แฟชั่นเจ็บ! #1 การรัดเท้าของสาวจีนโบราณ

รู้หมือไร่ เอ้ย รู้หรือไม่? ซินเดอเรลล่ามาจากจีน ไม่ใช่ยุโรป ตำนานของสาวน้อยเท้าเล็ก ผู้มัดใจจักรพรรดิ แท้จริงนั้นคือความสวยงามที่แลกมาด้วยความทรมานของสาวๆ “เท้าดอกบัว” คือชื่อเรียกของพิธีการรัดเท้าของสาวจีนโบราณที่สืบทอดมากว่าพันปี

Photo from zhiyin.cn.

บล็อกนี้เป็นการเปิดซีรีส์หมวด “แฟชั่นเจ็บ! : ประวัติศาสตร์ของความสวยงาม” ซึ่งจะเป็นการนำเรื่องราวประวัติศาสตร์เกี่ยวกับค่านิยมความสวยงามและแฟชั่นในอดีตมาเล่าสู่กันฟังนั่นเอง ด้วยความที่เราเองก็เรียนด้านนี้ และชื่นชอบด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เราจึงอยากมานั่งเขียนเล่าเกร็ดที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องค่านิยมความสวยความงามและแฟชั่นจากในอดีตกันบ้าง ซึ่งบางเรื่องนั้นอาจจะเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราคุ้นเคย แต่ก็ไม่ได้ใส่ใจรายละเอียดมากนัก บางเรื่องก็อาจจะเพิ่งเคยได้ยินกัน ก็ขอให้สนุกกับการอ่านนะคะ

A 1930s shoe made for the bound foot. (Gerhard Joren/LightRocket/Getty)

ที่เปรยเรื่องซินเดอเรลล่าไว้ย่อหน้าแรกนั่นทำไว้เพื่อกระตุ้นต่อมอยากเผือกเฉยๆ แท้จริงแล้วตำนาน หรือนิทานที่เข้าแนวซินเดอเรลล่านั้นมีเกิดขึ้นในหลายท้องที่ จนยากที่จะสรุปได้ว่าของใครเป็นต้นขั้วกันแน่ แต่สำหรับในจีนนั้น นอกจากจะมีตำนานซินเดอเรลล่าแบบจีนแล้ว ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับความนิยมเท้าเล็ก จนขยายออกมาเป็นแฟชั่นที่สาวจีนกว่า 40-50% นิยมทำตามแม้ว่าจะนำพาซึ่งความเจ็บปวดสุดสาหัส เพราะต้องหัก และดัดกระดูกเท้า เพื่อให้ได้ความงามน่าทนุถนอมนี้ขึ้นมา

เปิดตำนานการรัดเท้าของสาวแดนมังกร 

เรื่องราวของการห่อเท้านั้น ไม่ปรากฏอย่างแจ่มชัดในประวัติศาสตร์เสียเท่าไร มีเพียงตำนานของกษัตริย์แห่งหนานถัง (หนึ่งในห้าอาณาจักร ช่วงรอยต่อปลายราชวงศ์ถัง จนถึงราชวงศ์ซ่ง) นามว่าหลี่อวี้ มีนางในคนโปรดนามว่า “หย่าวเหนียง” มีความสวยงามของเท้าขนาดเล็กราวกับเดือนเสี้ยว ยามร่ายรำเป็นที่ต้องตาต้องใจยิ่ง จนหลี่อวี้ถึงกับสร้างดอกบัวจำลองขนาด 6 เชียะ (ประมาณ 6 ฟุต) ให้นางหย่าวเหนียงขึ้นไปเต้นระบำได้

โดยเล่าว่านางหย่าวเหนียงนั้น จะใช้แถบผ้ารัดเท้าให้ยิ่งดูงองุ้มโค้งเป็นวงพระจันทร์ ก่อนขึ้นไปร่ายรำ แม้ว่าเรื่องราวของหลี่อวี้และนางหย่าวเหนียงนี่ยังเป็นที่วิพากษ์กันอยู่ว่าคือที่มาของการรัดเท้าหรือไม่ เพราะว่านางหย่าวเหนียงเองก็รัดเท้าแค่เฉพาะตอนรำ และสถานะของทั้งคู่ยังเป็นเพียงกษัตริย์รัฐเล็กๆ และนางระบำเท่านั้น จึงไม่น่าจะส่งอิทธิพลไปในวงกว้างได้ ทว่าวัฒนธรรมในการห่อเท้าเอง ก็ค่อยๆ แพร่หลายแทรกซึมไปเฉพาะบางกลุ่ม บางภูมิภาค ฉะนั้นก็เป็นไปได้ว่าจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ก็อาจส่งต่อจนเป็นวัฒนธรรมร่วมกันได้

