เดือนฮาโลวีนทั้งที เราก็ต้องพูดถึงตำนานอาถรรพ์สยองขวัญกันบ้าง ขอประเดิมด้วยตำนานแห่งคำสาปที่ทุกคนชื่นชอบ นั่นคือคำสาปมัมมี่ ใครอ่านต่วยตูนมาเยอะๆ ก็น่าจะเคยได้ยินบ้าง แต่มัมมี่ต้นเรื่องคือใคร? ทำไมเขาถึงว่ามันเฮี้ยนนัก มาค้นหาไปด้วยกันเลยยยย!
มันเป็นหนึ่งในตำนานฮิตเวลามีการพูดถึงว่าทำไมเรือไทนานิคถึงล่มลงได้ และเรื่องพวกนี้อาจมีคนเล่าต่อกันมากกว่าข้อเท็จจริงทางด้านเทคนิคต่างๆ ตั้งแต่ความไม่มาตรฐาน ความไม่เพียงพอของชูชีพ ฯลฯ แต่ไม่มีอะไรสนุกเท่าสิ่งเร้นลับแห่งยุคอย่าง “มัมมี่“
อังกฤษในยุควิคตอเรียน-เอ็ดวาร์เดี้ยนเป็นยุคที่ชนชั้นสูงในสังคมมีความชื่นชอบหลงใหลในความลี้ลับกับงานโบราณคดีอย่างมาก ทำให้เมื่อมีคนนำของเก่ามาจากแหล่งเดิมแล้วพอมีการเจ็บป่วยหรือสูญเสียก็จะทำให้คิดถึงเรื่องคำสาปเป็นอย่างแรกๆ ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะมันคือการไปลักขโมยโดยชอบ(?) จากเจ้าของที่เป็นศพนอนอยู่ดีๆ ในสุสาน การจะมีผีหรือคำสาปมาตามรังควานก็ดูสมเหตุสมผล และนี่คือต้นกำเนิดของมหากาพย์คำสาปมัมมี่เจ้าหญิง
มัมมี่ในภาพสื่อนี้ได้รับการขนานนามว่า “มัมมี่อับโชค” (Unlucky Mummy) ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์อังกฤษอย่างบริติชมิวเซียม ตำนานเริ่มตั้งแต่เมื่อเจ้าของเดิมอย่างนายอาเธอร์ เอฟ วีลเลอร์ (Arthur F. Wheeler) ได้มีการนำฝาครอบมัมมี่อันนี้กลับมาจากอังกฤษ (ใช่…มันไม่เชิงเป็นมัมมี่ แต่ก็ยังเกี่ยวกะมัมมี่อยู่ ก็มันเป็นฝาครอบมัมมี่) ทำให้เกิดเหตุประหลาดมากมาย ทั้งอุบัติเหตุเกี่ยวกับปืน ความตายประหลาดๆ เหมือนกับว่าบ้านนี้มีแต่โชคร้ายรัวๆ ตั้งแต่มีฝาครอบนี้อยู่
ข้อมูลจากคำบอกเล่าระบุว่าฝาครอบมัมมี่นี้ถูกเสนอขายให้นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ 4 คนในอียิปต์ช่วงทศวรรษ 1860s หรือ 1870s ไม่แน่นอนว่าปีไหนแน่ มีคนหนึ่งในทริปที่ซื้อกลับมา และทำให้เกิดอุบัติเหตุเกี่ยวกับปืน 2 คน (คนหนึ่งตาย อีกคนแค่เจ็บ) ส่วนอีก 2 ที่เหลือมีเหตุให้ต้องตายอย่างผิดปกติ สุดท้ายฝาครอบนี้ก็ถูกส่งต่อให้กับน้องสาวของคนเดียวที่รอด ซึ่งเรื่องราวนี้จะสอดคล้องกับกรณีเรื่องของนายวีลเลอร์เกือบจะเป๊ะ และวีลเลอร์ก็เป็นคนเดียวที่รอดจากความโชคร้ายถึงตาย เพราะนายวีลเลอร์แค่เผลอยิงแขนตัวเองในงานปาร์ตี้ บ้างก็บอกเป็นฝีมือลูกจ้างที่เป็นคนยิง

ด้วยความฉิบหายวายป่วงที่เกิดขึ้นทำให้ครอบครัววีลเลอร์ตัดสินใจบริจาคมันให้กับพิพิธภัณฑ์บริติช (The British Museum) โดยมีข้อมูลระบุว่าเป็นฝาครอบด้านหนึ่งที่เป็นของหญิงนักบวชจากเมืองธีบส์ (Thebes) ศึกษาจากรูปแบบศิลปะคาดว่าทำขึ้นช่วงสมัยราชวงศ์ที่ 21-24 บริจาคเข้ามาโดยน้องสาวของอาเธอร์ เอฟ. วีลเลอร์ ตั้งแต่ค.ศ. 1889 ทะเบียนหมายเลข EA22542
ฝาครอบมัมมี่ (Mummy-board) ทำจากไม้ ใช้ในการครอบร่างของมัมมี่ภายในโลงศพไม้อีกชั้นหนึ่ง มักจะวาดลวดลายเดียวกับโลงศพ โดยเป็นภาพเจ้าของมัมมี่ เนื่องจากมักใส่ในโลงที่มีการจารึกชื่อเจ้าของอยู่แล้ว ทำให้ฝาครอบมักจะไม่ค่อยจำเป็นต้องระบุชื่อเจ้าของ เมื่อถึงเวลาที่ถูกปล้นในสมัยหลัง ชื่อของเจ้าของอาจสูญหายได้
