เชื้อชาติหาใช่ “นาตรอน” : เหตุเกิดของมัมมี่ผมแดงและผมทองในอียิปต์

งานวิจัยล่าสุดเพื่อตรวจสอบเหตุของการที่มัมมี่อียิปต์บางร่างมีผมสีอ่อนซึ่งเป็นลักษณะที่ค้านกับเชื้อชาติกลุ่มของอียิปต์โบราณที่เข้าใจกันว่าเป็นแอฟริกันกลุ่มที่มีผิวสีแต่กระบวนการทำมัมมี่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสีผม โดยทำการตรวจสอบกลุ่มตัวอย่างหลากหลายเพื่อดูว่านาตรอนมีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้จริงหรือไม่

อียิปต์โบราณเป็นกลุ่มวัฒนธรรมที่มีพิธีการปลงศพโดยกระทำการดองให้แห้งและฝังในสุสานพร้อมเครื่องอุทิศสำหรับใช้ในโลกหลังความตาย เพราะเชื่อว่าผู้ตายจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อีกครั้งในอีกโลกหนึ่ง จึงนิยมการทำมัมมี่โดยพยายามคงสภาพเดิมของผู้ตายเอาไว้ให้ได้มากที่สุด การใช้เกลือนาตรอน (Natron) เป็นกระบวนการสำคัญในการทำศพให้แห้ง เพราะเมื่อแห้งแล้วจะสามารถหยุดกระบวนการเน่าหรือสูญสลายได้ดีกว่า

มัมมี่ร่างแรกที่พบเก่าสุดในอียิปต์เป็นของยุคก่อนราชวงศ์ (Pre-Dynasty) แรกเริ่มนักโบราณคดีเชื่อว่ามัมมี่นี้เป็นร่างที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการดองศพใดๆ เพียงแค่ได้รับการฝังอยู่ในสภาวะที่แห้งมากของทะเลทราย ส่งผลให้ความชื้นถูกดึงออกไปและเหลือเพียงร่างแห้งๆ คล้ายคลึงกับมัมมี่ที่ผ่านการดองศพของอียิปต์ยุคราชวงศ์

Bm-ginger
Photo by Jack1956 from en.wikipedia [12 January 2008] / CC BY-SA

มัมมี่นี้ชื่อว่า The Gebelein mummies มีการพบและนำมามอบเข้าพิพิธภัณฑ์บริติชมิวเซียมตั้งแต่ปี ค.ศ.1900 นับว่ามีการค้นพบมาเนิ่นนาน และตอนนี้รายงานการค้นพบก็กลายเป็นปริศนาเพราะยังระบุไม่ได้ชัดเจนถึงตำแหน่งที่พบชัดเจน แต่เชื่อว่าพบทางใต้ของเมือง Gebelein เลียบลำน้ำไนล์ อายุราว 3700 B.C. – 3500 B.C. ซึ่งเก่ากว่ายุคราชวงศ์ของอียิปต์โบราณ และการที่เรียกว่ามัมมี่เพราะการศึกษาในระยะหลังพบว่ามีลักษณะของการดองศพ ไม่ใช่เป็นเพียงซากที่แห้งเพราะสภาพอากาศและภูมิประเทศโดยธรรมชาติ

ที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเด็นนี้คือมัมมี่เกเบลีนมี “ผมสีแดง” (Ginger) ซึ่งดูแปลกไปจากมัมมี่อียิปต์ส่วนมากและจากภาพจิตรกรรมในสุสานสมัยหลังเราก็มักจะพบการลงสีรูปบุคคลมีผมหรือใส่วิกสีดำ และมีผิวสีน้ำตาลซึ่งสอดคล้องกับการศึกษา Genetic DNA ของมัมมี่อื่นๆ พบว่าเป็นกลุ่ม Sub-Sahara ที่ลักษณะเชื้อชาติตรงกันดังกล่าว

ส่วนศีรษะของมัมมี่ Ramesses II . (Image Credit : Wolfman12405/ CC BY SA 4.0 )

