โยไคตัวแรกที่จะมาเล่าสู่กันฟัง เป็นเจ้าตัวขี้แกล้งเพราะชอบเส้นผมของมนุษย์ “คามิคิริ” ปรากฏการณ์ประหลาดที่คุกคามวิถีชีวิตคนเมืองยามค่ำคืน

© The Trustees of the British Museum
“คามิคิริ” [髪切り] คือปรากฏการณ์ประหลาดบนท้องถนนยามค่ำคืนที่มนุษย์ผู้สัญจรไปมาถูกตัดผมอย่างไม่ทราบสาเหตุ แต่เดิมเป็นเรื่องเล่าตำนานเมือง (Urban Legend) ของเมืองมัตซึซากะ [松阪市] ในพื้นที่จังหวัดมิเอะ [三重県] ก่อนจะพบแพร่หลายทั่วประเทศญี่ปุ่น ชื่อของคามิคิริก็แปลตรงตัวได้ว่าเป็น “ตัวตัดผม” หรือ “ตัวกินผม” นั่นเอง เพราะอาหารหลักของคามิคิริก็คือเส้นผมของมนุษย์
เรื่องเล่าเกี่ยวกับคามิคิริจะคล้ายคลึงกันในทุกท้องที่ว่าในระหว่างการเดินทางตอนกลางคืน จะมีสิ่งประหลาดมาตัดผมของผู้คนตั้งแต่ช่วงที่เกล้ามวยขึ้นไป เหยื่อของคามิคิริบางคนแทบไม่รู้ตัวว่าผมถูกตัดออกไปจนกระทั่งกลับมาถึงที่พักจึงพบว่าผมของตนถูกตัดหายไปแล้ว
ว่ากันว่าคามิคิริจะคุกคามมนุษย์ตามย่านชุมชน บ้านเรือน โรงอาบน้ำหรือกระทั่งห้องน้ำในบ้าน มักซ่อนตัวอยู่ตรงชายคบกระเบื้องหลังคาดักรอตัดผมคนจากมุมมืด คามิคิริไม่ค่อยเลือกเหยื่อนัก จะทำร้ายทั้งกลุ่มชาวบ้านตั้งแต่ยากดีมีจนไปถึงคหบดี อาจกล่าวได้ว่าใครก็ตามที่มีเส้นผมยาวๆ และเดินมาถึงจุดที่คามิคิริซ่อนตัวอยู่ก็ตกเป็นเหยื่อได้ทั้งนั้น
แต่เดิมรูปร่างของคามิคิริไม่มีแบบแผนชัดเจน บ้างก็ว่าเป็นเพียงเงามืดที่โผล่มาคุกคามผู้คน หน้าตาของคามิคิริเริ่มมีรูปร่างชัดเจนจากงานศิลปะ งานม้วนภาพขบวนร้อยอสูรอย่างเฮี๊ยกไก ซูกังของจิตรกรนามว่าซาวากิ ซูชิ ก็มีการแสดงภาพของคามิคิริที่ดูคล้ายกับแมลงโดยวาดเป็นสัตว์ประหลาดลำตัวเป็นข้อปล้องคล้ายตัวแมลง มีจงอยปากเป็นกรรไกร มีแขนเหมือนใบมีดคมๆ ตัวเล็กและสามารถย่องเข้ามาในห้องที่พักอาศัยได้อย่างเงียบเชียบ ด้วยกายภาพเช่นนี้อาจทำให้เรารู้สึกถึงความคล้ายคลึงกับโยไคอีกชนิดที่ชื่อว่า “คาไมทาจิ” ที่มีนิสัยชอบตัดแบบเดียวกัน ส่วนจิตรกรอีกคนที่มีผลงานวาดภาพโยไคอันโด่งดังอย่างโทริยามะ เซเค็น กลับไม่ได้วาดภาพเจ้าคามิคิริรวมในภาพชุดของเขา แต่ปรากฏภาพโยไคที่มีลักษณะคล้ายกันอีกชนิด มีหน้าตาคล้ายแมงป่องและบรรยายไว้ว่าเป็น “อามิคิริ” หรือแปลว่าตัวตัดมุ้ง
เหตุที่ว่าทำไมจิตรกรถึงเชื่อว่าคามิคิริมีลักษณะเหมือนแมลง คงเพราะคำว่าคามิคิริออกเสียงคล้าย “คามาคิริ” ภาษาญี่ปุ่นที่แปลว่าตั๊กแตนตำข้าวที่จะโจมตีเหยื่อด้วยขาหน้าที่มีลักษณะเหมือนเคียว