ข้อมูลต่างๆ พูดถึงไม่ตรงกันและค่อยๆ มีการปรับเปลี่ยนเรื่องราวกันไปบ้าง ทั้งจากนักบวชเป็นเจ้าหญิง จากฝาครอบเป็นมัมมี่ ทุกอย่างดูสับสนไปหมด โดยเฉพาะยิ่งเมื่อมีสื่อในสมัยนั้นมาเขียนถึง สื่อชนิดแรกๆ ที่มีการเขียนถึงคำสาปมัมมี่นี้คือ The Express ปีค.ศ.1904 ลือกันว่านักเขียนข่าวรายนี้เองก็กลายเป็นเหยื่ออีกคนของคำสาป เนื่องจากว่าเสียชีวิตหลังจากเขียนเรื่องนี้ด้วยโรคไทฟอยด์ราว 3 ปีต่อมา

คนลือก็ลือกันไปสะระตะ คนเขียนข่าวก็ขยันกระพือให้มันใหญ่โตขึ้น แต่โดยรวมพูดตรงกันว่าฝาครอบชิ้นนี้นำพาแต่โชคร้ายมาให้ จนเจ้าของต่างพากันพยายามจะกำจัดโบราณวัตถุชิ้นนี้ออกไปจากครอบครองกันถ้วนหน้า และข่าวเหล่านี้ไม่ได้เล่นกันแค่ในสื่ออังกฤษยุคนั้น แต่ยังพบหลักฐานว่าแม้แต่สื่อในสหรัฐอเมริกาก็ยังเล่นเรื่องคำสาปมัมมี่ด้วย
อย่างกรณีหนังสือพิมพ์สหรัฐอเมริกาอย่างเดอะ วอชิงตัน โพสต์ (The Washington Post) ช่วงปีค.ศ. 1904-1910 มีพาดหัวข่าวเกี่ยวกับคำสาปมัมมี่ ตามหัวข้อด้านล่างนี้
- “Face on Mummy Cace [sic] Comes To Life Again,” June 19, 1904.
- “Strange Mystery of a Mummy: Is This Priestess Still Alive At the Age of 3500 Years and Capable of Exercising Her Weird Powers?” April 26, 1908.
- “Coffin Carries Curse: Mummy Case of Priestess Has Sinister Record,” Sep. 17, 1910
เหยื่อคำสาปที่โด่งดังที่สุดคือเรื่องของวิลเลี่ยม ที สเตท (William T. Stead) นักเขียนผู้มีความเชื่อว่าตัวเองคือผู้เชี่ยวชาญศาสตร์ลึกลับในอังกฤษเสนอแนวคิดว่าหายนะต่างๆ นานาที่เกิดขึ้นในลอนดอนช่วงนั้นมีเหตุมาจากคำสาปพันปีของมัมมี่ที่มีนักโบราณคดียุคอาณานิคมขนกันเข้ามามากมาย เขาไม่ได้อ้างแค่คำสาปอียิปต์ แต่ยังมีการพูดถึงคำสาปของชนพื้นเมืองอเมริกันอีกด้วย
เรื่องของสเตทไม่ได้ถูกบอกเล่าผ่านงานเขียนของเขา แต่ถูกถ่ายทอดจากปากคำของผู้ที่มีโอกาสร่วมทริปเดินทางจากอังกฤษเพื่อไปยังสหรัฐอเมริกา แน่นอนว่านี่คือการเดินทางผ่านเรือโดยสารนามว่า “ไททานิค” (Titanic)
เฟรดเดอริก เค. ซีวาร์ด (Frederick K. Seward) ได้เขียนเล่าประสบการณ์ที่ได้พูดคุยล้อมวงกับวิลเลี่ยม ที นสเตทบนเรือลำนี้ และฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับคำสาปมัมมี่ในลอนดอน มีการกล่าวถึงห้องจัดแสดงศิลปวัตถุจากอียิปต์ในบริติชมิวเซียม ยังมีการอ้างถึงว่าสเตทเชื่อว่าเขากำลังจะโดนคำสาปของมัมมี่ร่างนี้ด้วยเพราะเป็นหนึ่งในผู้ที่เปิดโปงถึงเรื่องคำสาปนี้ผ่านการเขียนหนังสือถึง แต่ไม่ทันที่สเตทจะได้ช่วยชี้แจงว่าคำสาปนี้หมายรวมถึง “การพูด” นอกเหนือไปจาก “การเขียน” ด้วยหรือไม่ ตัวเขาก็กลายเป็นศพในสุสานลึกใต้ทะเลแล้ว
ค่ำวันที่ 14 เมษายน ค.ศ.1912 (พ.ศ.2455) เรือเดินสมุทรไททานิกได้ชนเข้ากับภูเขาน้ำแข็งและอัปปางลงในมหาสมุทรแอตแลนติก คร่าชีวิตคนทั้งสิ้น 1,517 คนจากจำนวนผู้โดยสารทั้งแขกและทีมงาน 2,223 คน เรื่องของคำสาปมัมมี่บนเรือไททานิกถูกหยิบมาเขียนถึงในหนังสือพิมพ์เดอะ วอชิงตัน โพสต์ ราว 1 เดือนหลังจากเหตุสลด ผ่านใต้พาดหัวยั่วใจให้ต้องหยิบอ่านอย่าง
