รวมลิ้งเว็บไซต์และแพลตฟอร์มให้บริการข้อมูลจารึกกับเอกสารโบราณที่ให้บริการแก่ประชาชนผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงฐานข้อมูลหนังสือเก่า หนังสือหายาก ไปจนถึง eBook และบทความ/หนังสือวิชาการที่เปิดให้เข้าอ่านได้ฟรี
การเข้าถึงเอกสารโบราณรวมถึงข้อมูลด้านจารึก สมุดไทย ใบลาน หนังสือเก่า และหนังสือหายากไม่ได้ยากเย็นเหมือนแต่ก่อน เราขอแนะนำเว็บไซต์กับแอพพลิเคชั่นที่ให้บริการข้อมูลด้านเอกสารโบราณ แถมด้วยคลังอ่านหนังสือดิจิทัลไม่เสียค่าใช้จ่ายทั้งแบบลงทะเบียนและไม่ต้องลงทะเบียน สามารถค้นคว้าเอกสารและตำราวิชาการบางเล่มได้ด้วย ผู้ให้บริการเหล่านี้มีใครกันบ้าง มาดูกัน!
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณ จารึก สมุดไทย ตู้พระธรรมและคัมภีร์ใบลาน หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร

ไม่จำเป็นต้องสมัครสมาชิก ประชาชนเข้าถึงข้อมูลจารึกรวมถึงคำอ่าน-คำแปลได้
Link : http://manuscript.nlt.go.th
จัดทำโดยกลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร หน่วยงานหลักในการจัดเก็บ ดูแลอนุรักษ์ เอกสารโบราณที่มีอายุนับ 100 ปีขึ้นไป แบ่งประเภทเอกสารโบราณออกเป็น 3 ประเภท คือหมวดจารึก, คัมภีร์ใบลาน และสมุดไทย
ตัวจารึกโบราณประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลจารึก รวมถึงภาพสำเนาจารึกและคำอ่าน-คำแปล ส่วนสมุดไทยและใบลานยังไม่มีบริการไฟล์ PDF แต่มีข้อมูลสังเขปเกี่ยวกับเอกสาร สามารถให้สืบค้นตามเรื่องที่สนใจก่อนทำหนังสือไปขอตรวจรายการหรือขอทำสำเนาได้ โดยมีให้บริการทำสำเนาตามนี้
- การถ่ายเอกสารสำเนาจากคำคัดถ่ายถอด
- การสำเนาเอกสารจากต้นฉบับ
- การสำเนาเอกสารจากไมโครฟิล์ม
- การอัดขยายภาพถ่ายจากฟิล์ม/ภาพนิ่ง
- การสำเนาภาพนิ่ง
การขอเข้าใช้บริการเอกสารโบราณของกลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ
ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ไม่จำเป็นต้องสมัครสมาชิก ประชาชนเข้าถึงข้อมูลจารึกรวมถึงคำอ่าน-คำแปลได้ สามารถดาวน์โหลดไฟล์ PDF ได้ไม่จำกัดเวลา
Link : https://db.sac.or.th/inscriptions
ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีการนำข้อมูลจารึกกับเอกสารโบราณจากหลายแห่งมารวมกัน มีข้อมูลด้านการปริวรรต ปีที่อ่าน สามารถดาวน์โหลดสำเนาจารึกและคำอ่าน-คำแปลในรูปแบบไฟล์ PDF ได้ ขนาดไฟล์ค่อนข้างกะทัดรัด ไม่หนักหน่วยความจำจึงโหลดและแสดงผลได้ง่าย นอกจากนี้ทางศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรยังให้บริการผ่านทางแอพพลิเคชั่นทั้ง iOS และ Android
Application : Smart SAC


ระบบสืบค้นเอกสารจดหมายเหตุ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

จำเป็นต้องสมัครสมาชิกโดยใช้เลขประจำตัวประชาชนในการสมัคร ใช้สำหรับการสืบค้นเอกสารจดหมายเหตุ รวมถึงการสั่งทำสำเนาเอกสารจดหมายเหตุ
Link : https://archives.nat.go.th
เป็นเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นให้สืบค้นเอกสารจดหมายเหตุที่อยู่ในการดูแลของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เพื่อให้สะดวกต่อการขอสำเนา ประหยัดเวลาในการสืบค้นของหอสมุดฯ โดยมีฐานข้อมูลที่รวมเอาหมายเลขของเอกสารจดหมายเหตุจากทั่วประเทศ ประเภทเอกสารที่ให้บริการได้แก่…
- เอกสารจดหมายเหตุประเภทลายลักษณ์อักษร
- เอกสารโสตทัศนจดหมายเหตุ-ภาพ
- เอกสารจดหมายเหตุประเภทแผนที่ แผนผัง แบบแปลน
- เอกสารโสตทัศนจดหมายเหตุ-แถบบันทึกภาพ
- เอกสารโสตทัศนจดหมายเหตุ-แถบบันทึกเสียง
ระบบสืบค้นหอจดหมายเหตุดังกล่าวยังให้บริการผ่านระบบ iOS และ Android ตามช่องทางด้านล่าง
Application : NAT Archives
ระบบคลังข้อมูลดิจิทัลทางมรดกศิลปวัฒนธรรม กรมศิลปากร

