิโอคัสที่ 3 แห่งจักรวรรดิซิลูซิด ที่ตอนนั้นมีอำนาจคุมเอเชียตะวันตก สงครามครั้งนี้มีนักประวัติศาสตร์ชาวกรีกบันทึกไว้คือพอลิเบียส (Polybius) ผู้มีอายุในสมัยใกล้เคียงกับปีที่สงครามเกิดขึ้นคือ 200-118 ปีก่อนคริสตกาล เขาเล่าถึงฉากสงครามสมรภูมิราเฟียไว้ในหนังสือชื่อ The Histories (คนละเล่มกับของเฮโรโดตัส) แม้จะเป็นฝ่ายชนะศึกแต่ช้างแอฟริกากลับดูจะไม่ได้ดุดันและส่งผลกระทบต่อทัพของฝ่ายแอนทิโอคัสเท่าไร ดังที่พอลิเบียสกล่าวว่า :
“มีเพียงช้างศึกจำนวนน้อยของปโตเลมีที่กล้าคลุกวงในกับศัตรู ส่งผลให้ทหารในสัปคับทรงหอ1 บนหลังช้างต้องต่อสู้อย่างกล้าหาญด้วยหอกเมื่อช้างเข้าประชิดด้วยการพุ่งเอาหน้าผากชนกัน การต่อสู้ของช้างเหล่านี้จะใช้งางัดกันอย่างสุดกำลังเพื่อล้มอีกฝ่ายลงกับพื้น เมื่อช้างใดพิสูจน์แล้วว่ามีกำลังพอจะงัดงวงอีกตัวให้ผลักออกไปได้ ช้างนั้นก็จะรีบพุ่งขวิดสีข้างอย่างเดียวกับการสู้ของวัวกระทิง ช้างส่วนมากของปโตเลมีหลีกเลี่ยงการปะทะกันด้วยคงเพราะนิสัยของช้างแอฟริกันที่ไม่ทนต่อกลิ่นและเสียงร้องของช้างอินเดียที่ทำให้หวาดกลัว ด้วยขนาดกับความแข็งแกร่งของพวกมันก็อาจทำให้ช้างแอฟริกันหันหางและถอยไปก่อนที่พวกมันจะเข้าใกล้เสียอีก”
The Histories by Polybius
งานของพอริเบียสจุดประกายการตั้งคำถามของนักวิชาการรุ่นหลังเกี่ยวกับขนาดและสายพันธุ์ของช้างในกองทัพของปโตเลมี จากความเข้าใจแรกมองว่าช้างในกองทัพปโตเลมีคือสายพันธุ์ย่อยของช้างแอฟริกาที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ทว่าปี ค.ศ.1948 เซอร์วิลเลี่ยม โกเวอร์ส (Sir William Gowers) ข้าหลวงอังกฤษในแอฟริกาเสนอว่าสายพันธุ์ช้างแอฟริกาสามารถแยกย่อยเป็นช้างป่าแอฟริกากับช้างพุ่มไม้แอฟริกาหรือช้างแอฟริกันสะวันนา กองทัพช้างของปโตเลมีใช้ช้างป่าแอฟริกาซึ่งสายพันธุ์ที่มีขนาดเล็ก
แต่ข้อเสนอนี้ก็ถูกตีตกไปด้วยข้อมูลใหม่ ซึ่งไม่ต้องไปค้นหาจากที่ใด เมื่อลองมองย้อนไปว่าอียิปต์ในยุคปโตเลมีนั้นอาศัยหาช้างจากดินแดนชายฝั่งทะเลแดง บริเวณที่ปัจจุบันคือประเทศเอริเทรีย (Eritrea) ซึ่งหลงเหลือช้างเอริเทรียน้อย มีเพียงประมาณ 100-200 ตัวที่อาศัยอยู่ตรงชายแดนติดกับประเทศเอธิโอเปีย คำตอบที่ว่าช้างในกองทัพของปโตเลมีเป็นสายพันธุ์ใดคงหลงเหลืออยู่ในรหัสพันธุกรรมของช้างเหล่านั้นไม่มากก็น้อย
จากการศึกษาดีเอนเอที่ดำเนินการโดย Adam Brandt จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ( University of Illinois) ผ่านโครงการร่วมกับท้องถิ่น คณะวิจัยเก็บตัวอย่างดีเอนเอของช้างในประเทศเอริเทรียจากมูลของพวกมัน ผลการอ่านลำดับนิวคลีโอไทด์ (DNA sequencing) ระบุว่าช้างเอริเทรียเป็นสายพันธุ์ช้างสะวันน่า (Loxodonta africana) ไม่ใช่ช้างป่าแอฟริกา ทั้งยังไม่มีความเกี่ยวข้องทางเครือญาติกับช้างป่าและช้างเอเชียเลย
ประชากรช้างเอริเทรียมีการผสมพันธุ์กันภายในและมีความสันโดษต่อโลกภายนอก ทั้งยังมีเพื่อนบ้านอยู่อาศัยห่างไกลไปกว่า 400 กิโลเมตร ทำให้โอกาสในการผสมข้ามกลุ่มมีน้อย ทั้งประชากรก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากกว่า โชคยังดีที่ทางการของกระทรวงเกษตรของประเทศมีความตระหนักถึงปัญหาและเร่งดูแลจนประชากรช้างค่อยๆ มีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นในที่สุด