ไม่ใช่แค่มัมมี่นี้ที่พบว่ามีผมสีอ่อน แต่ในบางยุคสมัยของช่วงยุคสมัยราชวงศ์อียิปต์ก็ยังปรากฏการค้นพบมัมมี่ที่มีผมสีอ่อน ดังเช่นมัมมี่ของรามเสสที่ 2 ฟาโรห์ผู้ยิ่งใหญ่ในราชวงศ์ที่ 19 แห่งอาณาจักรใหม่ (New Kingdom) ที่พบว่าทรงมีเส้นผมที่ทองหรือสีบลอนด์

การศึกษาเกี่ยวกับเรื่องผมนี้ปรากฏครั้งแรกในงานของ L. Balout, C. Roubet และ C. Desroches-Noblecourt ในชื่อว่า La Momie de Ramsès II: Contribution Scientifique à l’Égyptologie (มัมมี่รามเสสที่ 2 : คุณูปการของงานวิทยาศาสตร์ต่ออียิปต์วิทยา) เผยแพร่เมื่อค.ศ. 1985

โดยมีจุดเริ่มต้นเมื่อทางการอียิปต์อนุญาตและประสานงานมาทางฝรั่งเศสเพื่อทำการอนุรักษ์มัมมี่ของรามเสสมหาราชผู้นี้เพื่อลดหรือป้องกันการเสื่อมสภาพที่เกิดขึ้นหลังการค้นพบและนำมาจัดแสดง

และในการนี้ทำให้นักวิชาการฝรั่งเศสมีโอกาสได้ศึกษาร่างของมัมมี่ได้อย่างใกล้ชิดขึ้นโดยหลีกเลี่ยงการรบกวนเพื่อคงจุดประสงค์ในการหาวิธีอนุรักษ์เอาไว้

สำหรับเรื่องเส้นผม ได้มีการเก็บตัวอย่างเส้นผมเพื่อนำมาศึกษาด้วยเทคนิคส่องกล้อง Microscopic เพื่อตรวจสอบดูเม็ดสีผมอย่างละเอียด ในแต่ละเชื้อชาติตัวเม็ดสีในเส้นผมจะมีความแตกต่างกัน ถึงต่อให้มองด้วยภาพกว้างด้วยตาเปล่าบางทีดูเหมือนกัน แต่องค์ประกอบของเม็ดสีต่างกันอยู่บ้าง ในกรณีนี้แม้จะมีคนเสนอว่าทั้งเฮนน่าและนาตรอนเป็นส่วนทำให้ผมมัมมี่เป็นสีแดง แต่การศึกษาพบว่าเซลล์เม็ดสีของมัมมี่รามเสสเป็นสีแดงของกลุ่ม Cymnotriche leucoderma. (คนที่มีผิวสีอ่อน)

นอกจากรามเสสที่ 2 แล้ว ยังพบมัมมี่ของ Yuya และ Tuya (หรือ Tjuyu) ซึ่งเป็นต้นเชื้อสายของฟาโรห์ตุตันคามุนอันโด่งดัง ทั้งสองถูกพบในสภาพที่สมบูรณ์ภายในโลงศพที่ไม่ปรากฏร่องรอยการรบกวน เคียงข้างกันภายในสุสายหมายเลข KV46 ของหุบผากษัตริย์ ซึ่งใกล้เคียงกับบริเวณที่พบสุสาน King Tuts (KV62) นั่นเอง

ภาพมัมมี่ของ Tuya (หรือ Tjuyu) | Photo Credit: The Florida Post, 6/14/19.
มัมมี่ของ Yuya ซึ่งมีสภาพของเส้นผมและเส้นคิ้วสมบูรณ์

ในส่วนของมัมมี่ยูยา เราจะได้เห็นทั้งเส้นผมและขนคิ้วเป็นสีทองอย่างชัดเจน และมีรายละเอียดที่สมบูรณ์ของใบหน้าซึ่งอาจทำให้เราเข้าใจกายภาพของเขาได้ดี แต่ก็ยังอาจไม่เป๊ะนักเพราะการเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดขึ้นหลังกระบวนการทำให้แห้งย่อมมีผลต่อผิวและเนื้อของมัมมี่