จำเป็นต้องสมัครสมาชิก ระบบไม่เสถียรบางทีจะเข้าอ่านหน้าหนังสือบางเล่มไม่ได้ ไม่สามารถดาวน์โหลดไฟล์เอกสาร PDF ตัวแอพพลิเคชั่นบางระบบยังไม่สามารถล็อกอินได้ (Note : Android)
Link : http://digitalcenter.finearts.go.th/home
เป็นเว็บและแอพพลิเคชั่นที่รวบรวมหนังสือเก่า เอกสารโบราณ ไปจนถึงเอกสารองค์ความรู้ วารสารและหนังสือที่จัดทำโดยกรมศิลปากร มีจำนวนหนังสือค่อนข้างเยอะ เพียงแต่ขนาดของไฟล์ PDF ค่อนข้างใหญ่และหนัก ทำให้การเปิดอ่านค่อนข้างเสียเวลาในการดาวน์โหลด แต่สามารถเข้าใช้งานได้ฟรี ไม่เสียค่าบริการ
รีวิวการใช้งานจริง : พบว่าปัจจุบันตัวแอพพลิเคชั่นบนระบบแอนดรอยไม่สามารถล็อกอินได้ แต่บนบราวเซอร์ยังสามาถเข้าล็อกอินได้
Application : Fine Arts Digital Center
ระบบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ E-Library จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไม่จำเป็นต้องสมัครสมาชิก สามารถอ่านผ่านระบบบนบราวเซอร์ได้เท่านั้น ไม่สามารถดาวน์โหลดไฟล์เอกสาร PDF ได้
Link : http://eresource.car.chula.ac.th/chula-ebooks
เว็บเผยแพร่หนังสือเก่า หนังสืองานศพ และหนังสือหายาก รวมถึงงานวิชาการและวิทยานิพนธ์ภายในสังกัดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถเข้าอ่านได้ฟรีผ่านช่องทางบราวเซอร์ ไม่ต้องเสียเวลาสมัครก็อ่านได้ฟรี
ตัวอย่างหนังสือหายากที่มีให้บริการ
- หนังสือเก่าทรงคุณค่าของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- หนังสือส่วนพระองค์ของกรมพระจันทบุรีนฤนาถ
- หนังสือส่วนพระองค์ของกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร
- นิทรรศการถาวรในอาศรมวงศาธิราชสนิท
- เอกสารต้นฉบับตัวเขียน สมุดไทย
- ราชกิจจานุเบกษาฉบับแรก – พ.ศ. 2487 (สมัยรัชกาลที่ 8)
- หนังสือที่จัดพิมพ์ในโอกาสพิเศษต่างๆ
- หนังสืองานศพของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ หรือมีเนื้อหาภายในสำคัญต่อประวัติศาสตร์ไทย
- พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สิ่งพิมพ์ที่เกี่ยวเนื่องกับรัชกาลที่ 9 ผลงานพระราชนิพนธ์ของพระราชวงศ์ที่เกี่ยวกับจุฬาฯ
- หนังสือพิมพ์ / วารสารฝรั่งเศส L’Illustration & Le Petit Journal
- พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐออนไลน์ เล่ม 1-45
คลังข้อมูลดิจิทัลของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ให้บริการสืบค้นเอกสารฉบับเต็ม

จำเป็นต้องสมัครสมาชิกถึงสามารถดาวน์โหลดเอกสาร PDF ออกมาอ่านได้ แต่ไฟล์มีระยะเวลาจำกัดในการอ่านประมาณ 30 วันแล้วจึงหมดอายุ แต่สามารถเข้าระบบไปดาวน์โหลดมาอ่านใหม่ได้ คล้ายระบบการยืมหนังสือ
Link : https://digital.library.tu.ac.th
เป็นฐานข้อมูลหนังสือคล้ายของจุฬาลงกรณ์ฯ แต่มีปริมาณที่หลากหลายมากกว่า การจัดหมวดหมู่ดูง่ายต่อการสืบค้น โดยแบ่งออกเป็น 9 หมวดหมู่ได้แก่ eBook, กฎหมาย, การเมืองการปกครอง, ข้อสอบเก่า, งานวิจัยและวิทยานิพนธ์, เอกสารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หนังสืองานศพ/หนังสือหายาก, หนังสือพิมพ์เก่าและเอกสารส่วนบุคคล ในการใช้งานต้องทำการสมัครและล็อกอินเพื่อเข้าใช้บริการโดยมีเวลาจำกัด (ถึงหลุดก็สามารถล็อกอินใหม่ได้ ไม่เป็นปัญหา) ให้บริการดาวน์โหลดเอกสาร PDF ที่มีจำกัดอายุประมาณ 30 วัน แต่สามารถกลับเข้าไปโหลดไฟล์ใหม่มาอ่านอีกได้
ห้องสมุดดิจิทัลวัชรญาณ

