อียิปต์พบมัมมี่จระเข้ที่เผยเคล็ดลับการดองศพ

ถึงการค้นพบมัมมี่จระเข้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ พิพิธภัณฑ์ทั่วโลกหลายแห่งครอบครองมัมมี่ที่เป็นสัตว์ประจำเทพโซเบ็ค แต่มัมมี่ที่พบจาก Qubbet el-Hawa เมื่อปี 2019 ได้รับการศึกษาอย่างละเอียดเพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับเทคนิคการดองศพมัมมี่สัตว์

มัมมี่จระเข้เหล่านี้ถูกพบในทางฟากตะวันตกของแม่น้ำไนล์ เมืองอัสวาน ประเทศอียิปต์ พื้นที่ดังกล่าวคือสุสานของนักบวชและขุนนางยุคอาณาจักรเก่าและอาณาจักรกลางของอียิปต์ มีชื่อเรียกในปัจจุบันว่า Qubbet el-Hawa หรือโดมแห่งสายลมตามลักษณะสัณฐาน และยังคงมีการใช้งานมาเป็นระยะตั้งแต่ช่วงเวลาดังกล่าวจนถึงยุคของโรมัน โดยปรากฏหลุมฝังศพจำนวนกว่า 100 แห่งในพื้นที่

Photo credit : Patri Mora Riudavets under CC-BY 4.0 taken from Smithsonianmag

การค้นพบล่าสุดอยู่ภายใต้การดำเนินการโดยนักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยฆาเอน (Jaén) ประเทศสเปน ซึ่งพบซากของมัมมี่จระเข้ที่สมบูรณ์จำนวน 5 ตัว และเฉพาะส่วนกะโหลกศีรษะอีก 5 ชิ้น กำหนดอายุได้ราว 304 ปีก่อนคริสตกาล เป็นช่วงก่อนยุคปโตเมอิคของอียิปต์ (Pre-Ptolemaic era) จากรายงานที่เผยแพร่ผ่านวารสารกล่าวว่าขนาดโดยเฉลี่ยของจระเข้เหล่านี้มีความยาวอยู่ที่ตั้งแต่ 1.8 – 3.5 เมตร และเป็นจระเข้แม่น้ำไนล์กับจระเข้อาฟริกันตะวันตก (West African crocodile)

นักโบราณสัตววิทยา (Archaeozoologist) ชื่อว่า Bea De Cupere จากพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ธรรมชาติเบลเยี่ยม (Royal Belgian Institute of Natural Sciences ชื่อย่อ RBINS) หนึ่งในทีมศึกษาให้ความเห็นว่า “อียิปต์มีการพบสุสานกว่า 20 แห่งที่มีมัมมี่จระเข้ แต่การพบมัมมี่จระเข้จากไซต์ที่มีสภาพดีโดยไม่ถูกรบกวนร่วมกันถึง 10 ร่างเป็นเรื่องพิเศษ เพราะเหล่าบรรดามัมมี่จระเข้ตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ถูกรวบรวมมาตั้งแต่ยุคปลายคริสต์ศักราชที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 แม้จะมีมากมายแต่ไม่สามารถระบุที่มาได้อย่างชัดเจน ทั้งยังไม่ได้พบในบริบทอย่างเดียวกับที่พบใน Qubbet el-Hawa

Photo credit : Patri Mora Riudavets under CC-BY 4.0 taken from Heritage Daily

กระบวนการทำให้เป็นมัมมี่ก็ค่อนข้างน่าสนใจ เนื่องจากมัมมี่ที่พบในไซต์นี้ไม่พบร่องรอยของยางไม้และผ้าลินิน คงเพราะมันได้ถูกแมลงกัดกินไปหมดแล้ว นักโบราณคดีจึงสามารถศึกษามัมมี่ได้ในสภาพเดิมที่พบโดยไม่ต้องรบกวนมัมมี่ด้วยการแกะผ้าและยางไม้ออก พวกเขาพบว่ามัมมี่จระเข้ไม่ได้ถูกนำเอาอวัยวะภายในออก เพราะภายในร่างยังพบนิ่วหินในลำไส้ (Gastroliths) ที่จระเข้มีไว้เพื่อช่วยรักษาสมดุลขณะอยู่ภายในน้ำ เป็นเครื่องยืนยันว่าผู้ที่ทำการดองมัมมี่จระเข้ที่นี่ไม่ได้ผ่าเปิดช่องท้องเพื่อเอาเครื่องในออกแบบการทำมัมมี่สัตว์อื่นๆ

การทำให้ศพแห้งอาศัยเพียงการนำร่างของจระเข้ไปฝังลงในหลุมทรายและรอให้แห้งโดยธรรมชาติ คาดดว่าคงทำขึ้นที่อื่นก่อนจะนำขนส่งมาฝังลงที่นี่ การที่มัมมี่บางร่างมีสภาพไม่สมบูรณ์หรือเหลือเพียงศีรษะก็อาจขึ้นจากการขนย้าย ไม่พบร่องรอยบาดเจ็บจนถึงแก่ชีวิต จระเข้เหล่านี้ถูกทำให้ตายด้วยความร้อนหรือการขาดอากาศหายใจ เพราะแม้จะพบส่วนศีรษะที่ถูกแยกในบางร่าง แต่ก็เป็นร่องรอยที่เกิดขึ้นหลังการทำมัมมี่

เหตุดังกล่าวยังขัดแย้งกับการศึกษาตัวอย่างมัมมี่จระเข้ที่อื่นที่พอใช้ซีทีสแกน (CT scan) กลับพบร่องรอยของการบาดเจ็บจนถึงแก่ชีวิต อย่างเช่นมัมมี่จระเข้จากพิพิธภัณฑ์ Musée des Confluences เมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส พบบาดแผลบริเวณกะโหลกศีรษะที่เกิดขึ้นได้จากการทุบลงบนหัวของจระเข้ที่นอนราบอยู่บนพื้นด้วยของแข็งเพียงครั้งเดียวจนตาย ผิดกับมัมมี่ที่ Qubbet el-Hawa ที่พบแต่ร่องรอยของการมัดด้วยเชือกเท่านั้น แสดงว่าพวกมันอาจถูกจับมัดแล้วรอให้ตายไปเองโดยไม่ทำให้เสียรูป

มัมมี่สัตว์ในอียิปต์มักทำขึ้นเพื่อเป็นเครื่องอุทิศแก่เทพหรือคนตาย ในกรณีของจระเข้ถือเป็นสัตว์ประจำกายของเทพโซเบ็ค (Sobek) เทพจระเข้แห่งแม่น้ำไนล์และความอุดมสมบูรณ์ ทำให้การทำมัมมี่จระเข้อาจเป็นการถวายเพื่อขอความอุดมสมบูรณ์ก็เป็นได้

Photo credit : Patri Mora Riudavets under CC-BY 4.0 taken from Smithsonianmag

References :

2 ความเห็นบน “อียิปต์พบมัมมี่จระเข้ที่เผยเคล็ดลับการดองศพ”

ใส่ความเห็น

Please log in using one of these methods to post your comment:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.