นักอียิปต์วิทยาบางคนมองว่าการพบเจอมัมมี่ที่มีผมสีทองหรือแดงนั้น เกิดขึ้นเพราะสารเคมีที่นำมาใช้ในกระบวนการดองศพอย่าง Natron ซึ่งเป็นเกลือที่พบภายในท้องถิ่น เพราะเมื่อพิจารณาจากบริบทหลักฐานอื่นๆ พบว่าภาพจิตรกรรมมักจะแสดงสีผมของชาวอียิปต์เป็นสีดำ โดยเราไม่อาจทราบได้ว่าเป็นคติ เป็นความนิยมของแฟชั่น หรือเพราะมันสะท้อนภาพอดีตโดยแท้จริงกันแน่ ข้อสงสัยจึงเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สำหรับนาตรอน เป็นเกลือที่พบ ณ Wadi el Natrun ทางตอนเหนือของประเทศอียิปต์ โดยมีองค์ประกอบทางแร่ธาตุคือโซเดียมคลอไรด์ (Sodium salt of Chloride), ซัลเฟต(Sulphate), คาร์โบเนต (Carbonate) และไบคาร์โบเนต (Bicarbonate) ซึ่งทุกตัวมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย แต่ไม่มีผลต่อโครงสร้างเม็ดสีผม

สีผม ประกอบขึ้นจากเซลล์เม็ดสีจำนวนมากในโครงสร้างเส้นผม เมื่อประกอบกันแล้วจึงแสดงให้เห็นเป็นสีผมแบบต่างๆ โดยสำหรับคนที่มีผมสีอ่อน ในเส้นผมจะมีเซลล์เม็ดสีที่เรียกว่า “ยูเมลานิน” (Eumelanin) และผมสีเข้มจะเป็น “โฟเมลานิน” (Pheomelanin) ซึ่งถ้าไปหาอ่านเพิ่มเติมอาจจะสับสน เพราะยูเมลานินดันเป็นเซลล์มีสีน้ำตาล/ดำ แต่โฟเมลานินกลับเป็นสีเหลือง/แดง หากเราคิดด้วยตรรกะการผสมสีทั่วไปก็อาจสับสนว่ามันดูสลับกัน แต่จริงๆ แล้ว การที่เรามีผมสีดำมันคือเซลล์เม็ดสีแดงจำนวนมากกระจุกกันอยู่ทำให้การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทำให้มันกลายเป็นสีดำ ส่วนกับผมสีอ่อน แบบนั้นคือการมีเซลล์ยูเมลานินมากน้อยจนผันผวนต่อการแสดงผล เช่น ถ้ามียูเมลานินสีดำจำนวนน้อย ผมก็จะเป็นสีเทาเป็นต้น

กลับมาที่ผมของมัมมี่กัน การทดลองนี้ทำไปเพื่อพิสูจน์แนวคิดที่ว่านาตรอนทำให้ผมของมัมมี่เปลี่ยนสีไปจากสภาพเดิมหรือไม่ ด้วยการเก็บตัวอย่างผมมัมมี่มาส่องดูภาพมาโคร และใช้ตัวอย่างเส้นผมจากคนยุคปัจจุบันที่ทดลองทำเลียนแบบการดองมัมมี่ นั่นคือการนำไปหมักนาตรอนจำนวน 40 วันเช่นเดียวกัน โดยเก็บตัวอย่างจากหลากเชื้อชาติ (Races) ที่มีชีวภาพ, เพศ และช่วงอายุต่างกัน  เมื่อครบกระบวนการแล้วจะนำตัวอย่างมาส่องดูภาพการเปลี่ยนแปลงของเม็ดสีด้วยวิธี Macroscopic และ Microscopic

ผลที่ได้จากการศึกษาเส้นผมโบราณพบว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างใดๆ กับเซลล์เม็ดสีเมื่อมองจากกล้อง Macroscopic ส่วนกับเส้นผมตัวอย่างนั้นก็แสดงผลอย่างเดียวกันเมื่อส่องผ่านกล้อง Macroscopic และหากส่องด้วยกล้อง Microscopic แสดงผลที่ “เปลี่ยนแปลงเล็กน้อยและค่อนไปทางสีเข้มขึ้น”

