จู๋หรือเห็ด…เห็ดหรือจู๋? คำถามที่นักวิชาการถกกันเรื่องประติมากรรมหินตั้งในโบราณสถาน Inca Uyo ที่ประเทศเปรู ซึ่งประกอบด้วยเสาหินทรงเห็ดหลากขนาด แต่เอ๊ะ…ตกลงมันคืออะไรกันแน่นะ?

Inca Uyo เป็นโบราณสถานในวัฒนธรรมอินคาตั้งอยู่ที่เมือง Chucuito ประเทศเปรู อยู่ในอาณาเขตรอบทะเลสาบ Titicaca สถานที่แห่งนี้มีชื่อเสียงมาจากประติมากรรมหินตั้งรูปทรงเห็ดจำนวนมากภายในอาณาเขตรายล้อมด้วยกำแพงหิน นักวิชาการและคนจำนวนมากเชื่อว่าที่นี่คือวิหารแห่งความอุดมสมบูรณ์ อันเป็นความเชื่อโบราณเกี่ยวข้องกับการกำเนิด เพราะรูปทรงของหินเหล่านี้ดูก็เป็นเห็ด จึงทำให้มีความคล้ายกับลึงค์หรืออวัยะเพศชายนั่นเอง
คำว่า Uyo นั้น แปลตามตัวว่า “ผู้ซึ่งเจริญพันธุ์” (A fertile member) ซึ่งคงเป็นชื่อเรียกตามลักษณะหินตั้งเหล่านั้น
เหล่าหินตั้งแกะสลักจากหินบะซอลต์ (Basalt) มีรูปทรงตั้งตรงและปลายเป็นรูปโดม มีจำนวนทั้งสิ้น 86 หลักภายในพื้นที่ล้อมรอบด้วยกำแพงจัตุรัส โดยมีหินขนาดใหญ่อยู่ค่อนไปทางด้านหลังชิดผนังด้านหนึ่ง

Photo © James Brunker, Magical Andes Photography 2014
ความเชื่อพื้นเมืองก่อนการรุกรานของสเปน ในพื้นที่เปรูมีวัฒนธรรมที่ข้องเกี่ยวกับเรื่องเพศค่อนข้างมาก ความเชื่อเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การเจริญพันธุ์เป็นเรื่องสำคัญ คนโบราณอธิษฐานเพื่อให้พืชพันธุ์อุดมสมบูรณ์ผ่านเทพเจ้าที่ดูแลทั้งเรื่องพืชผลและเซ็กส์
Pachamama เป็นเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งให้พรเกี่ยวกับผลผลิตทางการเกษตรไม่พอ เธอยังให้พรแก่หญิงสาวเพื่อให้มีลูกดกได้อีกด้วย ทำให้นักประวัติศาสตร์มองว่าวิหารอันประกอบไปด้วยลึงค์เหล่านี้เป็นวิหารเพื่อให้หญิงมีบุตรยากมาภาวนาขอพร โดยที่พระแม่พาชามามาจะส่งพลังจากผืนดินไปเพื่อขออำนาจจากเทพสูงสุดคือ Inti เทพแห่งตะวัน เพื่อให้ช่วยอำนวยพรผ่านลึงค์เหล่านั้น
หากมีจินตนาการกันมากพอ กิจกรรมนี้น่าจะทำให้หลายคนร้อง “อ๋อ” เพราะ Pachamama เป็นเทพีแห่งผืนดินด้วย การที่แผ่นดินถูกปักด้วยเสาลึงค์เพื่อส่งผ่านพลังแห่งการกำเนิดระหว่างเธอกับเทพ Inti ดูยังไงก็เหมือน “เซ็กส์” หรือการสังวาสระหว่างเทพชัดๆ
แม้จะมีอิทธิพลของศาสนาคริสต์เข้ามาในเปรู แต่พาชามามาก็ยังเป็นที่เคารพนับถืออยู่ในปัจจุบัน ยังมีพิธีกรรมและการบวงสรวงในท้องถิ่น จัดว่าเป็นเทพโบราณที่มีการนับถือมาอย่างยาวนานของคนในประเทศนี้

กระนั้นเรื่องของอินคา อูโยยังเป็นที่ถกเถียงกันหลายกระแส บางส่วนเสนอว่าตำแหน่งของที่นี่ไม่น่าเป็นวิหารแห่งความอุดมสมบูรณ์อย่างที่เชื่อกัน หรือกระทั่งว่าหินพวกนี้เป็นสิ่งที่นำมาใส่ไว้สมัยหลัง
สิ่งปลูกสร้างเหล่านี้มีการขุดค้นครั้งแรกในปีค.ศ. 1950 โดย Harry และ Marion Tschopik นักโบราณคดีผู้มีความเชี่ยวชาญในประเทศเปรู ซึ่งยังเป็นคนกำหนดรูปแบบศิลปะของโบราณสถานในแบบ “ศิลปะอินคา” นอกจากนี้แหล่งโบราณคดียังมีการขุดค้นเพิ่มเติมในช่วงทศวรรษ 1960 โดย Orompelio Vidal ซึ่งเน้นไปที่การบูรณะเปิดเผยแนวโบราณสถานทั้งหมด

ข้อมูลทางโบราณคดีทำให้เรารู้ว่าหินทั้งหมดเป็นของโบราณและมาจากแหล่งหินใกล้เคียง แต่ก็ยังมีการเถียงกันว่าหินพวกนี้อาจจะมีการเคลื่อนย้าย เพราะในข้อมูลรายงานขุดค้นไม่ได้ระบุว่าหินเหล่านี้ถูกตั้งเรียงอย่างปัจจุบัน จึงเป็นที่น่าคิดว่าหินบางส่วนคงถูกเคลื่อนย้ายมาจากแหล่งโบราณคดีอื่นเพื่อนำมาเสริม
ตอนนี้ก็ยังไม่มีคำตอบแน่ชัดถึงหน้าที่ของแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ จึงยังคงให้น้ำหนักกับความเชื่อเรื่องความอุดมสมบูรณ์โดยพิธีกรรมทางเพศ จึงยังเรียกกันว่าเป็น “วิหารแห่งความอุดมสมบูรณ์” (Temple of Fertility) อยู่นั่นเอง
จะจริงแท้อย่างไรก็ตาม Inca Uyo ก็ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของประเทศ ไม่แพ้กับโบราณวัตถุที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องเพศต่างๆ จัดว่าเป็นเรื่องของรายได้จากเรื่องเซ็กส์ๆ โดยแท้ทรู ก็อย่างว่า…เรื่องเพศเป็นเรื่องพื้นฐานของชีวิตมนุษย์
Feature Image from : https://www.andesnomads.com/en/peru/inca-uyo/
REFERENCE
Meditation Retreat Peru.”Chucuito- The Temple Of Fertility“.Available from : https://www.meditationretreatperu.com/chucuito-the-temple-of-fertilityspiritual-tour-peru/ [Cited : 07/04/2020]
Theodoros Karasavvas.(20 June, 2017).”Is this ‘Temple of Fertility’ in Peru Really a Giant Collection of Stone Penises, or is it a Phallic Fallacy?“.Ancient Origins. Available from : https://www.ancient-origins.net/ancient-places-americas/temple-fertility-peru-really-giant-collection-stone-penises-or-it-phallic-021449 [Cited : 30/03/2020]