แม้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าหญิงจีนภายหลังจากรอยต่อราชวงศ์ถัง กับหนานถัง (ซ่ง) เริ่มฮิตรัดเท้ากันมากขึ้นด้วยเหตุใดกันแน่ แต่พอจะอนุมานได้ว่าเกิดขึ้นภายหลังราชวงศ์ถังเป็นต้นมา เพราะในสมัยราชวงศ์ถังนั้น ยังมีการบรรยายถึงลักษณะเท้าของสตรีที่สวมถุงเท้าแยกนิ้ว แบบที่คล้ายกับทะบิของญี่ปุ่น ฉะนั้นการเริ่มห่อเท้าของสาวจีนก็ควรที่จะเกิดขึ้นภายหลังช่วงราชวงศ์ถังเป็นต้นมา

ภายหลังช่วงเวลาดังกล่าว เท้าก็กลายเป็นพื้นที่สงวนของสาวๆ ที่สร้างความเย้ายวนใจมากกว่าส่วนอื่นๆเสียอีก เพราะการดูแลเท้าที่ต้องปกปิด ห้ามให้ใครเห็น จนเท้าเปลือยๆนั้นกลายเป็นเรื่องเร้นลับซะยิ่งกว่าลับ ผู้หญิงที่รัดเท้าจะไม่พูดถึงการรัดเท้าต่อหน้าผู้ชายหรือที่สาธารณะเลย แม้ถูกถามก็อาจจะถึงขั้นเขินจนหน้าแดงได้

ด้วยความสงวนหวงแหน และความหมกหมุ่นในขนาดเท้า วัฒนธรรมการรัดเท้าก็กลายเป็นเรื่องของ กามวิตถารประเภทชอบเท้า หรือรองเท้าไปในบัดดล (Foot-fetism / Shoe- fetism) ในนิยายรักหลายเรื่องจึงมีการบรรยายความรู้สึกดึงดูดใจของชายหนุ่มต่อเท้าเล็กๆเสมอ และพื้นที่เท้าภายใต้ผ้ารัดรึงนั้นก็กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของเสน่ห์ทางเพศโดยปริยาย

อาทิเช่น ในนิยายอีโรติกเรื่อง “จินผิงเหมย” ก็มีการบรรยายถึงตอนที่ซีเหมินจิ้ง ตัวเอกผู้หมกหมุ่นในโลกีย์บรรยายชื่นชมเท้าเล็กๆ ของนางกิมเหล็ง ภรรยาคนที่ห้า ว่ามีเท้าเล็กน่าดูยิ่งนัก อีกทั้งในตอนที่พยายามจะสื่อว่าอยากสัมพันธ์กับนางในทางสังวาส พ่อซีเหมินก็แกล้งทำของตก แล้วแอบจับเท้าของนางเลยเชียว การทำเช่นนี้เป็นการสื่อนัยๆ เกี่ยวกับการ “เบิกทาง” ไปสู่เรื่องเชิงชู้สาว ถ้าสาวเจ้ายินยอม ก็อาจจะมีขวยเขินเล่นตัวบ้าง แต่ถ้าสาวเจ้าไม่พอใจ…ก็เป็นอีกงานนะ คุณผู้ชม (สงสัยมีเตะ)

ร่องรอยหลักฐานของการรัดเท้านั้น ยากที่จะตามรอยได้เจอ (โดยเฉพาะบนอินเตอร์เนตนี่แหละ) เพราะส่วนมากนั้นมาจากการศึกษาโดยยกตัวอย่างวรรณกรรม และประจักษ์พยานที่ยังมีชีวิตอยู่ถึงยุคปัจจุบันเท่านั้น หลักฐานบางชิ้นก็ดูจะปลอมแปลงได้อีก ส่วนภาพวาดนั้นก็แทบไม่ได้ลงรายละเอียดส่วน “เท้า” ของสาวๆ มากเท่าไรนัก

ตัวอย่างคงมีเพียงภาพชุดผลงานของ หยิน ชี่ (Yin Qi) ซึ่งจัดเป็นงานชุดอีโรติก หรือ พอร์นโนกราฟฟี มีอายุอยู่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 (เข้าชมได้ทางแกลลอรีของ MFA : Museum of Fine Arts in Boston) ซึ่งเป็นภาพการร่วมเพศต่างๆ ซึ่งในภาพนั้นสามารถมองเห็น “เท้าที่ถูกรัด” ได้อย่างชัดเจน แม้ว่าจะเปลือยล่อนจ้อนทั้งตัวก็ตามแต่ มองได้อีกนับว่าในการเปลือยเท้าเล็กๆ นั้น แลดูจะเป็นความรู้สึกโป๊เปลือย ส่อไปในทางเรื่องเพศ ของสงวนทางเพศ ยิ่งกว่าตัวอวัยวะเพศอย่างหน้าอก และ…นั่นแหละค่ะ

