#โยไคอะไรเนี่ย EP12 Kappa [河童]

หายไปน๊านนาน วันนี้กลับมาแล้ว มาพร้อมกับโยไคที่คนน่าจะรู้จักมากเป็นอันดับต้นๆ เมื่อพูดถึงโยไคญี่ปุ่น เจ้า “ขัปปะ” หรือ “กัปปะ” นั่นเอง โยไคตัวนี้ปรากฏในสื่อต่างๆ ของทางญี่ปุ่นมากมาย แต่ขัปปะที่เราคุ้นเคยจะเหมือนขัปปะในตำนานแค่ไหน มาดูกัน!

ขัปปะ เจ้าตัวสีเขียวมีจานใส่น้ำอยู่บนหัว รูปร่างคล้ายเด็กๆ แต่มีกระดองคล้ายเต่าบนหลัง ชื่อของขัปปะ [河童] ที่ภาษาไทยนิยมทับศัพท์ว่า “กัปปะ” แปลตรงตัวได้ว่า “เด็กๆ แห่งสายน้ำ” มาจากคำว่า “คาวะทาโร่” [川太郎] คงเพราะนิสัยที่มักจะชอบอาศัยตามแหล่งน้ำต่างๆ ตั้งแต่ห้วยหนองคลองบึง ไปจนถึงแม่น้ำสายใหญ่ และยังพบเห็นได้ตลอดทุกที่ในญี่ปุ่น ส่งผลให้ตำนานของขัปปะมีความหลากหลาย ทั้งมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไปแต่ละท้องถิ่นด้วย

โดยธรรมชาติขัปปะจะอาศัยอยู่ในน้ำ มักออกมาเพ่นพ่านในช่วงที่อากาศอบอุ่น พวกตัวเล็กๆ อาจพบอาศัยกันเป็นครอบครัว แต่ขัปปะที่โตเต็มที่แล้วมักอาศัยลำพัง มันสามารถกินอาหารทั้งพืชและสัตว์ ชอบแตงกวาเป็นพิเศษ ความชอบแตงกวาของขัปปะทำให้เมนูซูชิโรลที่ใช้แตงกวาทำเป็นไส้ถูกเรียกว่า “ขัปปะมากิ” [カッパ巻き] แต่สิ่งที่ทำให้ขัปปะดูหลอนขึ้นมาอีกระดับคือ…พวกมันกินเครื่องในสัตว์และมนุษย์ด้วย

ขนาดตัวของขัปปะเท่ากับเด็กมนุษย์ นี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้มันถูกเรียกว่าคาวะทาโร่หรือเด็กแห่งสายน้ำ เพราะดูเผินๆ พวกมันก็เหมือนเด็กเวลาโผล่ขึ้นจากลำน้ำ ทว่าจานบนหัวนั่นล่ะที่ทำให้มันดูประหลาดไปจากเด็ก บวกกับสีผิวเขียวๆ น้ำเงินๆ ไปจนถึงสีแดง มีลักษณะเป็นเมือกลื่นเหมือนสัตว์เลื้อยคลานที่มีเกล็ดปกคลุม มันจึงดูน่าขยะแขยงในบางที ผิวของตัวขัปปะมีความยืดหยุ่น สามารถลอกคราบได้ ร่างกายที่ออกแบบมาเพื่ออยู่ในน้ำทำให้มือของขัปปะมีพังพืดติดกันเพื่อสะดวกต่อการว่ายและเคลื่อนไหว ใต้น้ำ บนหลังมีกระดองที่ใช้ซ่อนแขนสองข้างที่จริงๆ แล้วเชื่อมเป็นท่อนเดียว เวลาดึงแขนข้างหนึ่ง แขนอีกข้างก็จะหดสั้นลง เช่นถ้าดึงแขนซ้ายให้ยาว แขนขวาของขัปปะก็จะสั้นลง ถ้านี่ยังพิศดารไม่พอ… ขัปปะมีอีกอย่างที่มากกว่าคน 3 เท่า นั่นคือพวกมันมีทวารหนัก 3 ที่ ทำให้พวกขัปปะสามารถปล่อยแก๊สจากลำไส้มากกว่ามนุษย์เท่่ากับอวัยวะที่มีเพิ่มมาตามนั้น (อี๋)

