William “Froggie” James

When White is “darker” than Black. กรณีศึกษาจากการตายของ William “Froggie” James ที่นำไปสู่การออกกฎหมายต่อต้านการประชาทัณฑ์โดยสาธารณะ

*บทความนี้อาจจะมีเนื้อหาบางส่วนที่แสดงถึงความรุนแรง โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน ผู้ที่มีความอ่อนไหวต่อการทำร้ายร่างกายและการฆาตกรรมโปรดหลีกเลี่ยงค่ะ*

ออกตัวก่อนนะคะว่าไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อกระพือหรือโจมตีเพื่อให้เกิดความรุนแรงต่อสิ่งที่เกิดขึ้นใน USA แต่อยากให้คนอ่านได้ปรับเอาอคติเรื่อง “สีผิว” ออกไปจากความรับรู้ของตัวเองด้วย อคตินี้สำคัญและยาวนานกว่าการเกิดเรื่องรุนแรง เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของการเบียดบังให้คนที่ต่างจากตัวเองเป็นจำเลยทางสังคมของทุกความเลวร้าย ทั้งที่เรื่องความชั่วเป็นปัจเจก เป็นกลุ่มความคิดความเชื่อ ไม่ใช่ “สีผิว”

เราเห็นชื่อของเขาครั้งแรกตอนที่ดูซีรีส์เรื่อง American Gods season 2 แล้วก็ตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นเอามากๆ ใช่ว่าเราจะไม่เคยได้ยินเรื่องความรุนแรงที่คนผิวขาวกระทำต่อแอฟริกัน-อเมริกัน แต่ไม่คิดว่ามันจะเป็นการทรมานทรกรรมแบบที่ไม่มีพยานหลักฐานชัดเจนจนนำไปสู่ความตาย เหมือนทุกคนเอาความ “มืด“ ในใจของตัวเองไปถาโถมลงกับความเป็น “คนผิวดำ” ซึ่งถูกให้นิยามโดยคนขาว

วิลเลี่ยม ฟร็อกกี้ เจมส์ หรือในที่นี้ขอเรียก “วิล เจมส์” เพื่อความกระชับนะคะ เป็นแรงงานอาศัยอยู่ที่เมืองเคย์โรล** (Cairo) รัฐอิลลินอยส์ (Illinois) ซึ่งถูกลากตัวออกมาประชาทัณฑ์จากในศาล หลังตกเป็นผู้ต้องสงสัยคดีฆาตกรรมหญิงสาวผิวขาวที่ชื่อ Anna Pelley วัย 24 ปี ก่อนที่จะถูกแขวนคอจนถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 11 พ.ย. ค.ศ. 1909

ภายในศาล วิล เจมส์ยืนกรานว่าเขาไม่มีความผิดจนถึงนาทีสุดท้าย หลังจากการไต่สวนให้จำคุก ม็อบที่ก่อตัวกันด้วยความเกลียดชังได้บุกเข้าไปในห้องขังนำวิล เจมส์ไปทรมาน ฆาตกรรม และประจานศพ โดยที่ไม่มีข้อกังขาใดๆ ต่อกระบวนการยุติธรรม คนเหล่านั้นเชื่อว่าเจมส์ทำผิด ความเกลียดชังนั้นทำให้มนุษย์กลุ่มหนึ่งสามารถซ้อมทุบตี ลากเขาไปแขวนคอกลางเมืองโดยที่คนที่ดึงเชือกนั้นเป็นกลุ่มสาวๆ เมื่อเชือกขาดลงเสียก่อน วิล เจมส์จึงถูกสาดกระสุนลงบนร่างโดยฝูงชนที่มาเฝ้าดูนั่นเอง ร่างของเจมส์ถูกลากไปตามถนนเป็นไมล์ๆ ก่อนจะปิดฉากด้วยการเผาร่าง และตัดศีรษะมาเสียบเสาประจาน

โหดพอไหมคะ? มันคือความโหดที่มนุษย์กระทำต่อมนุษย์ด้วยกันซึ่งมากกว่าแค่ความตาย เป็นการลงทัณฑ์อันปราศจากข้อกังขาเสียด้วย จริงๆ เหตุการณ์นี้มีแรงผลักดันทั้งในแง่เศรษฐกิจและความตึงเครียดของคนในชุมชน ทำให้ความรุนแรงนั้นปะทุออกในช่วงนั้นอย่างโหดเหี้ยม ไม่ใช่แค่วิล เจมส์ที่ตกเป็นเหยื่อของการกระทำเหี้ยมเกรียม แม้แต่ชายผิวขาวที่ชื่อว่า Henry Salzner ผู้ต้องหาฆาตกรรมภรรยาด้วยขวานก็ยังตกเป็นเหยื่อของการประชาทัณฑ์ในลักษณะคล้ายกัน ความเกลียดชังนั้นยังลามไปถึงผู้ต้องสงสัยชาวแอฟริกันอเมริกันอีกคนในคดีเดียวกับเจมส์ด้วย และทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยน้ำมือของเพศที่เรามองว่ามีความรุนแรง แต่ยังมีผู้หญิงที่ถูกมองว่าอ่อนแอกว่าเข้าร่วมในกิจกรรมนี้ โดยในกรณีของวิล เจมส์ เชื่อกันว่ามีพยานรู้เห็นเหตุการณ์กว่า 10,000 คน แม้แต่การเรียกร้องของนายอำเภอก็ไม่อาจหยุดยั้งเหตุการณ์ได้ เรียกได้ว่าเป็นเหตุรุนแรงเหนือการควบคุมเป็นอย่างมาก