วิธีการรัดเท้า

กรรมวิธีในการรัดเท้านี้ เต็มไปด้วยความเจ็บปวด และเด็กสาวหลายคนอาจจะเสียชีวิตจากการติดเชื้อจากบาดแผลได้โดยง่าย อีกทั้งการรัดเท้านั้นกินระยะเวลาเป็นปีกว่าจะสามารถทำให้เท้าธรรมชาติถูกดัดจนโค้งงอแบบวงพระจันทร์ได้

Photo from library.lehigh.edu

โดยเด็กหญิงจะเริ่มถูกรัดเท้าครั้งแรกตอนอายุได้ 4 – 7 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่กระดูกเท้านั้นเจริญไม่เต็มที่ ยังมีความอ่อนตัวอยู่มาก เนื่องจากคนจีนให้ความสำคัญกับขนบธรรมเนียมและความเชื่อมาก จึงมักจะมีการเลือกฤกษ์วัน หรือฤดูกาลที่เหมาะสมด้วย

โดยพิธีการรัดเท้า มักจะทำกันในช่วงฤดูใบไม้ร่วง เพื่อให้ความเย็นช่วยทำให้เกิดความรู้สึกชา และบรรเทาความเจ็บปวดของเท้า วันที่นิยมทำกันคือในวันที่ 24 เดือนแปด ตามปฎิทินจันทรคติ ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลสำหรับเทพธิดาเท้าเล็ก (?) โดยในคืนก่อนการมัดเท้า จะมีการบวงสรวงโดยการนำรองเท้าที่จะให้เด็กสาวใส่มาตั้งปะรำพิธีเซ่นไหว้เทพกลางแจ้ง ด้วยเครื่องหอม ผลไม้ และขนมปั้น เมื่อพ้นคืนแล้วขนมนั้นก็อาจจำมาให้เด็กสาวรับประทานเพื่อความเป็นมงคล อีกวันที่นิยมกันอยู่ในช่วงเดือนที่สอง คือวันที่ 19 ซึ่งถือเสมือนว่าเป็นวันเกิดเจ้าแม่กวนอิม เจ้าแม่แห่งความเมตตา

Photo from fengjing.com.

อันดับแรกเด็กสาวที่จะถูกทำการรัดเท้านั้น จะต้องถูกแช่ลงในน้ำร้อนที่ผสมเลือดสัตว์กับสมุนไพรในระยะเวลาหนึ่ง ส่งผลให้ผิวหนังชั้นนอกหรือเซลที่ตายแล้วหลุดออก สูตรขั้นตอนการเตรียมเท้านี้ อาจจะมีแตกต่างไปในแต่ละพื้นที่ บางพื้นที่อาจใช้เพียงน้ำต้มสมุนไพรธรรมดา บางทีก็ผสมเลือดสัตว์เข้าไปด้วย หรือบางทีฮาร์ดคอร์กว่า ก็อาจจะนำกระเพาะสัตว์มาผ่าเปิดออก แล้วให้เด็กเอาเท้าสอดไปในกระเพาะนั้นประมาณ 2 ชม. (นึกว่าสูตรตุ๋นขาหมู เครื่องในเป็ด TwT)

ก่อนที่จะทำการตัดเล็บเท้าให้สั้นที่สุด หรือบางทีอาจจะทำการถอดเล็บออกไปเลย (ไอ่หยา~) เมื่อจัดการกับเล็บแล้ว ก็จะเริ่มทำการมัด ซึ่งใช้แถบผ้าฝ้ายกว้างประมาณ 2 นิ้ว และยาวราวๆ 3 เมตร ผ้านี้จะต้องนำไปต้มในน้ำเดือดจนแห้งแล้วจึงนำมาใช้ได้

การมัดจะเริ่มโดยจะพับนิ้วเท้าทั้งสี่นิ้ว ตั้งแต่นิ้วชี้จนถึงก้อยให้พับลงไปหาฝ่าเท้า ถ้ากระดูกแข็งหน่อย ก็อาจจะเริ่มมีการหักกันตรงนี้แหละ โดยจะเหลือแต่นิ้วโป้งไว้เท่านั้น