โฆษณา

ถึงตัวจะเป็นเด็ก แต่ความคิด… เอ้ย ความแข็งแรงของขัปปะก็มากกว่ามนุษย์ผู้ใหญ่ การเคลื่อนไหวบนบกอาจจะงุ่มง่ามไปบ้าง แต่มันก็ยังสามารถเอาชนะคนได้อย่างไม่ยาก ด้วยความที่เป็นโยไคที่แข็งแรงและฉลาด ขัปปะจึงสามารถเรียนรู้ภาษามนุษย์ เกมต่างๆ โดยเฉพาะซูโม่อันเป็นกีฬาโปรด แถมยังมีความรู้เรื่องยากับการจัดกระดูกมากพอจะสอนให้คนด้วย ถึงอย่างนั้นความทระนงตัวก็ทำให้มันชอบท้าทายมนุษย์ให้มาแข่งซูโม่เป็นประจำ ทว่าถ้าเรารู้จุดอ่อนของขัปปะก็จะชนะได้ไม่ยาก

ขัปปะจะอ่อนแอเมื่อปริมาณของน้ำในจานบนศีรษะลดลง จานนี้เป็นส่วนหนึ่งของกะโหลกศีรษะจึงเป็นขุมพลังของมันด้วย ขัปปะจะต้องคอยรักษาระดับน้ำบนหัวไม่ให้พร่อง หากน้ำในจานแห้งจนหมด พวกมันจะขยับตัวไม่ได้ แย่ที่สุดคือตายได้เลยทีเดียว เทคนิคสำหรับการแข่งซูโม่ให้ชนะขัปปะคือการเป็นฝ่ายโค้งตัวให้ก่อนแข่ง ขัปปะจะเผลอก้มตามมารยาทไม่ให้น้อยกว่ากัน ทำให้เสียน้ำในจานไปบางส่วน พลังของมันก็จะอ่อนแอลงจนเราชนะได้ การชนะขัปปะได้ก็อาจทำให้ขัปปะตัวนั้นกลายเป็นมิตรที่ซื่อสัตย์กับเราต่อไป เพราะเมื่อพวกมันเอ่ยปากสัญญาอะไรแล้วจะไม่ยอมผิดคำพูดโดยเด็ดขาด เรียกว่าเป็นโยไคที่มีเกียรติและศักดิ์ศรีมากทีเดียว

ดูจะเต็มไปด้วยข้อดีและเป็นมิตร แต่หลายครั้งโยไคชนิดนี้ก็สร้างความเดือดร้อนรำคาญ ทั้งยังอาจเป็นอันตรายต่อผู้คน ขัปปะแม้จะขี้เล่นและชอบกลั่นแกล้ง การแกล้งของมันอาจเริ่มเบาะๆ ด้วยการทำให้ชาวบ้านริมน้ำตกใจ แกล้งมุดเข้ากิโมโนสาว ระเบิดตดเสียงดังลั่นหมู่บ้าน การฉุดวัวควายและม้าลงน้ำ สิ่งที่เริ่มน่ากลัวคือบางครั้งขัปปะที่ดุร้ายก็อาจลักพาตัวกับข่มขืนหญิงสาว ฉุดเอาร่างคนกดน้ำตายหรือดึงลงไปกัดให้เหยื่อขาดใจตายใต้น้ำ

ขัปปะกับประมงสาว[河童と海女] โดยคิตากาวะ อุตะมาโร่ [喜多川 歌麿] (ค.ศ.1778), Public domain, via Wikimedia Commons

มันอาจกินเนื้อมนุษย์ทั้งเป็น แต่ที่ชอบมากสุดคือเครื่องในโดยเฉพาะส่วนภายในทวารหนัก มันจึงมักคอยดักเอามือล้วงเข้ารูทวารของคนที่มาใกล้แหล่งน้ำเพื่อดึงเอา “ชิริโกดามะ” [尻子玉] ก้อนกลมๆ ซึ่งอยู่ลึกๆ ในทวารออกมากินอย่างเอร็ดอร่อย ส่วนมนุษย์คนที่โดนฉกเอาชิริโกดามะไปก็จะเสียชีวิต แต่ก้อนดังกล่าวก็เป็นแค่เพียงความเชื่อเท่านั้น ไม่ได้มีอยู่ในร่างกายของเราจริงๆ กระนั้นเหล่าผู้ใหญ่ก็ยังคอยเตือนไม่ให้เด็กลงเล่นน้ำ ยิ่งเพิ่งกินแตงกวาเข้าไปยิ่งไม่ควร เพราะจะยิ่งกระตุ้นให้ขัปปะมาโจมตีหรือจกก้นของเด็กได้ บางแห่งถึงกับมีป้ายเตือนให้ระวังขัปปะระบาดบริเวณแหล่งน้ำเลยทีเดียว

ตำนานหนึ่งที่เล่าเรื่องของขัปปะผู้มีวิชาจัดกระดูกมาจากตำนานของตระกูลหมอในจังหวัดเอฮิเมะ [愛媛県] ความว่า