เรื่องของคามิคิริถูกพูดถึงในเอกสารจำนวนมาก เช่นมีการบันทึกถึงในวรรณกรรมสมัยเอโดะอย่างหนังสือ “โชโคคุ ริจินดัน” [諸國里人談] ปีค.ศ.1743 คิคุโอกะ เซ็นเรียว (c.1680-1747) ผู้เขียนโชโคคุ ริจินดัน ได้กล่าวถึงเหตุประหลาดที่เกิดขึ้นช่วงยุคเก็นโรคุ (c. 1688–1704) เกี่ยวกับเรื่องที่มีบางสิ่งเข้ามาก่อกวนผู้คนยามค่ำคืน นอกจากโชโคคุ ริจินดันแล้ว ปรากฏการณ์ดังกล่าวยังถูกบันทึกในเอกสารอีกฉบับคือหนังสือ “มิมิ-บุคุโระ”[1] [耳袋] ค.ศ. 1814 ซึ่งเป็นบันทึกเรื่องราวจากคำบอกเล่าในลักษณะมุขปาถะ อันมีซามูไรนามว่าเนกิชิ ยาสึโมริ [根岸鎮衛] รวบรวมเอาไว้ หนังสือเล่าว่ามีหญิง 3 นางถูกบางสิ่งตัดเอาผมหายไปในระหว่างการสัญจรตามปกติในเมืองช่วงพลบค่ำ หลังจากนั้นไม่นานมีการพบจิ้งจอกตัวหนึ่งซึ่งเมื่อผ่าท้องออกมาก็พบเส้นผมมนุษย์อยู่ในนั้น
แม้แต่ในหนังสือพิมพ์โบราณยังเคยมีการพูดถึงคามิกิริ[2] ลงวันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ.1874 ช่วงเวลาประมาณ 3 ทุ่ม ณ ย่านชุมชนของเมืองโตเกียว สาวรับใช้ที่ชื่อว่ากิน เดินออกมาจากเรือนใหญ่ของบ้านที่ทำงานเพื่อไปยังเรือนเล็ก เธอรู้สึกคล้ายเกิดอาการผีอำไม่รู้ตัวชั่วขณะ ก่อนที่ผมของเธอถูกอะไรบางอย่างตัดและปอยผมจึงร่นลงมาสัมผัสแก้ม กินตกใจจนรีบเข้าไปยังบ้านของเพื่อนบ้านที่ใกล้ที่สุดและหมดสติที่ตรงนั้นเอง ต่อมาเพื่อนบ้านจึงได้มาช่วยตรวจสอบที่เกิดเหตุอันเป็นเรือนเล็กตรงนั้น พบเพียงปอยผมของกินที่ถูกทั้งเอาไว้ หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวกินได้ล้มป่วยลงและกลับไปพำนักกับครอบครัวที่บ้านเกิด และเรือนเล็กดังกล่าวก็ไม่มีใครกล้าเข้าไปใช้งานอีกเลย
มิยาตะ โนโบรุ [宮田登] นักคติชนวิทยาชาวญี่ปุ่นได้กล่าวถึงคามิคิริในลักษณะของอาชญากรรมต่อเนื่อง (Serial Crime) ที่เกิดขึ้นหลายครั้งในยุคเอโดะ ระบุถึงรายละเอียดว่าเหยื่อของคามิคิริมักจะเป็นหญิงสาวเยาว์วัย ระยะเวลาที่เกิดเหตุคือช่วงเวลาผีตากผ้าอ้อมหรือพลบค่ำ ช่วงเวลาที่ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าถูกครอบงำด้วยอำนาจด้านลบของลมจากต่างแดน และเพื่อปัดเป่าความชั่วร้ายดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยมนต์คาถาเรียกลมจากเทพเจ้าแห่งอิเสะเข้ามาปกป้อง ทำให้เพื่อคุ้มครองตนเองจากสิ่งเลวร้าย คาถาดังกล่าวอาจถูกเขียนบนกระดาษชิ้นเล็กๆ ที่เสียบเข้าไปต่างปิ่นปักผม