ยังเจ็บปวดกันไม่พอ เมื่อพันทบนิ้วทั้งสี่ลงไปแนบฝ่าเท้าแล้ว ก็จะต้องดันข้อเท้าและเท้าส่วนหน้าให้แนบชิดกัน ในลักษณะทำให้ส่วนโค้งฝ่าเท้านั้นแอ่นมากยิ่งขึ้น แน่นอนว่ากระดูกโค้งส่วนกลางเท้าหักกันพินาศตอนนี้เลย ทั้งหมดทั้งมวลจึงถูกมัดปิดให้แน่นไว้ด้วยกันอีกครั้ง เพื่อป้องกันผ้าหลุดซึ่งอาจจะเกิดจากการเคลื่อนไหว หรือการแอบแกะผ้าออกของเด็ก จึงต้องมีการเย็บผ้าปิดไว้ด้วย และจะต้องมีการเปิดผ้าออกมาล้างแผล ซับเลือดซับหนอง และพันกลับเข้าไปใหม่ทุกๆ 2 วันในระยะแรก

หากรู้สึกว่าโดนหักนิ้ว หักกระดูกเท้าว่าโหดแล้ว เด็กสาวยังต้องสตรองพอที่จะฝึกเดินเพื่อให้น้ำหนักตัวนั้นแหละ ช่วยบังคับรูปเท้าให้อยู่ทรงตามที่รัดเอาไว้ เป็นความเจ็บปวดเหมือนโดนเข็มทิ่มแทงกันเลยทีเดียว อีกทั้งแผลช้ำเลือดช้ำหนองยังส่งกลิ่นไม่น่าดูชมอีกต่างหาก กว่าที่แผลจะหายสนิท และกระดูกเข้าที่ตามทรงที่แม่เฒ่าของหมู่บ้าน, ยาย หรือแม่ ใครก็ตามที่เป็นคนจัดการมัดไว้ต้องการนั้น ก็ต้องรอประมาณ 2 ปีกันเลยทีเดียว

feet of Chinese woman, bound, compared with tea cup and American woman’s shoe. World War 1 era. Selected by Kathleen. from www.flickr.com

ขนาดของเท้าจะถูกลดลงเหลือ 3-4 นิ้ว และขนาดที่มากสุดนั้นไม่เกิน 5 นิ้ว ทำให้การเคลื่อนไหวมีปัญหา สาวเท้าดอกบัวจะสามารถเดินได้ไกลสุดแค่ราวๆ 3-4 ไมล์เท่านั้น ซึ่งจะทำให้แทบออกนอกหมู่บ้านของตนไม่ได้เลย และการทำงานภายในบ้านนั้น แค่เคลื่อนไหวก็ยังต้องใช้คนช่วย หรือไม้เท้าพยุง

เท้าอันถูกดัดจนเป็นเส้นโค้งดังเสี้ยวจันทร์นี้ ถูกตั้งชื่อซะเพราะพริ้งว่า “เท้าดอกบัว” ฟังดูเหมือนจะหายเจ็บ แถมยังมีเรียกตามความสมบูรณ์แบบของขนาดเท้านี้ด้วย เช่น ขนาดที่สวยที่สุดคือ 3 นิ้ว จะเรียกกันว่า “เท้าดอกบัวทองคำ” หากยาว 4 นิ้ว เรียกว่า “เท้าบัวเงิน” และขนาดที่เกินไปกว่า 4 นิ้วนั้นถูกเรียกว่า “เท้าดอกบัวเหล็ก” ซึ่งขนาดของเท้าเหล่านี้ก็สัมพันธ์กับชาติตระกูลในสังคมอีกด้วย

Si Yin Zhin, 90 years old in 2011 Photo from www.theguardian.com

การเปลี่ยนแปลงและผลกระทบหลังการรัดเท้า

ผลกระทบจากการรัดเท้าในเรื่องทางกายภาพนั้น ถือว่าเป็นการฝืนธรรมชาติและปรับเปลี่ยนโครงสร้างของกระดูกเท้าเลยทีเดียว การรัดเท้าเป็นการทำให้กระดูกฝ่าเท้า (Metatarsals) ซึ่งเป็นบริเวณตรงกลางเท้าแอ่นขึ้น โค้งงอเสียจนแทบจะติดกับบริเวณข้อเท้า ส่วนน้ำหนักตัวที่กดลงไปบนนิ้วทั้งสี่ที่หักพับไว้ ทำให้กระดูกและเนื้อส่วนนิ้วชี้ ไปจนถึงนิ้วก้อยไม่เจริญเติบโตได้ตามปกติ

ครงกระดูกส่วนเท้าเปรียบเทียบระหว่างเท้าปกติ(บนซ้าย) กับเท้าดอกบัว(บนกลาง) ที่มีอายุราว 1800-1900s Photo from Sally Neate on Flickr.com The Musuem of Osteology,Oklahoma City