นานมาแล้วมีหญิงรับใช้ของหมอคนหนึ่งเดินไปเข้าสุขาด้านนอกเรือน อยู่ๆ ก็มีมือที่เต็มไปด้วยขนมาสัมผัสบั้นท้าย ไม่รู้แน่ว่าเป็นคนหรือลิง สาวใช้กลัวมากและรีบไปเล่าให้หมอฟัง หลังจากได้ยินเรื่องหมอก็คว้าดาบและตั้งใจจะไปจัดการสิ่งปริศนานั้น เมื่อหมอไปถึงห้องส้วม รอให้มือดังกล่าวโผล่เข้ามาในห้องน้ำ แล้วจึงคว้าไว้และใช้ดาบฟันแขนได้ (คาดว่าพอถูกฟันบาดเจ็บ สิ่งนั้นคงหนีไป) หมอได้นำเอาแขนที่ตัดได้เข้ามาในเรือนหลัก เก็บไว้ในห้องตรวจของตนเอง
เย็นอีกวันต่อมามีเสียงเคาะที่ประตูหลัก หมอคิดว่าอาจเป็นคนไข้จึงรีบออกไปดู พบว่าเป็นเอ็นโกะ [猿猴] ที่แขนข้างหนึ่งถูกตัดไปโดยฝีมือเขาเอง เจ้าสิ่งนั้นเรียก “คุณหมอ ได้โปรดคืนแขนที่ขาดไปให้ทันท่วงที หากไม่รีบทายาและต่อแขนกลับช้ากว่านี้ก็คงไม่สามารถต่อติดกันได้อีกต่อไป ข้าจะไม่ทำเรื่องชั่วอีกต่อไป” คราวแรกหมอปฏิเสธ มันจึงเสนอว่าจะสอนความรู้เรื่องยาและกระดูกให้ หมอจึงรับปากและยอมคืน ทำให้ภายหลังตระกูลของแพทย์ผู้นี้กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดกระดูกและส่งต่อองค์ความรู้เป็นมรดกตกทอดกันมา

คำว่าเอ็นโกะนี้แปลตรงๆ ในภาษาไทยคือคำว่า “ลิง” นั่นคือรูปลักษณ์อีกแบบตามตำนานท้องถิ่น อิชิกาวะ ซุนอิจิโร่ [石川純一郎] ได้รวบรวมตำนานท้องถิ่นเกี่ยวกับโยไคที่อาศัยในน้ำจากทั่วประเทศ แล้วจึงพบจุดร่วมที่ตำนานเล่าเกี่ยวกับลักษณะทางกายภาพแบ่งประเภทตามความคล้ายคลึงกับสิ่งมีชิวิต 4 ชนิด ได้แก่ เด็ก, ลิง, เต่า และนาก ชื่อของกัปปะในแต่ละตำนานจึงยึดโยงกับกายภาพที่ปรากฏ นอกเหนือไปจาก 4 แบบที่กล่าวมาแล้ว บางแห่งยังเรียกขัปปะด้วยชื่อที่แปลว่าเสือน้ำอย่างคาวะโทระ [川虎] หรือซุยโกะ [水虎]

Kappa drawings from mid-19th century Suiko juni-hin no zu 水虎十二品之図 (Illustrated Guide to 12 Types of Kappa)
circa 1850 Juntaku, Public domain, via Wikimedia Commons

ชื่อของกัปปะก็อาจมาจากพฤติกรรมของโยไคชนิดนี้ เช่น ทางตอนเหนือของญี่ปุ่นมีตำนาน “โคมะฮิกิ” [駒引] ที่แปลว่า “ตัวฉุดม้า” เพราะมักจะชอบโผล่จากน้ำมาฉุดเอาม้าจมน้ำตาย เป็นต้น ทั้งนี้ไม่ว่าจะถูกเรียกว่าอะไร แต่ที่เหมือนกันอย่างแน่นอนคือพวกมันอาศัยในน้ำ และหากมองว่าขัปปะคือสิ่งเหนือธรรมชาติที่อาศัยในน้ำ ตำนานของกัปปะอาจเก่าแก่ไปได้ถึงยุคปกรณัม โดยปรากฏในนิฮง โชกิ กล่าวว่าปี 379 มี “มิซึจิ” [大虬, 蛟龍, 蛟, 美都知] มังกรหรือสัตว์ประหลาดรูปร่างคล้ายงูซึ่งอยู่ในแม่น้ำคอยดักทำร้ายคน อุปนิสัยตามคำบรรยายก็เป็นอย่างเดียวกับภาพจำของกัปปะในการรับรู้ของบางท้องถิ่นที่เชื่อว่ากัปปะนั้นสามารถทำร้ายคนได้ จึงต้องคอยระวังยามเดินทางไปในลำน้ำต่างๆ ไม่แน่ว่าใช่หรือไม่ แต่กว่าคำว่าขัปปะจะแพร่หลายในสังคมชาวญี่ปุ่นก็เมื่อเข้ายุคเอโดะไปแล้ว