“ผีแห่งไททานิค : ความคลั่งแค้นของฮูดูมัมมี่ที่ติดตามผู้เขียนประวัติของมัน” (Ghost of the Titanic: Vengeance of Hoodoo Mummy Followed Man Who Wrote Its History)
The Washington Post on May 12, 1912
แต่ก็มีบางคนที่แย้งว่าเรื่องคำสาปมัมมี่จมเรือไททานิคอาจเกิดมาจากการหลอมรวมข่าวลือเข้ากับโบราณวัตถุจริงๆ ที่มีรายการว่าขนส่งไปกับเรือลำนี้ อย่างสัมภาระของมาร์กาเร็ต บราวน์ (Margaret Brown) ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์และได้รับการเชิดชูจากเหตุที่เธอขอให้เรือชูชีพหมายเลข 6 ยอมกลับไปมองหาผู้รอดชีวิตตรงจุดเรือล่มอีกครั้ง
ในการโดยสารครั้งนี้มาร์กาเร็ต บราวน์ได้มีการขนส่งศิลปวัตถุอียิปต์จากอังกฤษ เพื่อที่จะนำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ในเมืองเดนเวอร์ (Denver) นี่คือจุดที่คนเชื่อกันว่ามีมัมมี่ต้องคำสาปอยู่บนเรือด้วย และเป็นมัมมี่จากบริติชมิวเซียมที่ตั้งใจขายให้เศรษฐีเพื่อให้เจ้ามัมมี่อับโชคไปให้พ้นๆ

Sam YehAFP/Getty Images
แต่ข้อเท็จจริงคือฝาครอบมัมมี่หมายเลข EA22542 หรือจะเรียกว่า Unlucky mummy ไม่เคยถูกนำออกจากคลังบริติชมิวเซียมเลยตั้งแต่ได้รับมาในปีค.ศ. 1889 ก่อนจะนำมาจัดแสดงถาวรในปีค.ศ. 1990 ส่วนในด้านของไททานิคเอง ปกติการขนส่งสินค้าต่างๆ ต้องมีการทำรายการร่วมด้วยเพื่อแจงรายละเอียดของข้าวของที่ขนส่ง บันทึกรายการสินค้าของเรือไททานิคถูกเปิดเผยผ่านสมาคมประวัติศาสตร์ไททานิกโดยประธานสมาคม นายชาร์ล ฮาส (Charles Haas) ตั้งแต่ปีค.ศ. 1985 ว่าในบรรดาข้าวของตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงขนาดใหญ่ ไม่มีรายการใดระบุถึง “มัมมี่อียิปต์” แม้แต่ชิ้นเดียว

References :
- Aitchison,K.(May 29, 2012).The Mummy’s Curse: The Truth Behind an Edwardian Rumour.University College London.Retrieved 15 October 2022, from https://blogs.ucl.ac.uk/events/2012/05/29/the-mummys-curse-the-truth-behind-an-edwardian-rumour/
- Dessem, M.(October 14, 2018).One Month After the Titanic Sank, the Washington Post Suggested a Mummy’s Curse Was to Blame.Slate.Retrieved 15 October 2022, from https://slate.com/culture/2018/10/mummy-curse-titanic-sinking-washington-post-article.html
- Little,B.(Febuary 25, 2019).The Craziest Titanic Conspiracy Theories, Explained.History Channel.Retrieved 15 October 2022, from https://www.history.com/news/titanic-sinking-conspiracy-myths-jp-morgan-olympic
- Mikkelson, B.(October 10, 1999).Did a Cursed Mummy Sink with the Titanic?.Snopes.Retrieved 15 October 2022, from https://www.snopes.com/fact-check/mummy-titantic/
- Wooden mummy-board : EA22542.British Museum.Retrieved 15 October 2022, from https://www.britishmuseum.org/collection/object/Y_EA22542