แต่อย่างไรก็ตาม การดูแลเท้าให้ดูสวยนั้นเป็นเรื่องยุ่งยากมากเสียจนในระยะแรกนั้น การรัดเท้าดูจะเป็นเรื่องที่ทำกันในหมู่ชนชั้นสูง ประเภทไม่ต้องทำงานทำการก็ไม่ลำบากทำนองนั้น ก่อนจะค่อยๆ แพร่กระจายมาในชนชั้นอื่นๆ เอาเป็นว่าบ้านไหนมีฐานะพอที่สาวๆจะไม่ต้องจับงานหนัก ก็สามารถรัดเท้าดอกบัวไปจับลูกเขยเชิดหน้าชูตาวงศ์ตระกูลได้

French Postcard 1900s. Photo from bbs.wenxuecity.com

ความนิยมของการรัดเท้านั้นเป็นไปอย่างเฉพาะกลุ่ม และแพร่กระจายเป็นช่วงๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์และชนชั้น ซึ่งแต่เดิมเริ่มนิยมกันในหมู่สตรีชาวฮั่น แต่พอมาถึงสมัยมองโกลเรืองอำนาจ (ราชวงศ์หยวน) หรือราวช่วงคริสตศตวรรษที่ 12 สตรีชาวมองโกลและแมนจูกลับไม่ถูกจริตกับการรัดเท้าแบบสาวฮั่นเสียเท่าไร โดยเฉพาะสาวชาวแมนจู ซึ่งจะไม่รัดเท้าของตนเองเลย (แต่กลับมีการพัฒนารองเท้าส้นสูงขึ้นมาซะเอง เก๋ไปอีก)

ช่วงคริสตศวรรษที่ 17 เป็นสมัยที่การรัดเท้าของสตรีแพร่หลายออกไปมากขึ้น คงมีเพียงบ้านยากจนมากจริงๆ ถึงจะไม่รัดเท้าให้ลูกสาว หรือพวกชนชั้นแรงงานที่ต้องทำมาหากิน ก็อาจจะไม่มัด ถึงจะมัดก็อาจลดทอนวิธีการและความแน่นของผ้ารัดให้น้อยกว่าลูกผู้ดี เพราะยังต้องอาศัยการเคลื่อนไหวที่สะดวกอยู่นั่นเอง

พวกผู้หญิงทางภาคเหนือนั้นนิยมการรัดเท้ามาก แทบจะทุกคนในหมู่บ้านเลยก็ว่าได้ ต้องผ่านการรัดเท้ากันเสียหมด เพื่ออวดความสวยงาม และความเซ็กซี่เพื่อดึงดูดทั้งพ่อสื่อแม่สื่อ รวมถึงบุรุษที่หมายปอง ในขณะภูมิภาคทางการเกษตรอย่างทางตอนใต้ของจีน กลับไม่รัดเท้า เนื่องมาจากความสะดวกในการประกอบกสิกรรม อาทิ การทำนา ซึ่งเป็นงานหนักและต้องกระทำกันกลางแจ้ง

เมื่อพวกแมนจูเป็นใหญ่ตั้งราชวงศ์ชิงขึ้น ก็พยายามที่จะล้มเลิกประเพณีรัดเท้าของชาวฮั่น แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ

Chinese woman with maid – John Thomson 1868. Photo from sisterwolf.tumblr.com

การดูแลรักษาเท้าดอกบัว

การดูแลเท้าดอกบัวนั้น ต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยากพอสมควร เพราะนอกจากจะต้องทำในที่ลับตาแล้ว ยังต้องเก็บอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่ ผ้าห่อเท้า ผ้าพันเท้า และรองเท้า ไว้อย่างมิดชิด ประหนึ่งเสื้อในและของใช้ส่วนตัว กระทั่งสามีก็มิให้เห็นโดยง่าย

เพื่อมิให้เท้าดอกบัวนั้นเสียรูปและเหม็นอับ (ซึ่งมักจะเกิดขึ้นได้ง่ายแน่ๆ) จะต้องมีการถอดและเปลี่ยนผ้าพันทุกวัน หรือสองวันครั้ง บางทีก็ถี่มากขนาดที่ทุกวัน วันละสองเวลา คือหลังตื่นนอนตอนเช้า และก่อนนอน เช่นเดียวกับวัฒนธรรมการอาบน้ำแบบบ้านเรา