จากตารางที่ 1 เป็นการศึกษาเส้นผมโดยใช้ตัวอย่างที่เป็นผมของเชื้อชาติยุโรป(E), แอฟริกัน (Afri), ออสเตรเลียน (I Aus) และยังมีแบบผสมเส้นใยสังเคราะห์ (S/N) ซึ่งมีการเคลือบด้วยขี้ผึ้งประกอบ ทั้งหมดผ่านการหมักนาตรอนภายใต้สภาวะจำลองความร้อนและแห้งแบบทะเลทรายเป็นเวลา 40 วัน ก่อนจะนำมาส่องด้วยกล้อง Macroscopic

จากตารางจะเห็นว่าทั้งหมดไม่ปรากฏการเปลี่ยนแปลงใดๆ ไม่ว่าจะผมสีอะไร มีเส้นใยเสริมประกอบหรือไม่ การส่องภาพด้วย Macroscopic ไม่เห็นร่องรอยการเปลี่ยนแปลง

ตัวอย่างผมสีดำที่มาจากคนละเพศและวัยที่เยอะกว่าสีอื่นคงเป็นไปเพื่อตรวจสอบตามข้อสันนิษฐานว่าชาวไอยคุปต์ควรที่จะมีผมสีดำตามภาพจิตรกรรมต่างๆ แต่ก็ยังชัดว่าไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง ดังนั้นทีมวิจัยจึงเดินหน้าต่อในการตรวจสอบด้วยกล้อง Microscopic บ้าง

จากตารางด้านบนคือการสรุปผลจากการทดลอง จะเห็นได้ชัดว่ากับเชื้อชาติยูโรเปี้ยน (E) และแอฟริกัน (Afric) ที่มีผมดำจะเกิดการเปลี่ยนแปลงโดยมีสีเข้มขึ้นเล็กน้อย ส่วนตัวอย่างยูโรเปี้ยนผมสีน้ำตาลสว่างจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ยิ่งกับตัวอย่างผมสีขาวกลับยิ่งจะเข้มขึ้น (สวนทางกับแนวคิดที่เชื่อกันว่านาตรอนทำให้ผมสีอ่อนลง) ส่วนผมสีแดงนั้นจะสว่างขึ้นโดยยังมีเม็ดสีแดงอยู่

ทั้งหมดดูจะสอดคล้องกับข้อเท็จจริงทางชีววิทยาว่าสีผมมักจะไม่เปลี่ยนแปลงหลังการตายของมนุษย์ นั่นทำให้ทีมวิจัยยังตรวจสอบวิกผมจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นของอียิปต์ยุคราชอาณาจักรใหม่ (New Kingdom) กับยุค Third Intermediate period เพิ่มเติมเพื่อให้งานวิจัยสมบูรณ์ยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังทำตัวอย่างที่มีการย้อมผมด้วยเฮนน่าซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่นิยมใช้กันในอียิปต์โบราณด้วย

ผลที่ออกมาคือแม้เวลาจะผ่านไปกว่า 2,000 ปี เส้นผมไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใดๆ เช่นเดียวกับตัวอย่างที่เก็บจากผมธรรมชาติของมัมมี่และเส้นผมจากห้องทดลองภายใต้ปัจจัยควบคุม ไม่ปรากฏการเปลี่ยนแปลงของเมลานินและเคราตินของผม การทดลองนี้ยังเป็นเครื่องชี้นำถึงปัจจัยอื่นๆ นอกไปจากการทำมัมมี่ ก็คือการบอกว่าผมของคนตายจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง หากมีเด็กที่มีผมสีแดงเสียชีวิต เส้นผมก็จะมีลักษณะเดียวกับตอนตาย โครงสร้างจะไม่เปลี่ยน และนาตรอนไม่ได้มีปฏิกิริยาในการเปลี่ยนแปลง