เดิมคำว่าขัปปะเดิมเป็นคำเฉพาะถิ่นแถวตะวันออกของญี่ปุ่นตั้งแต่แถบคันโตถึงโทโฮคุจึงกลายเป็นคำเรียกโยไคที่อาศัยอยู่ในน้ำ ขณะที่ทางฟากตะวันตกอย่างภูมิภาคคันไซในชิโกกุกับคิวชูมีสัตว์ประหลาดชื่อว่า คาวะทาโร่ ลักษณะเป็นสัตว์มีขนทั้งร่างกาย ขนาดตัวเท่ากับเด็ก ยืนตัวตรงเหมือนลิง ชนิดหลังพบในงานเขียนของเทราจิมะ เรียวอัน [寺島良安] ทันตแพทย์จากโอซาก้า เขาได้รวบรวมตำนานเก่าเขียนเป็นหนังสือชื่อเรื่อง “วะคัน ซันไซ ซุเอะ” [和漢三才図会和漢三才図会] แปลว่า สารานุกรมไตรภูมิของจีน-ญี่ปุ่น ตีพิมพ์ราวค.ศ.1712 หนังสือเล่มนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นต้นแบบแรงบันดาลใจให้โทริยามะ เซคิเอ็งเริ่มงานเขียนรวมเรื่องราวของโยไคในเวลาต่อมา

เทราจิมะได้บรรยายถึงคาวะทาโร่เอาไว้ว่า “ขนาดตัวเท่ากับเด็ก 10 ขวบ คาวะทาโร่สามารถยืนและเดินสองขา ทั้งยังพูดจาคล้ายมนุษย์ ผมของมันบางและสั้น บนศีรษะเว้าเป็นแอ่งไว้ขังน้ำ คาวะทาโร่อาศัยอยู่ในน้ำเป็นหลัก แต่ยามบ่ายแก่ๆ ก็จะขึ้นมาบนบกบริเวณริมแหล่งน้ำเพื่อขโมยแตง มะเขือ หรือพืชผลออื่นๆ ที่ปลูกไว้ใกล้เคียง ตามธรรมชาติคาวะทาโร่ชอบกีฬาซูโม่ ยามเห็นคนก็จะชักชวนให้มาประชันกันเสมอ ตราบใดที่บนศีรษะยังมีน้ำอยู่ คาวะทาโร่ก็แข็งแรงกว่านักรบถึง 7 เท่า คาวะทาโร่ยังชอบดึงวัวและม้าลงไปในน้ำเพื่อดูดเลือดจากสะโพกของเหยื่อ ผู้คนพึงระวังยามสัญจรข้ามแม่น้ำ”

หนังสืออีกเล่ม นิฮง ซันไค เมบุทสึ ซุเอะ [日本山海名物図絵] พิมพ์ปีค.ศ. 1754 ก็บรรยายภาพของคาวะทาโร่ที่ถูกพบจากแคว้นบุงโงะ [豊後国] ปัจจุบันคือจังหวัดโออิตะ [大分県] ในเกาะคิวชู คาวะทาโร่ในหนังสือนี้ก็ยังมีลักษณะคล้ายเด็กและมีขนปกคลุมทั่วร่าง การบรรยายภาพทำให้เรารู้สึกว่าคาวะทาโร่ก็ใกล้เคียงกับลิงทั่วๆ ไปที่เราสามารถพบเจอกันได้ตามพื้นที่ป่าเขา

ภายหลัง 2 คำนี้ก็กระจายและถูกนำไปใช้เรียกสิ่งคล้ายๆ กันทั่วประเทศ ก่อนจะถูกนำมาผนวกเป็นสิ่งเดียวกันภายหลังในวรรณกรรมยุคเอโดะนั่นเอง จุดเริ่มต้นของการซ้อนทับกันทางความเชื่ออาจมีที่มาจากงานของโทริยามะ เซคิเอ็งในปีค.ศ. 1776 เกิดการนำภาพจำของตำนานสองฟากมารวมกันและใส่คำบรรยายว่า “กัปปะ เรียกอีกอย่างว่าคาวะทาโร่” นับจากจุดนี้ถึงช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19-20 ภาพของเซคิเอ็งกลายเป็นต้นแบบภาพจำของคนญี่ปุ่นต่อกัปปะมาจนถึงปัจจุบัน