เมื่อถอดผ้าออกล้าง โดยจะใช้น้ำผสมเครื่องหอมชำระเท้าให้สะอาด พร้อมตรวจดูรอยแผลหรือเนื้อตายที่อาจมีเกิดขึ้น เพราะการรัดเท้าทำให้เกิดการติดเชื้อของบาดแผลบริเวณผิวหนังของเท้าได้ง่ายขึ้นกว่าเท่าปกติ ต้องมีการตัดเล็บให้สั้นกุดเสมอ เพื่อไม่ให้เกิดรอยแผลหรือการขบเนื้อ รวมถึงการขจัดเอาเซลเนื้อที่ตายแล้วออกอย่างหมดจด

ล้างเสร็จแล้วก็ต้องพันผ้าให้แน่น เพื่อคงรูปจันทร์เสี้ยวของเท้าเอาไว้ กรรมวิธีการพันอาจแตกต่างไปตามแต่ละท้องที่ และในบางครั้งอาจมีการใส่เครื่องหอมไปในแต่ละทบของผ้าพันเท้าด้วย เพื่อดับกลิ่น ดูแลแล้วยุ่งยากและใช้เวลาไม่ใช่น้อย แถมบางทีอาจจะทำเองไม่ถนัด ต้องให้ญาติผู้หญิง หรือบ่าวหญิวคอยช่วยในบางส่วน เช่น การตัดเล็บส่วนนิ้วที่ถูกหักลงไปตรงฝ่าเท้า

อีกทั้งการจะคลายผ้ามัดเท้าออก เพื่อชำระล้าง และเปลี่ยนผ้าใหม่ ยังต้องปิดประตูห้องลงกลอน หรือหากมีสามีอยู่ในห้อง นางก็จะเข้าไปปิดม่านเปลี่ยนผ้าในเตียงนอน หากเป็นกลางคืนก็จะไม่จุดโคม จุดตะเกียงให้สว่างนัก เพราะกลัวคนจะมาเห็น บอกได้เลยว่าเกิดเป็นสตรีจีนที่ต้องมัดเท้า ไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลย

ภาพหญิงจีนมัดเท้า Photo from strange.commongate.com

จัดได้ว่านอกจากจะต้องผ่านความเจ็บปวดยาวนานแล้ว หนทางของสตรีมัดเท้าก็ยังมีแต่ความละเอียดที่ต้องใช้เวลากับการดูแลเท้า จึงไม่แปลกที่เมื่อบุรุษนั้นได้เห็นลักษณะการตกแต่งเพื่อประชันขันแข็งของสาวๆ แล้วจะไม่ชื่นชมไม่ได้ อีกทั้งความปราณีของมันนี่แหละ ที่แฝงไว้ด้วยความเป็นฐานันดรอันสูงส่ง เป็นที่ต้องการของชายหนุ่มที่มีหน้ามีตาในสังคม เพื่อเป็นที่เชิดชูวงศ์ตระกูลของทั้งสองฝ่าย

ความปราณีตของการห่อเท้า แฟชั่น และรูปแบบของรองเท้า

Shanxi-style lotus shoes, silk with silk and cotton embroidery. Denver Art Museum; Neusteter Textile Collection: Gift of Miss Louise Iliff. Photo from : http://www.denverpost.com

เมื่อมีความพิถีพิถันขนาดนี้ แน่นอนว่าเรื่องของการประดับเท้าให้สวยงามด้วยย่อมเป็นของคู่กัน รองเท้าสำหรับสตรีมัดเท้านั้น เรียกว่า รองเท้าดอกบัว โดยจะมีส่วนประกอบและลวดลาย รวมถึงสไตล์ที่ปราณีตแล้วแต่ช่วงสมัย ความนิยม และรายได้ของเจ้าของนั่นเอง แต่ในช่วงปลายราชวงศ์ชิง ซึ่งการรัดเท้านั้นคงเหลือความฮิตกันในหมู่สาวภาคเหนือ รองเท้าดอกบัวสไตล์ภาคเหนือจึงเป็นที่นิยม และยังหลงเหลือให้ชมถึงปัจจุบัน

อันนี้ขอเอาภาพลายเส้นที่เจอมา เป็นส่วนประกอบต่างๆของรองเท้าดอกบัว สไตล์มณฑลสานฉี ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในสมัยหลังๆ ของการรัดเท้า ราวคริสต์คตวรรษที่ 19-20 ซึ่งจัดว่าเป็นแบบของรองเท้าที่เหลือมาถึงปัจจุบัน และมีการขายทอดกันเป็นสินค้าวินเทจ

DETAILED DRAWING OF A TINY SHOE, NORTHERN STYLE, POPULAR IN THE EARLY 1920’S photo from Flickr.com