สรุปคือแนวคิดที่ว่านาตรอนเป็นตัวทำให้เส้นผมของมัมมี่มีสีอ่อนลง เมื่อทำการศึกษาทางชีววิทยาและการทดลองทางวิทยาศาสตร์พบว่าไม่เป็นจริง นาตรอนไม่ได้ทำให้โครงสร้างของเส้นผมเปลี่ยนแปลง หากมีนั่นคือทำให้การมองในภาพ Microscopic ดูมีสีเข้มขึ้นสำหรับเชื้อชาติยุโรป กับแอฟริกาไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลง ผลการทดลองในห้องทดลองกับการเก็บตัวอย่างทั้งจากมัมมี่และวิกผมสอดคล้องกัน

ดังนั้นการพบลักษณะมัมมี่ที่มีผมสีอ่อนเป็นไปด้วยความหลากหลายทางเชื้อชาติของอียิปต์ที่เริ่มต้นก่อนราชอาณาจักรใหม่เป็นต้นมา นับจากยุคที่มีชาวต่างชาติเริ่มเข้ามามีบทบาทในอียิปต์โบราณ ไปจนถึงยุคของกรีก-โรมันในภายหลังที่ชัดเจนว่าผู้มาใหม่เป็นชาวยุโรเปี้ยน นับจากการศึกษาในปีค.ศ.1987 ที่ฝรั่งเศสตรวจสอบมัมมี่ของรามเสสที่สอง นี่อาจเป็นงานวิจัยใหม่ที่สนับสนุนแนวความคิดที่ว่ารามเสสมหาราชไม่ได้เป็นชาวแอฟริกันแบบคนอียิปต์โดยทั่วไปที่มีเชื้อชาติทางชีวภาพเป็น Sub-Sahara

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้จำกัดวงการศึกษาปัจจัยแค่กับสภาวะการสร้างมัมมี่ แร่ธาตุเฉพาะ และพื้นที่ทะเลทราย กับวัฒนธรรมอื่นๆ และสภาวะที่แตกต่างออกไปจากนี้อาจให้ผลที่แตกต่างกัน แต่ที่แน่นอนคืออียิปต์โบราณมีชาติพันธุ์ที่มีผมสีอ่อนและผิวขาวปรากฏอยู่ได้จริง

หากสนใจอ่านรายงานฉบับเต็ม สามารถติดตามได้จากแหล่งอ้างอิงด้านล่าง

References : 

BBC.(November 16,2012). “British Museum exhibit Gebelein Man died ‘violent death’“.BBC in Entertainment & Arts. Available from : https://www.bbc.com/news/entertainment-arts-20353934 https://www.bbc.com/news/entertainment-arts-20353934 [cited 24/09/2020]

Bridie Smith Science Editor.(May 1, 2016).”Some ancient Egyptians were natural blondes“.Bridie Smith Science. Available from : https://www.smh.com.au/technology/some-ancient-egyptians-were-natural-blondes-20160426-gof9hn.html [cited 25/09/2020]

Bulletin de l’Académie nationale de médecine Académie nationale de médecine (France), 01/06/1987, p. 122. Located at: Bulletin de l’Académie nationale de médecine

Davey, J., & Spring, G. (2020). Is ancestry, not natron, an explanation for fair haired children in Greco-Roman Egypt?. “Forensic Science, Medicine, and Pathology”, 16(2), 207-215.

Mergueze.(2017).”Pharaoh Ramesses II was an Amazigh (Berber)” .Mergueze-The Kabylian voice.Available from : https://mergueze.info/pharaoh-ramesses-ii-was-an-amazigh-berber/ [cited 24/09/2020]

Mindy Weisberger.(August 16, 2018). “This Ancient Mummy Is Older Than the Pharaohs“.Livescience. Available from : https://www.livescience.com/63351-mummy-older-than-pharaohs.html [cited 24/09/2020]

Natalia Klimczak.(May 2, 2016).”New Research Shows that Some Ancient Egyptians Were Naturally Fair-Haired“.Ancient Origins.Available from : https://www.ancient-origins.net/news-history-archaeology/new-research-shows-some-ancient-egyptians-were-naturally-fair-haired-005812 [cited 25/09/2020]

ใส่ความเห็น

Please log in using one of these methods to post your comment:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.