ภาพขัปปะของโทริยามะ เซคิเอ็ง, Public domain, via Wikimedia Commons

เพราะความคล้ายกันมากจนใช้เรียกแทนกันได้ คนเก่าคนแก่บางทีก็ใช้ขัปปะเป็นตัวอธิบายเปรียบเทียบสิ่งที่สิงสู่ในน้ำและชอบคุกคามมนุษย์อย่างหมู่บ้านเทอุชิ [手打] ในเมืองคาโกชิมะ [鹿児島] มีตำนานเกี่ยวกับ “กามิชิโระ” ซึ่งอาจเพี้ยนมาจากคำว่า “คาเมะชิโร่” (ガメシロウ) ที่เมื่อพอถามผู้อาวุโสว่าหน้าตาของกามิชิโระเป็นอย่างไร พวกเขาก็จะตอบง่ายๆ ว่า “คล้ายขัปปะ”

แต่ถ้าย้อนความไปในวัยเด็ก พวกเขาแทบไม่รู้จักขัปปะเลย ข้อมูลของขัปปะล้วนมาจากสื่อสมัยหลังเมื่อเขาโตกันแล้ว อาจกล่าวได้ว่าอิทธิพลของงานวิชาการและข้อมูลข่าวสารมีส่วนทำให้คนจากชุมชนอื่นๆ ซึมซับเอานิยามของคำว่าขัปปะไปเข้ากับเรื่องราวดั้งเดิมของชุมชนจนเกิดประเภทย่อยของขัปปะขึ้นหลายแห่งจนทำให้ชื่อของขัปปะกลายเป็นโยไคยอดฮิตเจอติดกันทุกภาค

นักคติชนวิทยาของญี่ปุ่นเสนอว่าตำนานขัปปะนี้มีความสัมพันธ์กับความเชื่อเรื่องเทพเจ้าแห่งสายน้ำที่เรียกว่า “ซุยจิน” [水神] บางชุมชนที่ทำเกษตรกรรมมองว่าน้ำนั้นสำคัญสำหรับการเพาะปลูก การดูแลไม่ให้สิ่งที่เกี่ยวกับน้ำพิโรธย่อมเป็นสิ่งจำเป็น การจัดการกับขัปปะด้วยมิตรภาพย่อมนำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ ชุมชนที่นับถือขัปปะท้องถิ่นลักษณะนี้จึงนิยมบวงสรวงหรือเอาใจโยไคชนิดนี้ด้วยการวางแตงกวาเอาไว้ริมฝั่งน้ำ ไม่ก็วางในศาลที่สร้างเอาไว้ใกล้แหล่งน้ำของขัปปะ

ตำนานที่สอดคล้องกับแนวคิดว่าขัปปะมีความเกี่ยวข้องกับเทพแห่งน้ำและความอุดมสมบูรณ์อาจมาจากเรื่อง “ขัปปะมุโคะอิริ” [河童婿入り] แปลว่า “เจ้าบ่าวขัปปะ” เล่าถึงชาวนาคนหนึ่งประกาศจะยกลูกสาวให้ใครก็ตามที่ทำให้นาของเขาชุ่มชื้น กลายเป็นว่าสิ่งที่ทำได้ดันไม่ใช่คนแต่เป็นขัปปะ ลูกสาวชาวนาไม่อยากแต่งงานกับสัตว์ประหลาด นางจึงออกอุบายท้าทายให้ขัปปะจมผลน้ำเต้าลงในแม่น้ำจึงจะยอมแต่งงาน ทว่าการจมน้ำเต้านั้นเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน ขัปปะพยายามจนเหนื่อยล้าจึงยอมถอยไปในที่สุด

ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องเล่าขัปปะของชาวญี่ปุ่น ยังมีอีกมากมายที่ยังไม่ได้กล่าวถึงในตอนนี้ เพราะนับตั้งแต่เอโดะจนมาถึงยุคนี้ ขัปปะก็ยังเป็นโยไคที่ถูกผลิตซ้ำในสื่อต่างๆ มากมาย ไม่ต่างอะไรกับจำนวนสายน้ำที่ยังคงหลั่งไหลอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของโลกอย่างไม่รู้จักจบสิ้น

Yoshitoshi c.1881, Public domain, via Wikimedia Commons
โฆษณา

References :

Advertisement

ใส่ความเห็น

Please log in using one of these methods to post your comment:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.