A. ประตูจันทร์ เป็นส่วนปากทางใส่รองเท้า ที่ส่วนโค้งของเท้าจันทร์เสี้ยวโน้มจรดเข้าหาพอดี
B. แถบขั้นบันไดเชือก
C. ช่องเปิดหน้าเท้า หรือส่วนปิดหน้าเท้า จะอยู่ตรงช่วงปลายโค้งของกระดูกเท้าที่ทอดลงไปหานิ้วโป้ง
D. ส่วนปลายเปิดด้านหน้า
E. พื้นเสริมหน้ารองเท้า
F. ตะเข็บเดินขอบรองเท้า อาจเป็นดิ้น หรือริ้วกุ๊นขอบก็มี
G. ส่วนต่อรองเท้ากับพื้นรองเท้า
H. ส่วนกลางพื้นรองเท้า
I. พื้นเสริมหลังรองเท้า
J. ส่วนกล่อง หรือช่องใส่เครื่องหอม
K. เสริมส้นสูงภายใน
L. ส่วนแผ่นยกเสริมเท้า
M. ส่วนแนวช่วยพยุงแผ่นเสริมเท้า (L)

ส่วนประกอบบางชิ้นมีชื่อเรียกซะเพราะพริ้งเชียว แต่ก็ยังคงคอนเซ็ปของความเป็นพระจันทร์ และธรรมชาติ ลวดลายของรองเท้าก็ขึ้นอยู่กับช่าง ส่วนมากก็เป็นลายดอกไม้ แน่นอนว่าดอกบัวฮิตสุดๆ และลวดลายเรขาคณิตต่างๆ

Chinese women 1890 Photo from photoinventory.fr

การรัดเท้านั้นถูกแบน ห้ามมิให้กระทำในราวปี 1911 แต่เราก็ยังสามารถพบกับหญิงชราอายุราวๆ 80 ปีที่ยังมีเท้าดอกบัวได้ในปัจจุบัน ทำให้มีการศึกษาจากประจักษ์พยานเจ้าของเท้าดอกบัวเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน ซึ่งหลายคนเล่าว่าเมื่อครั้งเกิดการปฏิวัติทางวัฒนธรรมของจีนโดยซุน ยัต เซ็น ทางการได้ออกกฏหมายมิให้สตรีทำการรัดเท้าอีกต่อไปอย่างเป็นทางการเมื่อปี ค.ศ. 1911

แต่จนแล้วจนรอด ก็ยังมีการลอบรัดเท้ากันอยู่เนืองๆ ทางรัฐบาลก็ไม่น้อยหน้า ถึงกับบุกเข้าไปตรวจตามบ้านเรือน และแก้ผ้ารัดเท้าด้วยมือและอำนาจรัฐกันเลยทีเดียว และหากใครไม่ยอมแก้ผ้ารัดเท้าออกโดยดี ทางการจะถืออำนาจถอดออก และยังนำผ้ารัดเท้านั้นไปแขวนทิ้งที่หน้าต่าง เพื่อเป็นการประจานเจ้าของด้วย อารมณ์คงพอๆกับเอากางเกงในที่เพิ่งถอดจากเจ้าตัวไปแขวนหน้าประตูบ้านยังไงยังงั้น

การที่ผู้หญิงบางคนยังไม่ยอมเลิกรัดเท้านั้น นอกจากจะเพราะค่านิยมเรื่องความสวยงาม และความเป็นมงคลในการครองเรือนแล้ว แต่คงเป็นเพราะการปล่อยเท้าให้เป็นอิสระนั้น ทำให้ดำรงชีวิตได้ยากกว่ารัดไว้เสียอีก ผู้หญิงบางคนแทบจะเดินไม่ได้หากไม่รัดเท้า และเลือกจะตบตาเจ้าหน้าที่ด้วยการใส่รองเท้าขนาดใหญ่กว่าเท้าตนเอง แต่ยัดผ้าเพื่อประคองรูปเท้าเอาไว้ภายใน

สงครามจิตวิทยาระหว่างสตรีในโลกใบเก่า กับราชการดำเนินมาได้เพียงระยะหนึ่ง ก็จบลงอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1949 หลังจากนั้นก็ไม่มีเด็กหญิงในแผ่นดินจีนคนใดได้รับการรัดเท้าอีกเลย

สำหรับในปัจจุบันนั้น แม้ว่าสตรีในโลกแทบจะไม่ได้รู้จักการรัดเท้าแล้ว แต่มนต์เสน่ห์ของดีไซน์และความขลังของรองเท้าดอกบัวทองคำ ยังส่งแรงบันดาลใจให้กับ Tom Ford เนรมิตรองเท้าใน คอลเลคชัน Fall/Winter 2004 ซึ่งเป็นคอลเลกชันที่ทอม ฟอร์ด ออกแบบให้กับแซง โรลอง ( TOM FORD for YVES SAINT LAURENT LOTUS SHOES)