ทำไมการถูกตัดเส้นผมถึงกลายเป็นเรื่องจริงจังสำหรับคนญี่ปุ่นโบราณ คงเป็นเพราะค่านิยมเดิมของพวกเขาที่มองว่าทรงผมเองก็เป็นตัวบ่งชี้สถานะทางสังคมของพวกเขา วัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับเส้นผมมีมาตั้งแต่สมัยเฮอันที่ทั้งชายและหญิงชนชั้นสูงจะไว้ผมยาวเพื่อความสวยงามและแสดงถึงสถานะทางสังคม นอกจากนี้แล้วพิธีกรรมเกี่ยวกับผมทั้งในการตัดหรือเกล้าก็เป็นจารีตอีกแบบเพื่อแสดงถึงการเข้าสู่สถานะใหม่ของเจ้าของศีรษะ เช่นพิธีเก็มปุคุ [元服] พิธีเกล้าผมอันเป็นสัญลักษณ์ของการบรรลุนิติภาวะของเด็กชายที่ทำกันมาตั้งแต่สมัยนาระ ผมมวยสูงของชายในสังคมเอโดะซึ่งไว้เป็นทรงที่เรียกว่า “ชนมาเกะ” [丁髷] ทรงที่เราอาจคุ้นตาจากภาพของซามูไร ชนมาเกะนี้เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงสถานะและอำนาจ คือการดำรงไว้ซึ่งเกียรติของชายฉกรรจ์ การถูกตัดมวยผมคือการเหยียดหยามอย่างรุนแรง นั่นคือเหตุผลที่ประชาชนคนญี่ปุ่นในอดีตต้องรักษาเส้นผมในฐานะของสูง
นอกจากเก็มปุคุแล้ว วลี “ตัดผม” ในสังคมญี่ปุ่นอาจมีนัยยะส่งถึงการเดินทางเข้าสู่เส้นทางพุทธศาสนา เพราะทั้งสงฆ์และชีของญี่ปุ่นก็มีการตัดผมโกนหัวเพื่อแสดงถึงการละซึ่งทางโลกเช่นเดียวกับศาสนาพุทธในพื้นที่อื่นๆ
อีกตำนานหนึ่งซึ่งดูพ้องกับเรื่องในมิมิ-บุคุโระคือการที่บางคนเชื่อว่าการถูกตัดผมออกไปโดยไม่รู้ตัวนี้ เป็นลางบอกเหตุว่าเจ้าตัวทื่ถูกตัดผมอาจจะเผลอแต่งงานกับคิทสึเนะหรือปีศาจจิ้งจอกเก้าหาง ไม่ก็อาจเป็นโยไคประเภทอื่นที่แปลงกายมาแอบแฝงในร่างมนุษย์ ชาวญี่ปุ่นมองว่าการแต่งงานเช่นนี้ถือเป็นเหตุไม่มงคล การรีบรู้ตนก่อนจะถูกล่อลวงจนถึงความตายย่อมดีกว่าปล่อยให้ชีวิตแต่งงานพามาถึงจุดจบ การคอยสังเกตเส้นผมอันเป็นของสูงจึงเป็นเรื่องพึงตระหนักและให้ความสนใจอยู่เสมอนั่นเอง
[1]耳袋 แปลตรงตัวได้ว่า “ถุงคลุมใบหู” เป็นหนังสือชุด 10 เล่มซึ่งรวบรวมขึ้นจากตำนานที่เล่าขานกันช่วงสมัยเอโดะ เหตุที่เรียกหนังสือชุดนี้ด้วยคำดังกล่าวเป็นเพราะนิสัยของเนกิชิ ยาสึโมริซึ่งเป็นคนรวบรวมบันทึกชอบเก็บสมุดบันทึกเอาไว้ในถุงติดตัวเสมอ หนังสือมิมิ-บุคุโระไม่ได้เฉพาะเจาะจงบันทึกแค่เรื่องผี แต่ยังบันทึกเรื่องราววิถีชีวิตอื่นๆ ของผู้คนในสมัยเอโดะด้วย
[2] อ้างถึงในหนังสือ The night parade of one hundred demons ไม่ปรากฏชื่อสำนักพิมพ์และผู้เขียน

อ่านเรื่องราวของ “โยไค” อื่นๆ เพิ่มเติม

References :
- Foster, Michael Dylan.(2015). The Book of Yōkai: Mysterious Creatures of Japanese Folklore. Oakland: University of California Press.
- Meyer, M. (2015). The night parade of one hundred demons (2nd ed.)
Featured Image : Kamikiri (かみきり, the hair-cutting spirit) from the Hyakkai Zukan (百怪図巻) c.17