ไม่จำเป็นต้องสมัครสมาชิก สามารถอ่านผ่านระบบบนบราวเซอร์ได้เท่านั้น ไม่สามารถดาวน์โหลดไฟล์เอกสาร PDF ได้
Link : https://vajirayana.org/
ให้บริการอ่านข้อความจากหนังสือเก่า หนังสือหายาก หนังสืองานศพ โดยเข้าใช้งานได้ทั้งบนบราวเซอร์และแอพพลิเคชั่น ตัวแอพฯ ยังสามารถอ่านในระบบออฟไลน์ได้ หนังสือประเภทพงศาวดารและจดหมายเหตุในอดีตของสยามค่อนข้างครบและอยู่ในรูปอักษรที่อ่านง่าย เหมาะสำหรับคนที่อ่านไฟล์สแกนจากหนังสือเก่าแล้วลำบาก อยากอ่านง่ายๆ สบายตา ไม่ต้องดาวน์โหลดเหมาะกับเว็บนี้
Application : วชิรญาณ
ห้องสมุดดิจิทัลสำนักหอสมุดแห่งชาติ

ไม่จำเป็นต้องสมัครสมาชิก สามารถอ่านผ่านระบบบนบราวเซอร์ได้เท่านั้น ไม่สามารถดาวน์โหลดไฟล์เอกสาร PDF ได้
Link : https://mobile.nlt.go.th/
เว็บไซต์ฐานข้อมูลจากหนังสือในสังกัดสำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร มีหนังสือเก่าบางเล่มคล้ายๆ ที่คลังข้อมูลดิจิทัลฯ กรมศิลปากร แต่การเข้าอ่านหนังสือหายากดีกว่ามาก สามารถพลิกอ่านหนังสือได้ง่าย สบายตา เพียงใช้งานผ่านบราวเซอร์ ไม่จำเป็นต้องสมัครสมาชิกหรือยืนยันตัวตนก่อนใช้งาน
ตัวเว็บไซต์ยังให้บริการติดต่อยืม-คืนหนังสือของหอสมุดแห่งชาติ โดยการสมัครสมาชิกของหอสมุดฯ การสมัครจำเป็นต้องใช้รหัสประจำตัวประชาชน หนังสือที่ให้บริการยืม-คืนจะมีตัวอย่างให้อ่านบนเว็บบางส่วนเพื่อให้ผู้ใช้สามารถตัดสินใจในการยืมล่วงหน้า
สำหรับฐานข้อมูลดิจิทัลของหอสมุดแห่งชาติยังมีแอพพลิเคชั่นให้บริการในระบบ iOS และ Android อีกด้วย
Application : NLT Library
Museum Siam Knowledge Center

Link : http://knowledge-center.museumsiam.org/
เว็บและแอพพลิเคชั่นทางการของศูนย์การเรียนรู้มิวเซียมสยาม ให้บริการยืมหนังสือทั้งแบบเล่มและ eBook โดยสามารถค้นหาและยืมได้ผ่านทางแอพพลิเคชั่นจะสะดวกกว่าบนเว็บที่บางทีไม่ได้รองรับการเปิดอ่านหนังสือ เป็นอีกช่องทางของเยาวชนและบุคคลทั่วไปที่สนใจสามารถเข้าอ่านได้ โดยไม่จำกัดเพียงหนังสือเก่า แต่ยังมีหนังสือวิชาการใหม่ๆ รวมถึงเอกสารความรู้จากทางมิวเซียมสยามไว้บริการ
Application : Museum Siam Knowledge Center
มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

ไม่จำเป็นต้องสมัครสมาชิก สามารถดาวน์โหลดไฟล์ PDF ได้ไม่จำกัดเวลา
Link : http://textbooksproject.org/
เว็บไซต์สำหรับให้เข้าอ่านหนังสือในโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีหนังสือในรูปแบบ PDF file ให้ดาวน์โหลดอ่านได้ฟรี บางเล่มมีจำหน่ายในรูปเล่มก็ยังสามารถโหลดอ่านได้ เว็บนี้เหมาะสำหรับสายการเมืองการปกครอง และสังคมศาสตร์ มีหนังสือที่มีคณาจารย์ชำนาญด้านดังกล่าวให้ศึกษาไม่น้อย

หวังว่าฐานข้อมูลที่ทางเราได้รวบรวมมาจะเป็นประโยชน์ต่อบุคคลทั่วไป นักเรียนนักศึกษา ไปจนถึงบุคคลากรด้านการศึกษาและวิชาการไม่มากก็น้อย หากทางเราพบแหล่งข้อมูลที่ให้บริการสืบค้นเอกสารโบราณกับองค์ความรู้เพิ่มเติม จะนำมาแนะนำเพิ่มในอีกครั้งต่อๆ ไป
หากมีความสนใจในเรื่องราวความรู้ด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ท่านสามารถติดตามช่องทางต่างๆ ของ @ArchaeoGO ได้ทางลิ้งด้านล่างเพื่อไม่ให้พลาดการอัพเดทต่างๆ ของเรา