หลังการตายของวิลเลี่ยม ฟร็อกกี้ เจมส์ ทำให้สังคมเริ่มกลับมามองความรุนแรงนี้ในฐานะภัยสังคม เกิดการพิจารณาประเด็นการเหยียดสีผิวอย่างรุนแรงของพลเมืองอิลลินอยส์ และรัฐอื่นๆ ใกล้เคียงอย่าง Texas ที่ก็มีความเข้มข้นรุนแรงในช่วงระยะเวลาไล่เลี่ยกัน ความเกลียดชังแอฟริกันอเมริกันของชาวเท็กซัสก็ถึงขนาดสาสามารถส่งโปสการ์ดรูป Will Stanley ชายผิวสีซึ่งถูกประชาทัณฑ์คล้ายกับวิล เจมส์ โดยมีข้อความตลกร้ายทำนองว่า “นี่คือบาร์บีคิวที่เราปิ้งกันเมื่อคืนก่อนฯ” เพราะเหยื่อถูกแขวนคอและจุดไฟเผาจนถึงแก่กรรมอย่างทุกข์ทน

เราเห็นอะไรจากเรื่องราวนี้บ้างนอกจากความรุนแรง? ถ้าเรามองย้อนกลับไปในช่วงเวลานั้น เรียกว่าสหรัฐฯ โดยเฉพาะแถบพื้นที่แม่น้ำมิสซิซิปปี้กำลังเผชิญความยากลำบากกับปัญหาเศรษฐกิจในช่วงทศวรรษดังกล่าว เหล้าเถื่อนระบาด โสเภณีกลายเป็นรายได้หลักของรัฐ เริ่มมีองค์กรอำนาจมืดก่อตัวกันซึ่งยึดโยงจากผลประโยชน์และเม็ดเงินจากธุรกิจ “สีดำ” ดังกล่าว ยิ่งบวกกับความอ่อนแอของทางการในการดูแลและรับมือสภาพสังคมแบบนี้ ยิ่งทำให้พวกนอกกฎหมายอยู่เหนือกว่าอำนาจรัฐ ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นกับสังคมยากแค้นเหมือนภูเขาไฟรอการปะทุ และเมื่อมีชนวน…มันจึงระเบิดออกมาในรูปแบบดังกล่าวอย่างไม่เกรงกลัวอำนาจที่ชอบธรรม สภาพแบบนี้ดูคุ้นๆ ไหม…เมื่อเราคิดถึงสังคมในสหรัฐฯ ที่ต้องเผชิญความเครียดหลายด้าน มีทั้งเศรษฐกิจและสาธารณสุข พอมีประเด็นจากผู้นำปากดี ตู้ม! เละสิครับรออะไร

สิ่งที่เกิดขึ้นกับ William “Froggie” James สร้างแรงผลักดันให้ชาวแอฟริกันอเมริกันและประชาชนทั่วไปพยายามเรียกร้องให้ทางการมีมาตรการที่ดีกว่านี้มากๆ ในการดูแลประชาชน จากตอนแรกที่ออกกฎหมายต้านประชาทัณฐ์จุ๋มจิ๋มออกมาเมื่อปี 1905 กลุ่มผู้เรียกร้องพยายามทำให้มันมีความเข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งมันไม่ได้เป็นผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม African-Americans อย่างเดียว แต่มันคือเรื่องที่สังคมควรตระหนักว่าเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่หน้าที่ใคร ไม่ใช่ใครได้ผลฝ่ายเดียว แต่คือกฏหมายที่จะช่วยคุ้มครองคนทุกคนในประเทศค่ะ

ก็…ฝากไว้ให้คิดนะคะ ส่วนใครอยากอ่านเพิ่มเติมก็ตามลิ้งที่มาด้านล่างเลยค่ะ วันนี้มาแบบไม่โบราณฯ เอ๊ะ หรือโบราณน้า เล่าสู่กันฟังค่ะ อดีต…มีความสัมพันธ์กับปัจจุบันมากกว่าที่คิดดดดด

**ในUSAอ่านชื่อเมืองนี้ว่า “เคย์โรล” ดังนั้นใครมีปัญหา ไปบอกคนในเมืองนั้นคร้าบบบบ


ที่มาของข้อมูล :

ภาพหนังสือพิมพ์เก่าเกี่ยวกับการประชาทัณฑ์วิล เจมส์ : เข้าถึงได้จาก
https://cdnc.ucr.edu/cgi-bin/cdnc?a=d&d=SFC19091112.2.9&e=——-en–20–1–txt-txIN——–1

รวมภาพโปสการ์ดวินเทจซึ่งมีฉากการแขวนคออันใช้ส่งต่อกันในตอนนั้นเหมือนเป็นเรื่อง “น่าขบขัน” : เข้าถึงได้จาก
https://www.thecoli.com/threads/lynching-postcards-graphic-images-do-not-come-in-if-you-have-a-weak-stomach.209951/

https://archive.org/details/workingmississip00step

ใส่ความเห็น

Please log in using one of these methods to post your comment:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.