ปัจจุบันอียิปต์ไม่เหลือช้างที่ยังหายใจบนโลกแล้ว คงเหลือเพียงเศษซากและภาพวาดของสิ่งที่ถูกทำลายไปเพราะความโลภโมโทสันของมนุษย์
1 ต้นฉบับอังกฤษใช้ว่า “the towers on the back” ซึ่งจากภาพช้างศึกของยุคเฮเลนิกจะเทียมด้วยวัสดุทรงคล้ายหอสูงมีคนอยู่ด้านใน เป็นคนละทรงกับเครื่องทรงของช้างศึกอินเดีย-ไทย จึงขอแปลด้วยบริบทภาษาไทยว่า “สัปคับทรงหอ”
Featured Image : The Elephants of Pyrrhus, c1900. Scene from a battle between Pyrrhus (318-272 BC) and the Romans. (Credit: The Print Collector/Print Collector/Getty Images)

References :
- Burstein,S.M.(n.d.).”The War Elephants East and West” in World History Connected.University of Illinois.Retrieved 30 November 2022, from https://worldhistoryconnected.press.uillinois.edu/17.2/forum_burstein.html
- Cartwright, M. (2016, March 16). Elephants in Greek & Roman Warfare. World History Encyclopedia. Retrieved from https://www.worldhistory.org/article/876/elephants-in-greek–roman-warfare/
- DHWTY.March 13, 2016.Where Was the Mysterious Kingdom of Yam?.Ancient-Origins.Retrieved 30 November 2022, from https://www.ancient-origins.net/ancient-places-africa/where-was-mysterious-kingdom-yam-005524
- Nuwer,R.(January 13, 2014).A Lesson from History: When Assembling an Army of War Elephants, Don’t Pick Inbred Ones.Smithsonian Magazine.Retrieved 30 November 2022, from https://www.smithsonianmag.com/smart-news/lesson-history-when-assembling-army-war-elephants-dont-pick-inbred-ones-180949323/
- Oppen, B. v. (2019, May 20). Elephants in Hellenistic History & Art. World History Encyclopedia. Retrieved from https://www.worldhistory.org/article/1381/elephants-in-hellenistic-history–art/
- Rev, Afr & Haaland, Randi. (2014). The Meroitic Empire: Trade and Cultural Influences in an Indian Ocean Context. African Archaeological Review. 31. 10.1007/s10437-014-9169-0.
- Richard A. Lobban Jr. & Valerie de Liedekerke (2000) Elephants in Ancient Egypt and Nubia, Anthrozoös, 13:4, 232-244 http://dx.doi.org/10.2752/089279300786999707
- Shaw,G.J.(2017).War and Trade with the Pharaohs.South Yorkshire: Pen & Sword Books.
- Zielinsk,S.(January 21, 2014).After 2,000 years, Ptolemy’s war elephants are revealed.Science News Explores.Retrieved 30 November 2022, from https://www.sciencenews.org/blog/wild-things/after-2000-years-ptolemys-war-elephants-are-revealed

ถึงว่าไม่ค่อยเห็นเรื่องเกี่ยวกับช้าง ได้อ่านบทความดี ๆ สาระมากมายอยู่เรื่อย ถูกใจมากค่ะ
ถูกใจถูกใจ