TOM FORD for YVES SAINT LAURENT LOTUS SHOES Photo from http://www.1stdibs.com

เป็นเรื่องราวความยาวนานของความสวยงามที่มาพร้อมความเจ็บปวด ซึ่งกินช่วงเวลาชีวิตของสาวๆ รวมถึงหน้ากระดาษที่เขียนอยู่นี่ด้วย ต้องบอกเลยว่าการมองเรื่องเท้าๆ นี้ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ สำหรับบางวัฒนธรรมเลย สำหรับเรา…มันอาจดูโหดร้าย แต่ในเมื่อความโหดร้ายนั้นเป็นไปเพื่อความพึงพอใจ

ใครเล่าจะตัดสินค่าของความสุขได้ ?


REFERENCES

AMANDA FOREMAN.(FEBRUARY 2015).”WHY FOOTBINDING PERSISTED IN CHINA FOR A MILLENNIUM“.THE SMITHSONIAN INSTITUTION. AVAILABLE FROM: HTTP://WWW.SMITHSONIANMAG.COM/HISTORY/WHY-FOOTBINDING-PERSISTED-CHINA-MILLENNIUM-180953971 [CITED 17 MAY 2016]
FOOT BINDING AND LOTUS SHOES.” FASHION, COSTUME, AND CULTURE: CLOTHING, HEADWEAR, BODY DECORATIONS, AND FOOTWEAR THROUGH THE AGES. 2004. RETRIEVED MAY 16, 2016 FROM ENCYCLOPEDIA.COM:HTTP://WWW.ENCYCLOPEDIA.COM/DOC/1G2-3425500160.HTML
J MAO. FOOT BINDING: BEAUTY AND TORTURE. THE INTERNET JOURNAL OF BIOLOGICAL ANTHROPOLOGY. 2007 VOLUME 1 NUMBER 2.AVAILABLE FROM: HTTP://ISPUB.COM/IJBA/1/2/7565[CITED 17 MAY 2016]
JEMIMAH STEINFELD(JUNE 15,2015).“THE SURPRISING TRUTH ABOUT CHINESE WOMEN WHO BIND THEIR FEET” IN WOMEN;WOMEN’S LIFE .TELEGRAPH.AVAILABLE FROM: HTTP://WWW.TELEGRAPH.CO.UK/WOMEN/WOMENS-LIFE/11675327/CHINESE-WOMEN-WITH-BOUND-FEET-PHOTOGRAPHS-SHOW-THE-SURPRISING-TRUTH.HTML %5BCITED 11 JUNE 2016]
JLSHERNANDEZ(FEBRUARY 21, 2015).CHINESE FOOT BINDING.HUBPAGES.AVAILABLE FROM: HTTP://HUBPAGES.COM/EDUCATION/CHINESE-FOOT-BINDING-2 [CITED 11 JUNE 2016]
LOTUS SHOES:THE BINDING PROCESS.HISTORY OF SHOES.AVAILABLE FROM:  HTTP://WWW.FOOTWEARHISTORY.COM/LOTUS-SHOES/BINDING-PROCESS [CITED 18 MAY 2016]
MELANIE RADZICKI MCMANUS.(28 MARCH 2013).”HOW FOOT BINDING WORKED” HOWSTUFFWORKS. AVAILABLE FROM:HTTP://PEOPLE.HOWSTUFFWORKS.COM/CULTURE-TRADITIONS/CULTURAL-TRADITIONS/FOOT-BINDING.HTM %5BCITED 16 MAY 2016]
SUN JIAHUI (JUNE 2, 2015).”THREE-INCH GOLDEN LOTUS: THE PRACTICE OF FOOT BINDING” THE WORLD OF CHINESE.AVAILABLE FROM: HTTP://WWW.THEWORLDOFCHINESE.COM/2015/06/THREE-INCH-GOLDEN-LOTUS-THE-PRACTICE-OF-FOOT-BINDING/ [CITED 17 MAY 2016]
อดุลย์ รัตนมั่นเกษม.“การห่อเท้าของหญิงจีน” ใน เรื่องเพศในวัฒนธรรมจีน ๔,๐๐๐ ปี.กรุงเทพฯ:สุขภาพใจ.๒๕๔๘,หน้า ๓๔๗ – ๓๖๐

ใส่ความเห็น

Please log in using one of these methods to post your comment:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.